วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/7 (2)


พระอาจารย์
14/7 (570407G)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 เมษายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 14/7 ช่วง 1


พระอาจารย์ –  ทีนี้มันก็จะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตา เพราะเราเก็บมาหลายหน้าตานะ หลายลักษณะอารมณ์ ที่คาด ที่หมาย ที่หวัง คือภพๆๆ ภพน้อยภพใหญ่ มันเก็บจนงงน่ะ มันเก็บจนลืมไปแล้ว ...ภพในจิตน่ะ

มันก็หมักหมมเป็นธรรมารมณ์ ประหลาดมหัศจรรย์ต่างๆ ขึ้นมา นั่นน่ะธรรมารมณ์ทั้งนั้นน่ะ อยากได้อะไร อยากเป็นอะไร อยากมีสภาวะอะไร หรือไปทำให้เกิดสภาวะอะไรขึ้นมาในอดีต ก็เก็บไว้หมดเป็นสัญญา

มันก็จะจำลองอารมณ์นั้นขึ้นมา ...มาทำไม  มาล่อให้หลงต่อ...สำหรับผู้ไม่มีปัญญา แล้วก็ไปทำความต่อเนื่องกับมัน เพื่อให้ได้มากขึ้นเจริญขึ้นในกิเลสอารมณ์นั้น ให้เที่ยงขึ้นในภพที่มันหลอกล่อเป็นอารมณ์ขึ้นมา

นี่เป็นตัวล่อ สภาวธรรม สภาวะอารมณ์ สภาวะจิตเป็นตัวล่อ เป็นสภาวะที่แปลกๆ ใหม่ๆ หรือไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ...แต่ดูเหมือนดี ดูเหมือนใช่ ดูเหมือนคนอื่นเขาพูดว่าดีว่าใช่ ดูเหมือนมีอยู่ในตำราด้วย 

นี่ ไปใหญ่แล้วนะๆ ...ทีนี้พอไปอย่างนั้น มันจริงจังมั่นหมาย ปุ๊บ มันไม่กล้าละ กลัว...กลัวความรู้เห็นในธรรมจะไม่บังเกิด ... เห็นมั้ย ภยาคติเกิดแล้ว โมหะคติเกิดแล้ว ภยาคติเกิด ฉันทาคติเกิด

มันมีคติขึ้นมาเลย เป็นทิฏฐิขึ้นมาเลย เป็นทิฏฐิสวะขึ้นมา...ผูกมั่นหมายกับความคิดความเห็นนั้นเลย อาการนั้นเลย จริงจังมั่นหมายเลย ภพนั้นเที่ยงเลย ชาตินั้นจะต้องเกิดให้ได้เลย 

ทีนี้การเกิดการตายก็เลย...ต้องได้แน่ ...นี่ เราถึงบอกว่าไปใหญ่แล้วนะๆ  เกินกายเกินศีลเมื่อไหร่ ไปใหญ่แล้วนะนั่นน่ะ มันหลอกล่อ มันแนบเนียน มันใส่หน้ากากมาให้เห็นแบบตายใจเลยแหละกิเลสน่ะ

เนื้อแท้ธรรมแท้มันคือขยะเกิดดับ ไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน จริงๆ นะนั่นน่ะ  ความคิดน่ะดูดิ เวลามันดับไป มันอยู่ไหนล่ะ หือ เวลามันขึ้นมามันมาจากไหนล่ะ ไม่มีอะไรนั่นน่ะ อารมณ์ก็เหมือนกัน

แต่มันไม่สามารถดูจนเห็นความดับไปได้ของมันน่ะ เพราะฐานของสมาธิมันไม่ถึง สมาธิมันเลยไปตายระหว่างทาง เข้าใจมั้ย ตายระหว่างทางขณะที่อารมณ์มันยังไม่ตายน่ะ

แล้วมันก็ไปเกิดอารมณ์ใหม่ขึ้นจากจิต มันก็ไปสร้างตัวเราเป็นอารมณ์ใหม่ ...อารมณ์ไหน อารมณ์ที่เกิดจากการผลักดัน อารมณ์ที่ได้มาจากการขวนขวายขึ้นมาใหม่...มาแก้ไข เนี่ย มันก็จะเกิดอารมณ์ตัวนี้ขึ้นมาทดแทน

วุ่นวี่วุ่นวายไปใหญ่ หลายเรื่องเลย คราวนี้หลายเรื่องเลย หลายสภาวะ สับสนแล้ว ...เมื่อมันสับสนยังไม่พออีกนะ ยังไม่พอ ยังมีการเปรียบเปรยกันเองในสภาวะ อันไหนใช่กว่ากัน อันไหนถูกกว่ากัน

แล้วก็หยิบยกสภาวะนั้นมาถามคนอื่น อาศัยความเห็นคนอื่น หรือไปพลิกตำรามาเทียบมาเคียง ... นี่ ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีจากมันไม่พ้นเลยแหละ

เพราะนั้น ถ้าเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด...วางซะทิ้งซะ ตั้งแต่แรก ...ไม่เอาธุระอะไรกับมัน แล้วไม่ให้มันมาเป็นธุระของเรา...ชั่งหัวมัน 

อย่าว่าแต่หาเหตุหาผลกับมันเลย ...มีแต่ "มึงจะไม่ดับก็ชั่งหัวมึง มึงจะอยู่จนกูตายไปพร้อมกับมึงก็ชั่งหัวมัน" อย่างเงี้ย เนี่ย จะเห็นว่า อายุมันจะเริ่มขาดแล้ว 

ถ้าดูเส้นลายมือก็เรียกว่าไอ้นี่เส้นลายมือขาดแล้ว เดี๋ยวมันจะแสดงความตายดับให้เห็น ด้วยตัวของมันเอง โดยที่ไม่มีเราเข้าไปยุ่งกับมันสักแอะนึง


โยม –  บางครั้งเวลาเราทำความเพียรไป มันจะเกิดภาวะ  แต่ก็ตอนหลังนี่จะรู้สติบ่อย แล้วมันมีความรู้สึกนึงเหมือนกับว่า...เอ๊ะ มันไม่พัฒนา มันก็ย่ำอยู่กับที่ เป็นเดือนๆ สองเดือนนี่น่ะครับ

พระอาจารย์ –  เออ อย่าไปไหนแล้วกัน ย่ำให้แน่นอยู่กับที่น่ะ...ที่นี้ ที่กายกับที่ปัจจุบัน ย่ำไปเถอะ ... จิตน่ะมันหลอกว่าจะต้องไป ...ไปไหน ไปตายที่ไหน  หือ จะไปเกิดไปตายที่ไหน

ไม่ไปไหนนะ ...อย่าไปเชื่อว่าไปข้างหน้าแล้วจะดีขึ้นนะ เห็นมั้ย มันมีความเชื่อว่าอย่างนี้ใช่มั้ย 

เนี่ย ทิฏฐิ นี่คือทิฏฐิสวะ ที่มันเก็บไว้ว่า...การภาวนาจะต้องก้าวหน้า  แล้วมันจับ ทุกคนก็จับเลยว่า มันจะต้องได้อะไรมากกว่านี้

ภวาสวะ รู้จักภวามั้ย  อยู่ในชั้นอาสวะ ทิฏฐิสวะ การตั้งความรู้ความเห็นอย่างนี้ นี่อยู่ชั้นอาสวะเลย มันเป็นความที่ลึกซึ้งอยู่ในดวงจิตของเราเลย ว่าการภาวนานี่มันมีแพ็กเกจเลยว่า...จะต้องได้

ถ้าไม่ได้ไม่มีอย่างนี้ มันจะเกิดความเศร้าหมองเลย มันสร้างอารมณ์เศร้าหมองให้เลย  ถ้ายังไม่ถึงจุดที่มันหมายไว้ด้วยทิฏฐิสวะและการพากเพียรขวนขวายไปให้ถึงทิฏฐิ หรือที่มันหมายไว้ในธรรม

นี่ ท่านเรียกว่าทำไปด้วยภวาสวะ ทะยานอยาก ...พอไม่ได้ ไม่ถึงปุ๊บ เกิดเป็นธรรมารมณ์ เกิดเป็นจิตเศร้าหมองเลย  คือ...เสริฟเอง...ชงเอง...ตบเอง (เสียงตบมือ) ...ตบมือให้ตัวเองอีก  

พร้อมเลย จิต...เล่นตัวเดียวหมดเลย ...เนี่ย กว่าที่เราจะเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมันนี่ ปางตายน่ะ ทุกข์กับมันปางตายเลย กว่าจะไม่ถูกมันปั่นหัวได้น่ะ


โยม (อีกคน)   พระอาจารย์คะ แล้วที่ช่วงต้นพระอาจารย์บอกว่า มันมีอุปกิเลสเรื่องไหนๆ ที่มันซ่อนอยู่ในแต่ละคน  แล้วถ้าภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วเราไม่ออกไปด้วยความอยาก เดี๋ยวปัญญามันจะวิจยะ...

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องกลัว มันมีแรงดึงดูดในตัวของมันเองน่ะ ...อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปหาเรื่องหรอก เดี๋ยวมีเรื่องมาหาเอง

เพื่ออะไร ...เพื่อมากะเทาะ เพื่อมาเร้า ... นี่ มันดึงกันอยู่  ตัวนี้มันเป็นตัวศูนย์กลาง แล้วมันจะเป็นตัวดึง ดึงให้เกิดเหตุ ดึงให้เหตุมาหา


โยม –  เป็นเรื่องเดิมๆ ที่เราสะสม

พระอาจารย์ –  เหตุภายนอกน่ะ ...ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องออกไปเดินแล้วก็หาเรื่องไปด่าคนเพื่อจะให้เห็นว่ากูโกรธรึเปล่าหรอก


โยม –  แต่รู้ไปเปล่าๆ เดี๋ยวปัญญาข้างในมันจะวิจยะเห็นต้นตอของมันเองหรือคะ

พระอาจารย์ –  เออ ขอให้รู้เปล่าๆ จริงๆ เหอะ รู้โดยปราศจากคิดและจำ ไม่ต้องกลัวหรอกว่ามันจะไม่เกิดธัมมวิจยะภายใน

อย่าเอาความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมาสอดแทรก...ความเห็นของกิเลสน่ะ  ไม่งั้นมันจะเกิดความสงสัยขึ้นทันที แล้วมันจะเกิดความท้อแท้ลังเลทันที 

ทิ้งเลย วิจิกิจฉานี่...ทิ้งเลย สงสัยในธรรม สงสัยในการปฏิบัติ ...ทิ้งเลย อย่าเสียดายความสงสัย


โยม –  ถึงเวลามันเห็นรอบมันก็จะตัดทิ้ง

พระอาจารย์ –  อือ ไปตามธรรม


โยม (อีกคน)  แต่ของโยมชอบหา

พระอาจารย์ –  ให้ทัน...ให้รู้ทันการหา


โยม –  อาจารย์คะ แล้วจิตที่มันลอยๆ อยู่ พอมันลอย เดี๋ยวมันก็ไป มันไม่กลับ

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่าต้องหาฐานให้มันอยู่ ...ฐานกาย  ต้องมีที่ให้มันอยู่นะ ถ้าไม่มีที่ จับไม่อยู่หรอก จะจับใจไม่อยู่


โยม –  พอเพียรมากปุ๊บมันก็เครียด

พระอาจารย์ –  เครียดก็เครียด อดทนเอา


โยม –  เวลาหย่อนหน่อยมันก็เหมือนกับจะหย่อนไปเลยค่ะอาจารย์ มันหาความพอดีน่ะ

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ เครียดเข้าไว้ เอาให้มาก ดีกว่าน้อย เข้าใจมั้ย  ...การปฏิบัติเบื้องต้นนี่  ไม่ต้องกลัวติด ไม่ต้องกลัวเพ่ง ไม่ต้องกลัวเครียด 

ต้องการให้มากกว่าน้อย ... ถ้าน้อยเมื่อไหร่ เละ...เละลูกเดียว ...ไอ้มาก...มากนี่ยังเอาออกได้นะ แต่ถ้าน้อยนี่มันไม่ค่อยเติมใหม่น่ะ บอกให้เลย 

แต่ถ้ามากแล้วไม่ต้องกลัว มันปรับได้ ...ทำให้มากไว้ก่อน เพียรให้มากไว้ก่อน  จะเพ่งมั่ง จะตึงมั่ง จะแน่นบ้าง จะเครียดบ้าง เอาเหอะ อย่าน้อยเกิน จะขาด ...ถ้าน้อยเมื่อไหร่ ขาดหมด

(บอกกับโยมอีกคน)

ฟังธรรม รู้ธรรมเห็นธรรม เก็บไว้ เอาไว้ใช้กับตัวเองให้มากๆ ไม่ต้องไปเผื่อคนอื่นมาก จนลืมเผื่อตัวเอง ไม่ต้องไปเมตตามาก เมตตาตัวเองให้มาก เอาธรรมที่รู้ที่เห็นที่ได้ที่เข้าใจนี่ เมตตาปฏิบัติกับตัวเองก่อน


โยม –  แต่โยมยังสงสัยนะคะว่าอานิสงส์ที่โยมช่วยคนอื่นรึเปล่าเลยทำให้โยมมาทางนี้

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปสงสัยน่ะ ทุกอย่างมันจะมาเกื้อกันเอง ปฏิบัติลงที่ตัวเอง ทุกอย่างมันเอื้อหมด ธรรมทั้งหลายทั้งปวงจะมาเอื้อ บารมีทั้งหลายทั้งปวงจะมาเอื้อหมด


โยม –  จริงๆ โยมช่วยคนอื่น โยมก็รู้สึกว่ามันก็อยู่ที่ตัวเขาเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวโยม แต่ว่าก็สงสาร

พระอาจารย์ –  ก็บอกไว้ แค่นั้น เพื่ออะไร ...เดี๋ยวต่อไปจะรู้เองว่า มันจะเริ่มไม่ค่อยอยากจะช่วยใครแล้ว


โยม –  จริงๆ ก็อยากช่วยน้อยลงมาแล้วค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ แล้วมันก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมามุ่งเพ่งอยู่ที่ภายในของตัวเองเป็นหลักอย่างยิ่ง


โยม –  เหมือนพอมันจะคิด กว่าจะช่วยคนอื่นมันต้องคิดน่ะ แล้วบางทีมันก็คิดไม่ออก

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ จิตมันจะส่งออกน้อยลง จะไม่เปิดช่องให้จิตมันส่งออกได้เลย เมื่อเข้มข้นในองค์มรรคมากขึ้น


โยม –  รู้สึกว่ามันต้องเค้นออกมาบางครั้ง แต่บางครั้งก็ flow นะคะ

พระอาจารย์ –  อย่าพยายามไปปั้นขึ้นมา พยายามปั้นมันขึ้นมา ...อย่าไปปั้น อย่าไปปรุงแต่งความคิดขึ้นมา 

ความช่วยเหลืออะไร ทุกอย่างมันเกิดจากความปรุงปั้นขึ้นมา ...อย่าไปปั้น ถ้ามันไม่มีอะไรก็อยู่ตรงนั้น รักษาไว้ ทรงไว้ สภาพนั้น สภาพรู้เงียบๆ ไม่รู้อะไร นั่นน่ะ


โยม (อีกคน)   พระอาจารย์ครับ มีคนที่เขาเดิน...อย่างเช่นเขาบอกว่าเราต้องดูกายเพื่อให้เห็นจิตผู้รู้เกิด แต่เขาเข้าฌาน เข้าฌานเสร็จแล้วก็ ดวงจิตผู้รู้จะตั้ง แล้วเขาบอกว่าอย่างนี้ก็ไปได้

พระอาจารย์ –  ไปไม่ได้ อะไรที่มันตั้งอยู่นอกฐานกายนี่...ไปไม่ได้ ... เพราะว่ากายนี่ ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีขันธ์ ใช่มั้ย ขันธ์ห้านี่มันจะมีได้เพราะอยู่ในกาย 

ถ้าไม่มีกายเมื่อไหร่หมายความว่าออกนอกขันธ์ทันที ออกนอกขันธ์ห้าทันที เพราะว่ากายนี่เป็นศูนย์รวมของขันธ์ห้า ...เพราะนั้นเมื่อใดที่มีกาย ขันธ์ห้ามี อยู่ในนั้นทั้งหมดเลย


โยม –  ถ้านั้น ดวงจิตตั้งมั่นแบบทำสมาธิให้ได้ฌานแล้วเอามาดูชีวิตประจำวันอย่างนี้ได้ไหม

พระอาจารย์ –  ได้ อะไรก็ได้ที่มีอยู่ในขันธ์นี่ ในกายนี่ ...แต่ถ้าไปตั้งอยู่ลอยๆ น่ะ นั่นแหละสมถะหรือฌาน


โยม –  คือเขาบอกว่า อยู่กับรู้...รู้อยู่กับรู้

พระอาจารย์ –  นั่นแหละคือฌาน


โยม –  กลายเป็นฌานไปเลย

พระอาจารย์ –  นั่นแหละเขาเรียกว่าเพ่งใน เพ่งรู้ ... จริงๆ มันจะต้องเป็นธรรมคู่...ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้กับรู้ แล้วสิ่งที่ถูกรู้จะต้องเป็นกาย...เป็นฐาน เพราะมันเป็นที่รวมของขันธ์ เข้าใจมั้ย 

กายเป็นที่รวมของขันธ์ห้า เพราะนั้นจะไปดูส่วนใดส่วนหนึ่งในขันธ์ห้า ที่นอกเหนือจากกายนี่ แปลว่ามันจะออกนอกจากขันธ์ห้าทันทีเลย

ตอนนี้เรายังไม่เข้าใจหรอก ยังงง แต่ต่อไปจะเข้าใจเองว่า...กายนี่ รู้ลงที่กายปุ๊บ ขันธ์ห้าอยู่ตรงนี้เลย ...แล้วเมื่ออยู่กับกายไปเรื่อยๆ นี่อาการทั้งหมดในขันธ์ห้านี่จะปรากฏอยู่ในกายนี้แหละ


……………………….



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น