วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/5


พระอาจารย์
14/5 (570407E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –  มากันกี่คน

โยม –  สามครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  นี่ไม่ได้มานานแล้ว เป็นไงมั่ง ยังอยู่ในองค์ภาวนาอยู่รึเปล่าล่ะ สุรุ่ยสุร่าย ขาดตกบกพร่องมั้ย

โยม –  สุรุ่ยสุร่ายเยอะเลยค่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน ขาดร่องแร่งรุ่งริ่ง ...ก็ต้องคอยปะ คอยชุน ให้มันเป็นเนื้อผ้าเดียวกัน อย่าให้หนังมันขาด อย่าให้เนื้อมันขาด อย่าให้กายมันขาดมันหาย 

นี่เขาเรียกว่าคอยปะ คอยชุนไว้ด้วยสติ เย็บไว้ประสานไว้ ให้มันเป็นเนื้อผ้าครองไตรจีวรสังฆาฏิ  อย่าให้มันขาดรุ่งริ่ง มันต้องมาห่ม มันต้องมากันร้อนกันหนาว ...กันกิเลสภายใน กันกิเลสภายนอกให้ได้

ก็พยายามเพียรรักษาสติ รักษาศีล...เป็นหลักก่อน  แล้วหลักใจหรือหลักสมาธิก็จะค่อยๆ ตามมา  เมื่อได้หลักศีลหลักใจแข็งแรงมั่นคง หลักปัญญาเป็นหลักก็จะมา 

ความรู้ความเห็นในธรรม ความรู้ความแจ้งในธรรม...ที่เรียกว่าธรรมขันธ์  ไม่ใช่ธรรมภายนอก ไม่ใช่ธรรมอดีต ไม่ใช่ธรรมในอนาคต แต่เป็นธรรมขันธ์ ...มันก็จะแจ้งในธรรมขันธ์

โดยเริ่มมาตั้งแต่ขันธ์เบื้องต้น ขันธ์หยาบ กลาง ละเอียด ประณีต  ก็คือกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ...วิญญาณเป็นตัวสุดท้าย ที่จะทำให้ความแจ้งเกิดในกองขันธ์ทั้งห้า 

วิญญาณเป็นตัวที่ละเอียดที่สุด ที่มันอยู่แนบกับใจ แล้วเป็นช่องทางของอวิชชาที่มันจะเชื่อมกับขันธ์และโลก ...เพราะนั้นตัววิญญาณนี่จะเป็นตัวสุดท้าย เพราะมันเป็นตัวที่อยู่ติด ชิด จนภาษาว่ามันกลืนกินอยู่ในใจ 

แต่จริงๆ ไม่ใช่ ... เห็นมั้ย วิญญาณรู้ ใจก็รู้ วิญญาณทางอายตนะ วิญญาณทางขันธ์ ...ถ้าไม่เป็นปัญญาขั้นสุดละเอียดปราณีต จะแยกตัววิญญาณกับใจไม่ได้ จึงว่าเป็นขันธ์สุดท้ายที่จะต้องไปทำความแจ้ง

แต่กว่าที่มันจะแจ้งได้ มันจะต้องแจ้งในระดับหยาบๆ กลางๆ ละเอียดมา ...เพราะนั้นกายขันธ์ กายธาตุ กายเวทนา เหล่านี้เป็นห้องเรียนใหญ่ เป็นบทเรียนใหญ่ ...เล่มหนาด้วย 

ถ้าไม่พากเพียรเขียนอ่าน ตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่าน ขะมักเขม้นในการเรียนการอ่าน ...ตำรานี้หนานะ บางครั้งถ้าขี้เกียจอ่านขี้เกียจรู้กับมัน ขี้เกียจอยู่กับมันนี่ อาจจะอ่านไม่ทันชีวิตนี้

แต่ถ้าขะมักเขม้น ขยันขันแข็ง ที่เราบอกว่าสติให้คอยปะชุนไว้  คือพลิกอ่าน พลิกไปแต่ละหน้าๆ แต่ละลักษณะอาการของกาย จนเป็นลักษณะอาการที่เรียกว่า ทุกลักษณะอาการของกาย 

นี่ เดี๋ยวก็จบบทที่หนึ่ง ...จากบทเรียนที่มีห้าบท คือห้าขันธ์ หรือขันธ์ทั้งห้า ...เพราะนั้นไอ้ตัวบทที่หนึ่งหรือว่าตำราเรื่องกายนี่ ที่เขียนไว้กับสรรพคุณของกายนี่...หนา ใหญ่ หนัก 

แต่อ่านง่ายนะ ...หนาใหญ่หนักจริง แต่อ่านได้ง่ายนะ ...ไม่เป็นภาษาขอมนะ ภาษาไทย เห็นมั้ย ลองนึกว่าง่ายยังไง นึกว่าเราเป็นคนไทยอ่านภาษาไทยออก นี่ง่ายมั้ย ...ง่ายนะ

แต่ถ้าไปเจอบทที่สองสามสี่ห้านี่ จะเริ่มเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเขมร ภาษาต่างดาวแล้ว ใช่มั้ย ถ้าเข้าถึงภาษาต่างดาวนี่ไม่รู้จะเอาตำราเล่มไหนมาเทียบเคียงแล้วนะ

ถ้าไม่มีตำราเล่มไหนจะมาเทียบเคียงหมายความว่าต้องใช้เล่มไหนล่ะ ก็จะต้องเป็นปัญญาที่เรียกว่านอกตำรา ต้องเป็นปัญญาที่เรียกว่านอกบัญญัติ นอกสมมุติภาษา ...ในขันธ์ส่วนนั้น กิเลสส่วนนั้น

เพราะนั้นมีขันธ์ส่วนไหนที่ยังอ่านไม่ออก ในขันธ์ส่วนนั้นก็มีกิเลสแนบอยู่ ก็มีความหมายมั่น ก็มีความยึดถือ ก็มีความเป็นเราของเราแนบครองอยู่ ถืออยู่ ผูกอยู่ ... นีี่ กว่าจะอ่านออก อ่านยาก 

แต่ตำรามันบาง มันไม่หนาหนักเท่ากับปัญญาหรือขันธ์หรือว่าบทเรียนแรก บทที่หนึ่งคือกาย ...เพราะนั้นอย่าเยิ่นเย้อเวิ่นเว้อกับภายนอก กับการหลงเพลิน กับการค้นหา กับอารมณ์สุข-ทุกข์ กับอารมณ์ของบุคคลอื่น

พวกนี้มันกินเวลา มันกินเวลาอ่านหนังสือนี้ไป มันกินเวลาการอยู่ในห้องเรียน ...พวกที่ไม่อยู่ในห้องเรียนเขาเรียกว่าอะไร โดดเรียน โดดร่ม ...อย่าโดดเรียน อย่าโดดหนี 

ไอ้ตัวที่พาโดดเรียนหนีเรียน ก็คือตัวเพื่อนไม่ดี หรือตัวเราที่นิสัยไม่ดี ซึ่งไอ้ตัวนี้ก็คือตัวจิตเรานั่นเอง ...ตัวจิตเรานี่ตัวไม่ดีนะ ตัวทำชั่วมากกว่าทำดี  ไอ้ดีน่ะก็เป็นข้ออ้างของมันว่าดี...นิดนึง แต่จริงๆ น่ะชั่วเยอะ 

ไปทำชั่วนี่เยอะ ...ไปเบียดเบียนคน ไปตำหนิติเตียน ไปกล่าวร้ายให้โทษ ไปเพ่งโทษ ไม่เคยเพ่งคุณหรอก เพ่งโทษมากกว่าเพ่งดี ...นี่ จิตเราทั้งนั้น มันพาโดด มันพาออกนอกเนื้อออกนอกกาย ออกนอกปัจจุบัน

ก็ต้องเข้มงวด ...ทำตัวเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองซะ คอยกวดขันดูแลถือไม้เรียวไว้ เด็กมันเกเร คอยหนีเรียน ก็คอยเรียก คอยห้าม คอยดึง คอยรั้งไว้ให้อยู่ในห้อง ให้อยู่ในกาย ให้อยู่ในที่ ให้อยู่ในฐานปัจจุบัน

มันก็เป็นการที่เรียกว่าถูกบังคับให้ต้องเรียน เมื่ออยู่ในห้องไปนานๆ ถึงเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็หนีไม่ได้ สติมันกันไว้อยู่ อาจารย์ฝ่ายปกครองมี ประตูหน้าต่างก็ถูกปิด shut down … seal ไว้ด้วยนะ

มันจะไปไหนล่ะทีนี้ ...หลับ หลับในห้องเรียนด้วยนะ เออ ก็ยังมีช่องให้มันไปอีกแน่ะ หลับอยู่ในห้องเรียน นั่งหลับ จิตหลับ จิตลืม จิตหาย จิตหลง จิตเบลอ จิตเผลอ จิตเพลิน ไปไหนก็ไม่รู้ 

นี่ว่าอยู่ในห้องเรียนนะ ก็ฝันไปอีกแน่ะ ตัวอาจารย์ก็ต้องคอยกวดขัน อ้าว หลับอีกแล้ว ก็ต้องคอยสะกิด ให้ลุก ให้ตื่นขึ้นมา ...จะฟังรู้เรื่อง จะฟังไม่รู้เรื่อง จะเรียนรู้เรื่อง จะเรียนไม่รู้เรื่อง ก็ตื่นขึ้นมาก่อน 

เพราะในห้องเรียนบทเรียนนี่เขาก็สอนโดยที่...จริงๆ น่ะ ห้องเรียนนี้เป็นห้องเรียนอัตโนมัติ ให้ความรู้โดยอัตโนมัติ ตลอดเวลา ไม่หยุดเลย ...แม้ว่าไอ้คนนั้นมันนั่งหลับนอนหลับอยู่ในห้องก็ตาม

นี่ มันก็หมดโอกาสเรียนรู้ หมดโอกาสรู้เห็น หมดโอกาสเข้าใจไปแบบ...น่าเสียดายเวลาที่หมดไปกับหลง เพลิน หาย หรือไปหนีเที่ยวเล่น ...เพราะขนาดมันหนีเที่ยวเล่นนี่ ห้องเรียนก็ยังสอนอยู่

กายเขาก็ยังแสดงความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา ว่านี้ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ว่านี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ว่านี้เป็นแค่ก้อนธาตุกองธาตุ กองทุกข์ ว่านี้เป็นกองแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หาตัวตนที่แท้จริงของมันไม่ได้

เขาก็ยังสอนความจริง เขาก็ยังแสดงความจริง โดยที่ไม่เหนื่อยไม่ล้า ไม่อู้ ไม่พักไม่ผ่อน ไม่หยุด ไม่ลาพักร้อน ...สอนจนตายจากกัน สอนจนกว่าจะตายจากขันธ์นี้ไป

เพราะนั้นการเรียนรู้ด้วยการภาวนา ก็คือการจับจิตจับใจนี้ ให้มันมาหยุดอยู่ด้วยกัน จิตกับใจนี้ให้มันมาอยู่ที่เดียวกัน ... จิตตัวไป...ใจตัวอยู่  ตัวใจนี่มันอยู่อยู่แล้ว ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขา

แต่ไอ้ตัวจิตน่ะมันจะพาออกนอก ก็ต้องจับจิตให้มันอยู่ใน...อยู่ในกาย ...ใจอยู่ที่ไหน ใจก็อยู่ในกายนี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก  ถ้ามันอยู่นอก...ใจอยู่นอกกายนี่ก็หมายความว่า...ตาย

ใจมันก็อยู่กับขันธ์นี่ ไม่หนีไปไหนหรอก มันจะหนีขันธ์นี่ก็ต่อเมื่อขันธ์นี่มันอยู่ไม่ได้ ขันธ์นี้มันหมดสภาพ ขันธ์นี้มันเสื่อมสลาย ขันธ์นี้มันใช้การไม่ได้...ไม่สมดุล 

หมดสภาพความสมดุล ใจมันก็จะออกจากขันธ์นี้...โดยขันธ์ที่เรียกว่ากายนี้ไป ...แต่ตราบใดที่กายนี้ยังมีลมหายใจเข้าออก หัวใจยังเต้นไม่หยุดอยู่อย่างนี้ ใจก็อยู่ในนี้ ไม่เคยไปไหน ไม่เคยว่างเว้น ห่างหายเลย 

แต่มันจะรู้สึกได้ยังไงว่าใจหาย หรือไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย นี่ ไม่ใช่ ...ไอ้ตัวนี้ไม่ใช่ใจน่ะ ไอ้ตัวนี้ไม่ใช่ใจ ...ใจไม่เคยหาย ใจไม่เคยไม่รู้ไม่เห็นอะไร 

แต่มันเป็นลักษณะของจิตที่มันสร้างอารมณ์สร้างอาการหนึ่งขึ้นมาปกคลุมใจ ปิดบังขันธ์ ปิดบังกาย ปิดบังปัจจุบันเท่านั้นเอง หรือมันเป็นแค่อารมณ์ชั่วคราวหนึ่ง หรือว่าอาคันตุกะอารมณ์ 

หรือว่าที่เรียกว่าอาคันตุกะกิเลสที่มันสร้างอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งขึ้นมาปิดบังลักษณะกาย ลักษณะขันธ์ที่แท้จริง...ซึ่งมันไม่เคยหาย ไม่เคยหนี ไม่เคยจากกันเลย มีอยู่ทุกปัจจุบัน ทุกขณะเวลา

เพราะนั้นก็ต้องปลุกจิตปลุกใจขึ้นมา ตื่นรู้ตื่นเห็นขึ้นมา ด้วยการระลึกรู้ ...สติแปลว่าการระลึกรู้ พอระลึกรู้ ระลึกแล้วจิตมันก็เกิดสภาวะที่รู้ขึ้น ...ไอ้สภาวะที่รู้ขึ้นนี่จิตมันกลับ มันกลับที่ของมัน

แต่ว่าพอกลับโดยการระลึกรู้เฉยๆ นี่ มันกลับแล้วมันไม่รู้จะอยู่ที่ไหน มันอยู่บนฐานที่ตั้งที่ลอยๆ หรือฐานที่ตั้งที่ไม่มั่นคง หรือฐานที่ตั้งที่เป็นอากาศธาตุ นี่ สติที่ระลึกรู้เฉยๆ นะ ...ระลึกแล้วรู้ รู้ขึ้นลอยๆ

เรียกว่ามันรู้อยู่ลอยๆ จิตมันก็มารู้อยู่อย่างเดียว ...เพราะนั้นลักษณะนี้จิตจึงเรียกว่าไม่ลงฐาน จิตยังไม่เข้าสู่ฐานของใจ เพราะมันยังเป็นรู้ลอยๆ รู้อยู่ลอยๆ ไม่รู้รู้อยู่ตรงไหน แต่มันก็รู้อยู่แหละ

นี่เรียกว่าสติตัวแรก ...เพราะนั้นตัวสติตัวแรกตัวนี้จึงไม่จัดหรือไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นสัมมาสติที่แท้จริง ยังเจือยังปนหรือยังอาจเป็นมิจฉาสติล้วนๆ เลยก็ได้

เพราะนั้น สติการระลึกรู้ที่ไม่มีศีล สติระลึกรู้ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบมรรค องค์มรรค จึงเรียกว่าเป็นสติที่เลื่อนลอย จึงเรียกว่าเป็นสติที่เคว้งคว้าง จึงเรียกว่าเป็นสติที่จับจด ง่อนแง่นคลอนแคลนอยู่เสมอ

นี่จิตมันจะหาฐานที่ตั้งไม่ได้ ...เพราะนั้นมันต้องมีห้องเรียน มันต้องจับเข้าไปอยู่ในห้องเรียน  คืออาจารย์ฝ่ายปกครองก็จับแล้ว ไปจับได้ทันอยู่กลางถนน เนี่ย แล้วจะเอามันไปไว้ที่ไหนดีล่ะ 

นั่น เขาเรียกว่าสติที่มันเลื่อนลอย ก็เรียกว่าสติอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ลักษณะของจิตที่ถูกสติจับได้ ก็เหมือนจับขโมยน่ะ จับไม่อยู่หรอก จับให้มันอยู่นานๆ ไม่อยู่หรอก ...มันมีแรงเยอะ 

จิตนี่ จิตเรานี่ พลังมันเยอะนะ อำนาจของอวิชชาตัณหานี่ กำลังนี่ขนาดไหน บอกให้ก็ได้ ครอบคลุมสามโลกธาตุ มันไปมาได้ครอบคลุม แล้วเข้าไปจับจองได้สามโลกธาตุ 

มันมากมันแรงขนาดไหนเล่า ถึงเรียกว่ากิเลสนี่เป็นใหญ่ในสามโลกธาตุ ...พลังของ “เรา” นี่ พลังจิตของเรานี่ พลังความทะยานอยากของเรานี่ มันสูงส่งมาก 

เพราะนั้นแค่สติตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่ไปจับมันได้กลางทาง แค่ข้างถนนนี่ เอามันไม่อยู่หรอก เอาจิตเรานี้ไม่อยู่หรอก 

มันเลยต้องจับจิตตัวนี้  ที่มันลักหนีลักเที่ยว วิ่งวนไปมา หมุนวนไปมาในที่ที่ไม่มีที่ที่แท้จริง ไม่มีที่มั่นที่หมายที่แท้จริง ...นี่ คือภพลอยๆ อุปาทานภพ 

จะเป็นถนน หน้าเสาธง หรือบ้านโน้นบ้านนี้ หรือไปอยู่บ้านโยมคนนั้น หรือไปอยู่ในบ้านผู้หญิงผู้ชายคนนี้ ...เนี่ย มันเป็นภพลอยๆ ...นี่ก็เรียกว่าสติที่จับได้ มันก็ไปจับได้ตรงไหนมันก็อยู่ตรงนั้น

แต่ว่าเราจะทานอำนาจของมันไม่ได้เลย  ...ทำไมถึงทานไม่ได้ เพราะอำนาจต้านทานด้วยอำนาจของสมาธิจิตตั้งมั่นมันไม่มี เพราะมันไม่มีฐานของสมาธิ

เพราะนั้นเมื่อมีสติระลึก เมื่อรู้ เมื่อระลึกระหว่างที่มันไม่รู้แล้วก็รู้ คือระลึกขึ้นมาระหว่างไม่รู้แล้วก็รู้ สติตัวแรกเกิด ...จะต้องเอาสติตัวแรกนี้ พาจิตให้มันกลับมาอยู่ในที่ห้องเรียน 

เป็นการเอามาเรียน เอามาอ่าน มาเรียนในห้องเรียน...คือกาย ซึ่งห้องเรียนนี้ไม่กว้าง ไม่ใหญ่เท่าไหร่ แล้วก็ไม่ค่อยแคบเท่าไหร่ ก็เท่ากับผืนหนังหุ้มอยู่นี่ ท่านเรียกว่า...ตะจะปริยันโต หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ

ซึ่งมาเรียนนี่ กลับเข้าห้องแล้วนี่ ถามว่ามันจะเรียนเลยมั้ย ...ไม่เรียน ... คือยังมันอยู่ เออ ยังติดอารมณ์อยู่ ยังกระเสือกกระสน ยังไม่มีกระจิตกระใจจะเรียนอะไร

คือมันยังไม่สามารถตั้งมั่น หรือว่าสงบระงับจากอารมณ์ทั้งเป็นอดีตทั้งในอนาคต ทั้งเรื่องราวของคนนั้นคนนี้ มันยังไม่สามารถวางจากลูกติดพันที่มันไปมานับไม่ถ้วนนั่น

เพราะนั้นมันจึงต้องมานั่งจ่อจด จมจ่ออยู่กับห้องนี้ สงบจิตสงบใจให้มันใจเย็นๆ สงบระงับซะหน่อยจากอารมณ์ ความตั้งใจเรียนจึงปรากฏขึ้นต่อมา 

ตรงนี้ไงถึงเรียกว่าสมาธิ หรือว่าความตั้งมั่น จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญญาขึ้นมา เป็นก้าวต่อไป

แต่ไม่ใช่ว่าจับมันเข้ามาปุ๊บ แล้วก็บังคับให้มันเรียนเลย ...มันเรียนไม่รู้เรื่องหรอก  คือให้เรียนก็เรียน แต่มันไม่รู้เรื่องอะไรเป็นอะไร จะงง สับสน แล้วก็สงสัย เนี่ย จะอยู่ด้วยนิวรณ์ มันจะมีนิวรณ์ตกค้างอยู่ 

ในการที่สติมีแล้ว รู้ตัวอยู่แล้ว อยู่กับกายแล้ว แต่ทำไมยังมีอารมณ์อยู่ในนั้น ทำไมยังมีความกระหาย กระเหี้ยนกระหือรือที่จะไปจะมาอยู่ ทำไมยังมีความทุรนทุรายในความอยาก-ความไม่อยากอยู่

นี่ อำนาจของนิวรณ์มันยังแฝง หรือมันยังเผาลนจิตดวงนั้นอยู่...ดวงที่เป็นของเรา จิตเรานั่นแหละ 

ก็จนกว่ามันจะมอด ไอ้ที่มันเผาด้วยนิวรณ์นี่ มันมอด ...ด้วยอำนาจของการบังคับด้วยสติ ให้อยู่ในกรอบกาย กรอบศีล กรอบปัจจุบัน

พอนิวรณ์มันระงับ ไฟมันมอด ความเผาไหม้มันไม่ร้อนรนแล้ว จิตมันก็ไม่ร้อนรน จิตมันก็ไม่มีความรู้สึกกระเสือกกระสนดิ้นรนไปมา

มันก็เหมือนกับปลาที่มันอยู่ในบ่อที่ซีลไว้อย่างดี ไม่มีน้ำเข้าน้ำรั่วให้มันมีช่องออกไป มันก็ลอยตัวของมันอยู่นิ่งๆ เพราะมันว่ายไปไหนไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้จะไปไหน แล้วก็ไม่อยากไปไหน เพราะไม่มีที่ให้ไป 

เนี่ย เขาเรียกว่าสงบ ด้วยอำนาจของสมาธิ จิตดวงนี้มันรวมอยู่ที่ใจ รวมอยู่กับฐานใจ ...นี่เรียกว่าได้ฐาน จิตอยู่กับฐานใจ ฐานรู้ ฐานเห็น ดวงจิตผู้รู้ ...อยู่กับดวงจิตผู้รู้ 

กลายเป็นดวงจิตผู้รู้ เหมือนเป็นดวงจิตผู้รู้ดวงหนึ่งขึ้นมาแทน ...จิตที่คิดไปคิดมา คิดจะไปคิดจะมา คิดจะได้คิดจะเป็น ...มันเปลี่ยน เหมือนกับมันเปลี่ยนสภาพ เหมือนปลาที่มันอยู่ในน้ำนิ่งน้ำบ่อ

ตรงนี้ปลาที่อยู่ในบ่อซึ่งไม่ใช่ปลาตาย นี่ ปลาเป็น...ตามันก็เปิดอยู่ มันก็เห็นในบ่อนั้นหรือว่าในห้องเรียนนั้นเขาสอนอะไร เขาเขียนอะไร เขาแสดงอะไร อยู่ในรอบห้องเรียนนี้ 

ซึ่งห้องเรียนนี้เป็นห้องเรียนที่ดีนะ ไม่มีครู ไม่มีคำสอน ไม่มีคำพูด แต่เขาแสดงไว้เป็นภาพปะติด และไม่มีคำบรรยายด้วย เพราะนั้นพอไอ้ปลามันหมุนไปหมุนมา อยู่ในบ่อแคบๆ นี่ อือ มันก็จำเป็นต้องดู

ก็เหลียวดู หันไปทางไหนก็เจอแต่สิ่งที่มันเป็นแหล่งความรู้ ...เรียกว่าเป็นแหล่งความรู้ แต่ไม่ใช่เป็นภาษาที่เขียน ไม่มีภาษาว่านี่เรียกว่าอะไร นี่คืออะไร ...มันเป็นแหล่งความรู้ ที่มีแต่ความเป็นจริง 

ซึ่งแรกๆ ปลามันก็จะงง ว่าเรียนอะไรวะ ไม่เห็นสอนอะไรเลย มีความรู้อะไรวะ ไม่เห็นได้ความรู้อะไรเลย นี่ เพราะมันอ่านไม่ออก ดูไม่รู้เรื่อง... แรกๆ จะงงก่อน งงๆ งวยๆ หน่อย

มันก็เหมือนกับปรับสภาพไปสักระยะหนึ่ง มันก็เริ่มสำเหนียก เริ่มเกิดความสำเหนียกในแหล่งความรู้นี้ เริ่มโยนิโสมนสิการ เริ่มเกิดความเข้าใจ โดยสัญชาตญาณของตัวมันเอง

นั่นแหละ เพราะนั้นตัวกายนี่ หรือห้องเรียน หรือแหล่งความรู้นี่ ที่จิตมันเข้าไปเรียนรู้ด้วยการหมุนไป หันมา สอดส่องไปมา ทำความลึกซึ้งกับสิ่งที่มันอยู่ล้อมรอบตัวมันไปมา

จนเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นภายใน เป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่มีภาษาบ่งบอก มันเป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่มีคำพูด เป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่มีความเห็นเป็นภาษารองรับ ลึกๆ

แต่ในลักษณะตอนแรกๆ ที่มันจะเกิดความรู้ความเข้าใจ ...มันอาจจะมีภาษามารองรับบ้าง พอให้อธิบายขยายความเป็นภาษาบ้าง พอสื่อสารเป็นความเข้าใจได้บ้าง

แต่พอหมุนหันไปมาดูสิ่งที่มันเรียนรู้ สิ่งที่มันเห็นอยู่ สิ่งที่มันเป็นแหล่งความรู้นี่ ก็เริ่มเห็นว่าเขาเป็นแหล่งความรู้ที่ไม่มีภาษา นี่ มันก็จะเริ่มเอะใจ

ไอ้ความรู้ที่เป็นภาษาที่มันรองรับความเห็น ที่ดูเหมือนกับตรงกับสิ่งที่มันเรียนรู้นี่ มันก็จะเริ่มเอะใจขึ้นว่า ไอ้นี่มันเป็นสิ่งที่เกินกว่าแหล่งความรู้ที่เขาสอนซึ่งไม่มีภาษา

ทีนี้มันก็เริ่มรู้สึกว่าไม่จำเป็นจะต้องมีภาษามารองรับความรู้นี้ มันก็สามารถทำความคุ้นเคยและเข้าใจพร้อมกับยอมรับได้ อย่างนี้

ภาวนามยปัญญา หรือปัญญาที่เกิดจากการภาวนานี่ จึงเป็นปัญญาที่ไม่มีภาษารองรับ เป็นความรู้ที่ไม่มีคำพูดภาษาบอก เป็นปัจจัตตัง พระพุทธเจ้าท่านเรียก ปัจจัตตังๆๆ

แต่มันเกิดความยอมรับได้...เพียงแค่รู้และเห็น  มันเข้าใจได้ลึกซึ้งกับแหล่งความรู้นี้เพียงแค่รู้และเห็น เหมือนปลาที่หมุนอยู่ในน้ำด้วยสายตาที่มันมองแค่นั้นเอง

เพราะนั้นไอ้ตัวปลาคือตัวจิต ไอ้ตาของปลาที่มันมองสิ่งที่มันอยู่รอบบ่อ นั่นน่ะคือตัวญาณ จักขุญาณ ตาญาณ ตาที่สาม ตาธรรม หรือดวงตาที่คอยสอดส่องธรรม ที่ล้อมรอบตัวมันคือตัวจิต

ความรู้เห็นในธรรมก็เกิดขึ้นจากดวงตาที่เห็นธรรมนั่นเอง ไม่ได้มาจากที่ไหน ไม่ได้มาจากภาษา ไม่ได้มาจากการฟังการจำ ไม่ได้มาจากความอยาก แต่มันมาจากดวงตาที่มันเห็นโดยรอบแวดล้อมครอบคลุมตัวจิต

ซึ่งตัวจิตนี้เป็นตัวจิตที่มันอยู่ในฐานใจ เป็นตัวจิตที่ไม่ไปไม่มา เป็นตัวจิตที่มีการดัดนิสัยสันดาน อบรมให้มันอยู่ในระเบียบเรียบร้อย เคารพต่อธรรม เคารพต่อแหล่งความรู้ คือธรรม คือกาย คือขันธ์ คือปัจจุบันธรรม

ความรู้ความเห็นที่ได้จากแหล่งความรู้นี้ มันก็เริ่มมากขึ้น พอกพูนขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ...แล้วก็เกิดการยอมรับได้มากขึ้น กับทุกสภาพกาย ทุกสภาพขันธ์  

เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความยอมรับกับทุกสภาพกายทุกสภาพขันธ์แล้ว ผลลัพธ์คืออะไร ...ผลลัพธ์ที่ได้ คือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ของเรากับทุกสภาพกายกับทุกสภาพขันธ์กับทุกสภาพโลกที่ปรากฏ น้อยลง บางเบาลง

ความดิ้นรนกระวนกระวายขวนขวายลึกๆ ในตัวจิตอวิชชาตัณหาอุปาทาน ความทะยานของจิต ความกระเสือกระสนดิ้นรนที่เหมือนกับปลาจะวิ่งไปหาน้ำใหม่ น้อยลง ความวุ่นวายในจิต ก็น้อยลง

ความแสวงสุข-ทุกข์...คือมหาสมุทรที่มันคิดว่าเป็นน้ำอุ่น น้ำเย็น น้ำร้อน น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นมหาสมุทร ทะเลตรงไหน ...นี่  ความกระหาย ทะยานที่จะไปในแหล่งนั้นๆ น้อยลง

ลักษณะที่เป็นผลตัวนี้ เป็นผลที่สามารถจับต้องได้ด้วยตัวเองเท่านั้น ...ลักษณะผลที่ได้นี่ จะมีผู้ที่ได้รับผลคือตัวผู้ปฏิบัติเองเท่านั้น ไม่สามารถแบ่งแยกแจกจ่ายให้กับใครได้

เนี่ย คือผลของการปฏิบัติที่เราบอก ตั้งแต่ว่าเริ่มมา ตั้งแต่ว่าเริ่มเย็บผ้าปะเสื้อให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นอันดับแรก  แล้วให้เชื่อว่าผลที่ได้จะไม่ผิดพลาดจากผลที่บอกเมื่อกี้ คือความจางคลายจากทุกข์ของเรา

ต้องเข้าใจว่าความจางคลายจากทุกข์ของเรานะ ไม่ใช่เกิดความจางคลายจากทุกข์ของขันธ์นะ คนละตัวกัน ...มันจะไม่จางคลายจากทุกข์ของขันธ์ หรือไม่สามารถทำให้จางคลายจากทุกข์ของขันธ์ได้

ทุกข์ของขันธ์นี่ เช่น ปวดเมื่อย เจ็บไข้ ตาย ร้อน หนาว ทุกขเวทนาทรมานบีบคั้น พวกนี้ ...นี่มันจะไม่สามารถไปลดทอนทำลายทุกขเวทนาในขันธ์ ทุกขสัจในขันธ์ ทุกข์ประจำขันธ์ รวมถึงทุกข์ในโลก ทุกข์ประจำโลก

แต่มันจะเกิดความจางคลายจาก “ทุกข์ของเรา” พร้อมกับ “ตัวเรา” “ของเรา” ...นี่คือผลที่แท้จริงของการดำรง ดำเนิน คงอยู่ เดินอยู่ในองค์มรรค หรือที่อุปมาว่าอยู่ในบ่อปลา หรือในห้องเรียนนี้

นี่อธิบายแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แบบ ป.๔ ก็สามารถฟังแล้วเข้าใจแล้วเอาไปปฏิบัติก็ยังได้เลย ไม่ต้องให้จบปริญญาหรือได้ดอกเตอร์ก่อน ถึงจะฟังรู้เรื่อง 

เห็นมั้ย ว่าการปฏิบัตินี่เป็นเรื่องที่แนบเนื้อติดตัวอย่างไร เป็นเรื่องที่แทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงในการจับจ่ายหามาจากภายนอกแต่ประการใด เข็มก็มี ผ้าก็มี  มีอยู่แล้วอุปกรณ์นี่มีพร้อม แต่มันขาดไอ้ช่างเย็บ

ไอ้ช่างเย็บนี่มันหายไปไหนล่ะ ไอ้ผู้กระทำนี่มันไปไหน ...มันมัวแต่เอามีด เอาขวาน เอาปืน ไปไล่ ไปส่อง ไปแทง ไปยิงคนอื่นหรือเปล่า มันละเลยหน้าที่การงานหรือเปล่า

ไม่มีใครห้ามได้นะ...นอกจากตัวเอง ไม่มีใครสอนได้เท่ากับสอนตัวเอง ...ว่างานไหนเป็นงานอันชอบ งานไหนเป็นงานอันควรกว่ากัน

(ต่อแทร็ก 14/6)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น