วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 14/32 (2)


พระอาจารย์
14/32 (570512F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 พฤษภาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 14/32  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่า มันต้องวางรากฐานมาจากสติ แล้วก็ในการรู้ตัวบ่อยๆ เสมอๆ อยู่กับกายอยู่กับศีลนี้ด้วยความต่อเนื่อง ...นี่ปูรากฐานมาอย่างนี้ ลำบากมาก่อน แล้วมันก็ค่อยๆ สบายขึ้น

เพราะนั้นน่ะ ถ้ามันไม่ได้ปูรากฐานของสติหรือศีลปุ๊บนี่ เวลามันเจออารมณ์เบื้องหน้าเบื้องต้นนี่ ไม่มีทางเอาอยู่เลย ไม่มีทางที่จะอยู่กับความรู้ตัวได้เลย บอกให้เลย

เพราะมันไม่มีฐานของสติ ฐานของกายปัจจุบันเลยน่ะ ไม่เอาเลย  มันทิ้งไปแบบ...มึงไปไกลๆ  มึงอย่ามาว่าหยุดว่าอยู่อะไรเลย...กูจะด่ามันอย่างเดียว

ตัวนี้จะมาแบบ..มาแรง มาเร็ว แล้วก็เป็นเหตุเฉพาะหน้าสำคัญอย่างยิ่งเลย...ศีลสมาธิ เนี่ย ไว้ทีหลังๆ ...หรืออย่าว่าแต่เอาไว้ทีหลังเลย ให้หาตอนนั้น มันยังไม่ปรากฏเลย ปรากฏได้ยากมาก

เราถึงบอกว่ามันต้องปูพื้นเป็นอาจิณเลย สตินี่ รู้ตัวในกายนี่ เพื่อให้จิตมันหยุดอยู่เสมอๆ บ่อยๆ แม้เป็นขณะ เป็นขณิกะก็ตาม ...อย่าให้มันหาย อย่าให้มันหายนาน อย่าให้มันลืมนาน

อย่าให้มันไกลออกไปจากความรู้ตัว แล้วมันจะค่อยๆ เป็นไป...เมื่อเจอเหตุการณ์ปุ๊บ นี่ มันจะมาทันทีทันควันเลย...การรู้เนื้อรู้ตัว ท่ามกลางอารมณ์ ท่ามกลางเสียง ท่ามกลางรูป

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่เป็นภาวะบีบคั้นภายนอก มันก็สามารถเรียกสติศีลสมาธิ ได้ตั้งรับตั้งสู้กันขึ้นมา ได้เห็นประเมินกำลังซึ่งกันและกันขึ้นมา

ซึ่งส่วนมากก็ต้องยอมรับว่า จะต้องแพ้มากกว่าชนะ เพราะว่าลักษณะที่คุมอยู่ หรือว่ารู้อยู่กับตัวนี่ โดยที่ไม่หลงเพลินไปกับมัน คิดตามไปกับมันนี่...จะน้อยกว่าอยู่แล้ว

แต่ก็กัดฟันไปจนกว่ามันจะจบ ต้องเรียกว่าอยู่ได้ผ่านได้แบบกัดฟัน แล้วก็ค่อย เออ โล่งอก ผ่านไป แต่ในลักษณะนี้ มันจะผ่านไปลักษณะกัดฟันก็ตาม แต่ผลคือความสืบเนื่อง จะน้อยลง

ความสืบเนื่องจากการกระทำคำพูดของเรานี่ จะไม่ค่อยไปใส่ฟืนเติมไฟให้เกิดเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องต่อไปในอนาคต ...เนี่ย มันจะได้เกิดผลของสมาธิปัญญา ศีลสติสมาธิ ในระดับนี้ก่อน

มันก็ทำการเพิกถอนภายนอกออกไป คลี่คลายออกไปในระดับที่ว่า...เรารับมาเต็มๆ เหมือนไปแบกทุกข์มาแทนเขา หรือไปรับทุกข์ที่เขาใส่ความให้เรา มันก็เหมือนกับไปรับภาระเข้ามา หนัก เอาไฟมา เหมือนอย่างนั้น 

แล้วตัวของมันเอง มันก็มาเก็บ แล้วมันก็มาทำความแจ้งในเหตุภายในต่อไป ...อดทนไปเหอะ มันก็ค่อยๆ แยกแยะไป อะไรเป็นอะไร แล้วมันก็เกิดความจางคลายภายนอก นี่ก็ได้อานิสงส์ของศีลสมาธิ

ทำไมมันถึงยึดนักยึดหนา ทำไมถึงเป็นทุกข์เป็นนักเป็นหนา กับรูปกับเสียง กับความเป็นเราเป็นเขา อะไรอย่างนี้ ก็อยู่ไปเหอะ ทั้งวันทั้งคืน อยู่ไป ดูมันไป ประกอบเหตุนั้นไป อยู่กับเหตุนั้นไป

มันอยากโง่นัก ก็อยู่กับมันไปแล้วกัน เดี๋ยวก็รู้เอง ...อดทนนะ อดทนด้วยสมาธิ ปัญญามันก็อยู่ในนั้นเอง ปัญญามันจำแนกแยกแยะอะไรเป็นอะไรไป อะไรเป็นอะไร

มันเป็นเราตรงไหน มันเป็นเขายังไง แล้วมันมาถือเราตรงไหน แล้วเรามันเจ็บมันปวดตรงไหน อะไรมันเป็นเรา แล้วโดยรวมมันเป็นเราหรือไม่เป็นเรายังไง แล้วเราคืออะไร

ก็ลงมาที่กายอย่างนี้ พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ...ถ้ามันคิด ยังคิด ตามมาหลอกหลอนอีก เดี๋ยวก็พิจารณาไป มันก็กลับมาลงที่กายเราอยู่ดี ตัวเราอยู่ดี ...มันก็กลับมาแก้อยู่ที่เดียวนั่นเอง

เอ้า พูดนานแล้ว พอแล้ว เหนื่อย พูดนานก็เหนื่อย พักซะ ...เอ้า มีอะไรอีกรึเปล่า สงสัยอะไรอีกมั้ย


โยม –  ก็สงสัยน่ะเจ้าค่ะ ช่วงนี้มันเห็น..เข้าไปเห็นถึงตัวสัญญาที่..คือมันทุกข์มาก่อนเพราะมันจับสัญญามา หลังๆ นี่มันก็คือ มันเห็นว่าสัญญานี่ มันก็แค่ตัวที่ผ่านมา แค่ไปจับมันเป็นเรื่องเป็นราว มันก็กระโดดเข้าใส่

เพราะนั้นตัวสัญญาก็เป็นแค่เรื่องหนึ่ง แม้กระทั่งสัญญาในคำสอนต่างๆ ที่ได้ยินมา นั่นก็คือเป็นทาง คือเป็นแค่ให้ได้ระลึกรู้น่ะเจ้าค่ะหลวงพ่อ มันก็แค่นั้น มันก็สอนกลับมาว่า มันก็แค่นั้นน่ะ คว้าก็ไม่ได้ ก็แค่ระลึกรู้ ก็แค่นั้นเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  สัญญาคือสัญญา เห็นว่าสัญญาคือสัญญา ไม่มีตัวไม่มีตนในสัญญา ไม่มีเราไม่มีเขาในสัญญา ...สัญญาก็คือสัญญา ไม่มีอะไร


โยม –  หลังๆ มันจะกลับมาตั้งมั่น หมายถึง ตั้งมั่นนี่คือระลึกรู้อยู่ภายในที่มั่น ถ้ามันหลุดตรงนี้ปุ๊บ จากจุดนั้น มันส่งเลย..ทุกข์

พระอาจารย์ –  ไม่ว่าจะออกนอก ไม่ว่าจะออกใน...ออกนอกคือออกข้างหน้า ออกในคือออกในอดีต ข้างใน สัญญา พวกนี้ ...ตั้งมั่นอย่างเดียว กายเดียวใจเดียว ถือว่าเป็นฐาน อยู่ในมรรค

จึงเรียกว่าอยู่ในมรรคนี่เป็นทางรอดปลอดภัยจากกิเลสในระดับหนึ่ง แล้วมันก็เป็นแหล่งก่อกำเนิดปัญญาอยู่ในมรรค ปัญญาที่แท้จริงจะอยู่ท่ามกลางมรรค อยู่บนมรรค

มันก็จะค่อยๆ เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้น ก็อยู่บนมรรคนั่นแหละ อยู่ท่ามกลางกายใจนั่นแหละ ท่ามกลางจิตตั้งมั่น ท่ามกลางจิตที่มันรู้อยู่กับกาย รู้อยู่กับกายเป็นปัจจุบัน

นั่นน่ะ เรียกว่าความรู้ความเห็นในองค์มรรค มันจะเกิดขึ้นท่ามกลางความรู้ตัว ..มันไม่ไปเกิดที่อื่น


โยม –  ลักษณะที่ดำเนินอยู่ตรงนี้ มีความตั้งมั่นนี่ ถ้าเทียบกับที่หลวงพ่อสอนไปเมื่อกี้ คือการอยู่ในจิตเป็นสมาธิอย่างนั้นใช่รึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  อือ มันเป็นสมาธิธรรมชาติที่มันอยู่ในอิริยาบถทุกอิริยาบถ ...คำว่าสัมมาสมาธินี่ มันไม่ใช่สมถะ มันไม่ใช่สงบ แต่มันเป็นความตั้งมั่นที่มีอยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา

มันจะตั้งมั่นอยู่กับตัวตลอดเวลา นี่เขาเรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิที่แท้จริง...ที่มันมีอยู่กับชีวิต อยู่กับกายในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่มีจำกัดกาลเวลาสถานที่

นี่ถึงว่าเป็นสมาธิที่เป็นสมาธิโดยธรรมชาติ สัมมาสมาธินี่ ...แล้วมันจะมาเรียนรู้กับขันธ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วมันก็จะมาเรียนรู้กับกิเลสที่มันปรากฏอยู่ตามธรรมชาติ โดยปกติธรรมดานั่นเอง

มันจึงมาแก้มากัน หรือจึงมาทำความละทำความเลิก หรือจึงมาเกิดการทำความรู้ทำความเข้าใจกับทั้งขันธ์ที่เป็นธรรมชาติ ทั้งกิเลสที่เป็นธรรมชาติได้

อย่างตรงไปตรงมา อย่างจริงแจ้งชัดเจน ไม่หลอกไม่ลวง เป็นกิเลสหน้ากิเลสหลัง กิเลสในอดีต กิเลสในอนาคต กิเลสตามที่คิดขึ้นมาเอง น้อมนำขึ้นมาให้เอง นั่น ไม่ใช่

ถึงว่าการปฏิบัติธรรมมันเป็นเรื่องของการเรียนรู้อยู่ภายในปัจจุบันล้วนๆ ...เพราะนั้นจะต้องทรงความรู้ตัวนี้ให้ได้ ด้วยความตั้งมั่นขึ้นไปเรื่อยๆ

หมายความว่าแข็งแรงขึ้นในการอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงใหลไปอย่างง่ายดายกับสิ่งต่างๆ แค่นั้นเอง …เพราะนั้นสิ่งต่างๆ มีอยู่สองสิ่ง...ภายนอกกับภายใน

ภายนอกคือตาหูจมูกลิ้นกาย ...ภายในคือจิต คือความคิด คืออารมณ์ คือความจำ คือกิเลส ความอยาก-ความไม่อยาก พวกนี้คือภายใน ...มันจะต้องไม่หวั่นไหวต่อทั้งภายในและภายนอก นั่นแหละสัมมาสมาธิ

แล้วเมื่อมันตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ผลของที่จิตมันตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปทั้งกับภายในและภายนอก ...มันจะเห็นอาการทั้งในและนอกนี่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นไตรลักษณ์ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง 

เห็นมั้ยว่าปัญญามันจะเกิดท่ามกลางองค์มรรค แล้วมันจะเห็นทั้งสองสิ่งนี่ ทั้งในและนอกนี่ ...ก็แค่นั้น ก็เท่านั้นแหละวะ ไม่มีอะไร  นั่น ถ้ามันรู้สึกว่าแบบชาวบ้านๆ ...ก็แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไรเลย

ถ้าภาษาธรรมก็นั่นน่ะมันเห็นไตรลักษณ์ แล้วมันก็ปล่อย ...พอมันปล่อยปุ๊บ ไม่มีอะไร มันก็ไม่มาจดจำเป็นสัญญาในอดีต หรือเป็นเรื่องราวที่จะต้องมานั่งครุ่นคิด กังวล หวนหา ถวิลหา...ไม่มี มันก็ละได้

มันเห็นไตรลักษณ์ในปัจจุบัน มันก็ไม่เกิดความสืบเนื่องต่อเป็นอดีตอนาคต ..ปัจจุบันดับ อดีตดับ อนาคตดับ สัญญาก็ดับ สังขารก็ดับไปพร้อมกัน นี่ ดับลงในปัจจุบัน มันก็ดับทั้งอดีตอนาคต ทั้งสัญญาทั้งสังขาร

เนี่ย ด้วยความที่ว่า...“เออ ก็แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไร” ...นี่ ถ้าจิตตั้งมั่น มันก็เห็นอย่างนั้น และในขณะที่มันตั้งมั่นนี่ มันตั้งมั่นอยู่กับกาย ตั้งมั่นอยู่กับศีล ในลักษณะที่มันไม่มีทั้งในและนอกมาก่อกวนเลย

ระหว่างนั้นน่ะ มันเรียนรู้ดูเห็นกับกองกาย เป็นรูทีน ทำความรู้ทำความเข้าใจกับกายนี้เป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันปัญญาอยู่ตลอด...ว่าไม่ใช่เรา ไม่เป็นตัวเรายังไง มันก็ดูเห็นเป็นธาตุ เป็นก้อนเคลื่อนไหวไปมาของมัน

นี่ มันทำความเรียนรู้อยู่ตลอดเวลากับกาย เพื่อถอดถอนความหมายมั่น...ในความเป็นเรากับกาย ในความเป็นความสวยความงามของกาย ในความเป็นชายเป็นหญิงของกาย

ถ้ามันเห็นกายในกายไปเรื่อยๆ นี่ ...ไอ้กายในกายนี่ มันจะเป็นกายที่ปราศจากรูป ไอ้กายในกายที่มันเป็นกายที่ปราศจากรูปนี่ มันจึงจะเป็นกายที่ปราศจากอารมณ์ที่เนื่องด้วยรูปคือกามราคะ และปฏิฆะ

มันก็เห็นไปในตัวของมัน ไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไร ไม่มีแก่นสารสาระอันใด ไม่มีสวย ไม่มีงาม ไม่มีไม่สวยไม่งามแต่ประการใด ...มันจะเห็นอยู่อย่างนี้ 

มันก็ค่อยๆ เพิกถอนอารมณ์ที่เนื่องด้วยรูป..ที่รูปมันเนื่องด้วยกาย ...มันก็ชำระไปตลอดเวลาแห่งการที่ว่าทรงความรู้ตัวไว้ พออยู่ในมรรคนี่มันได้ตลอดสาย เข้าใจมั้ย ได้ความรู้ความเห็นอยู่ตลอดสาย 

แม้กระทั่งไม่มีอะไรมากระทบมัน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจากภายในก็ตาม มันก็ทำความเรียนรู้กับกองกายไปเป็นอาจิณ เป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา เพราะเรื่องของกายนี่ เรียนรู้ไปจนถึงพระอนาคามีน่ะ


โยม –  อย่างนี้บวชนี่ง่ายกว่าหรือเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  มันไม่จำเป็น มันอยู่ที่เหตุปัจจัยในการดำเนินไปในมรรค ...มันไม่ขึ้นกับการบวช-ไม่บวช มันขึ้นกับว่า เข้าใจ-ไม่เข้าใจ แล้วเอามาปฏิบัติได้หรือไม่ได้ แค่นั้นเอง


โยม –  ในโลกมันยึดถือมากกว่ารึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  มันเป็นคำกล่าวอ้างของจิต ...ถ้าพวกเรายังฝึกในลักษณะที่อยู่ในชีวิตประจำวันไม่ได้ แล้วยังไม่ชัดเจนชัดแจ้งนี่ มาบวชก็เหมือนเดิมน่ะ ...มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไร 

ก็อาจดูเป็นโลกที่มีเรื่องราวใหม่ๆ ความน่าติดข้องใหม่ๆ เหมือนกันน่ะ แล้วก็ติดเหมือนเดิม มันไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันไว้หรอก ว่ามัน..โอ้โห สงเคราะห์เต็มที่เลย ส่งรวดๆๆ หนุนๆ จนหลุดพ้นเลย ...นั่น ฝันหวาน 

เพราะนั้นต้องสร้างรากฐานของการอยู่ในมรรคให้แข็งแกร่งไป คือทำความรู้ตัวให้มาก ให้นาน ให้ต่อเนื่อง ให้ไม่ว่างเว้น ให้ไม่เกิดความดูดายกับการรู้ตัว ให้ขมีขมันขวนขวายไว้เป็นนิสัย

อย่าไปนั่งสบายๆ ลอยๆ ...เวลาที่มันไม่มีเรื่องมีราวอะไรแล้วสบาย ปล่อยอกปล่อยใจอย่างนี้ อย่าไปอยู่อย่างนั้น อย่าไปหาที่ว่าพักผ่อนอย่างนั้น อย่าไปพักกันแบบนั้น 

มันพักด้วยการปล่อยให้จิตมันเลื่อนลอยไหลหลงเนี่ย แล้วก็ไปเรียกใส่ชื่อว่าพัก...มันไม่ได้พักนะนั่นน่ะ มันจะต้องมาพักในสมาธิ มันต้องมาพักจิตอยู่กับความรู้ตัว

นี่เรียกว่าพัก จิตไม่ทำงาน พักจิตอยู่ที่ใจ พักจิตอยู่ที่กาย เรียกว่าพัก..พักผ่อนในสมาธิ  ...ไม่ใช่พักโดยอยู่ในโมหะ นั่นน่ะมันทำงานนะ เขาเรียกว่าโมหะนี่ทำงานแบบอันเดอร์กราวด์ 

คือมันไม่ได้ทำงานแบบเป็นตัวเป็นตนให้ชัดเจนหรอก มันทำงานแบบพวกจราชนนะ..พวกใต้ดิน  แล้วเดี๋ยวๆ มันก็ผุดขึ้นมา บอกให้ ไม่ได้พักจริงหรอกจิต

มันจะพักอยู่จริงๆ คือ มันพักในสมาธิ กับพักกับกายปัจจุบัน ...ซึ่งมันจะบอกว่า ตรงนั้นยังไม่ได้พัก เพราะมันจะต้องทรงไว้ รักษา ดูเหมือนต้องคอยประคับประคองไว้อยู่ ไม่งั้นมันจะล้มหาย ลืม

แต่จริงๆ น่ะมันเป็นการพักนะ แล้วมันจะเกิดกำลังขึ้นมาใหม่ ...ถ้ามันพักจิตบ่อยๆ จิตมันก็จะไม่อ่อนเปลี้ยเพลียแรง  ถ้ามันคิดทั้งวี่ทั้งวันนี่ จิตมันอ่อนเปลี้ยเพลียแรง

ให้มันพักซะหน่อย แต่ว่าพักอยู่ในสมาธิ ไม่ใช่พักอยู่กับความเลื่อนลอย หรือว่าพักอยู่กับความเผลอเพลินไปกับรูปที่ชอบ เสียงที่เพราะอย่างนี้...ไม่ใช่ นั่นมันไม่ได้พัก

อือ เอาแล้ว พอแล้ว พอสมควร


..................................





วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 14/32 (1)


พระอาจารย์
14/32 (570512F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 พฤษภาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เราถึงพร่ำสอนนักหนา...ว่าอย่าทิ้งเนื้อทิ้งตัว อย่าอยู่ลอยๆ  อย่าปล่อยนั่งนอนยืนเดินแบบสบายๆ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว

นี่คือการสร้างความคุ้นเคยในศีลสมาธิปัญญา ให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ให้มันอยู่กับฐานศีลสติสมาธิปัญญาไว้บ้าง ...แล้วก็ให้มันเกิดความคุ้นเคยต่อเนื่อง เป็นนิสัย

เพราะว่าเหตุการณ์ที่มันจะเกิดด้วยอำนาจกรรมวิบากที่มันชักนำมานี่ เราไม่รู้หรอก...วัน ณ  เวลา ณ  สถานที่ที่มันจะเกิด ที่มันจะเจอเหตุนั้นๆ มันไม่มีใครมีอำนาจรู้ล่วงหน้าหรอก

ยกเว้นบางท่านบางองค์ที่ท่านมีตบะ มีฌานสมาบัติ หรือมีอำนาจจิต ท่านก็อาจจะรู้บ้างว่า จะต้องรับกรรมส่วนนั้นส่วนนี้ อย่างหนักอย่างแรงด้วยนะ มันก็มี อย่างนี้เป็น accessory แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน

ซึ่งพวกเราคงไม่มีหรอก แล้วไม่ต้องไปควานหามันด้วย  ...คือไปแบบดุ่มๆ ล่ะวะ เจอก็เจอ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น  นั่น ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วก็เป็นผู้อาจหาญ..พร้อมที่จะเจอ 

พร้อมที่จะเผชิญในทุกสถานการณ์ ...ซึ่งกว่าจะผ่านแต่ละสถานการณ์น่ะ บอกให้เลยว่า เหนื่อย...เหนื่อยแล้วก็เสียเนื้อเสียตัวมาก ถูกล่วงเกินมาก แล้วก็เจ็บใจมาก คับข้องมาก

เป็นผลพวงของการเจริญศีลสมาธิปัญญา ....คือมันไม่สามารถตอบโต้ได้เลย แล้วมันก็จะเก็บมาเป็นสัญญาอีกหลายวันเลย แล้วก็มาตามล้างอยู่ในสัญญาอีกหลายวัน

ไอ้ตรงเนี้ย เห็นมั้ยว่า นักภาวนาหรือผู้ภาวนาอยู่ในศีลสมาธิปัญญาเบื้องต้นนี่ มันจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบทุกประตู ไม่ค่อยได้กำไร ...นี่คิดแบบบวกลบคูณหารในการเป็นอยู่ในโลกแล้ว...กูขาดทุนว่ะ

ตรงเนี้ยที่ว่ามันจะไม่ยอมใช้วิถีนี้เป็นทางดำเนิน ...เพราะมันจะไปเอาคืน นี่เวลาเจอเหตุการณ์ มันจะ...มึงแรงมา กูแรงไป เถียงคำไม่ตกฟาก หรือมันหยิบยกเรื่องนี้ กูก็หยิบยกเรื่องนั้น 

คือเอาให้เหนือกว่ามึงน่ะ อะไรอย่างนี้ สะใจดีโว้ย ...นี่ไม่ขาดทุน เนื้อตัวไม่เสียหาย ความเป็นเรายังแข็งแกร่งคงอยู่ ตัวตนของเรายังหนายิ่งกว่าซีเมนต์สมานไว้อีก

แต่พอมาอยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญานี่ กูโดนลูกเดียวๆๆ ...นั่น เลือกเอา ให้ทุกข์มันสอน ให้เชื่อว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าดี เชื่อว่าดี น่าจะดี  แล้วต้องดีต่อไปข้างหน้า ไม่วันใดก็วันหนึ่งล่ะวะ

เราจะต้องอยู่แบบอย่างนี้ ทำแบบอย่างนี้ เหมือนเป็นยาจกขอทาน ไม่มีอำนาจต่อรองกับใครเลย ...แต่ว่ามันกระเทือนไปถึงกิเลสภายใน มันจะมีความกระเทือนไปถึงบัลลังก์ของอวิชชาข้างใน

การที่กระทำในความเป็นไปด้วมรรคอย่างนี้ ดำรงชีวิต ดำรงต่อเหตุการณ์บุคคลอย่างนี้โดยมรรค ...มันกระเทือน แต่เรายังรับรู้ไม่ได้ถึงความกระเทือนของอาสวะภายใน 

ก็ให้มันกระเทือนจนมันกะเทาะ กะเทาะจนมันหลุดร่อน หลุดร่อนจนมันขาดหาย จางคลายต่อไป ...แต่ส่วนมากมันแค่กระเทือนนี่ กูไม่รอกะเทาะให้ร่อนหรอก...กูก็เลิกแล้ว  

เพราะว่ามันทนไม่ได้ต่อการถูกเหยียดหยาม เอาเปรียบ ดูถูก หรือเสียเปรียบเขาอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ที่กินน้ำใต้ศอกอยู่ตลอด ...กูจะไปกินเหนือศอก ใต้ศอกกูไม่กิน มีใครเขากินน้ำใต้ศอกกัน 

มันรู้สึกไงว่าตัวเองไปกินน้ำที่ใต้ศอกเขา นี่มันคิดเอาเอง มันก็เกิดความกังวล เป็นทุกข์ ที่มันเสียเปรียบ หรือว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอ มันก็พยายามรีบเร่งขวนขวายเพื่อจะสร้างคุณค่าของตัวเอง 

ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง...ด้วยวิชาเทพก็ได้ หรือวิชามารกูก็เอา ...แต่ส่วนมากไม่ใช่วิชาเทพนะ จะเป็นวิชามาร พ่นด่าเถียงเป็นไฟน่ะ นั่น เร็วที่สุดอาวุธไกลน่ะ คือปาก

มันคือการแก้ที่ไม่ถูกวิธี แต่นี่คือการแก้ของคนในโลกโดยทั่วไป...แก้ด้วยความไม่รู้ จะแก้กันอย่างนี้ ...เราถึงบอกว่าเป็นศิษย์มีครูนะ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านะ

เนี่ย มันจะเป็นที่เสื่อมเสียของพระพุทธะ พระธัมมะ พระสังฆะนะ  ถ้าเรายังปล่อยให้ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเป็นสรณะเป็นที่พึ่งนี่ โดยไม่แสดง ไม่ประกาศตัวเองให้โลกรู้

แต่ว่าการประกาศตัวเองอย่างนี้ ตัวเองน่ะจะต้องเจ็บ...คือ “ตัวเรา” จะต้องเจ็บ ...กายใจไม่เจ็บ แต่ “ตัวเรา” เจ็บ ...ต้องการให้ “ตัวเรา” มันเจ็บ ...ต้องการให้ “ตัวเรา” มันตายอยู่แล้ว

ถ้าไม่เจ็บมันจะไม่ตาย ถ้าไม่เจ็บมันจะไม่จำ ถ้าไม่เจ็บมันจะไม่รู้ว่า “ตัวเรา” มันเป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างไร เป็นต้นตอของทุกข์อย่างไร …นี่ เจ็บจนกว่าจะตายจากกันไป

เมื่อมันตายไปแล้วจะรู้ว่าขันธ์เนี่ยไม่มีเจ็บ ...กายไม่เจ็บ กายไม่เป็นทุกข์ของเรา ใจก็ไม่เคยเป็นทุกข์ของเราเลย นั่น ...แล้วจะอยู่กับโลกได้ โดยที่ไม่หวั่นไหว จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวเลยในสามโลกธาตุ 

คำว่าไม่หวั่นไหวเลย คือไม่มีจิตใดที่เกิดขึ้นมาหวั่นไหวเลย แต่ก่อนที่มันจะถึงจุดนี้น่ะ "ตัวเรา" จะถูกกระเทือนมากเลย จนกว่ามันจะล้ม ซึ่งล้มแล้วมันก็พยายามเหยียดตัวของมันเองจะขึ้นมาสู้อยู่อย่างนี้

ศีลสมาธิปัญญามันจะเข้าไปกำราบ ปราบ ซึ่งมันจะต้านอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้ล้ม ...จึงเกิดภาวะเจ็บ เพราะมันต้าน..ต้านศีลสมาธิปัญญา  มันจึงรู้สึกว่าเป็นทุกข์ของเราขึ้น ในการที่ยอมโดนเสียเปรียบอะไรพวกนี้

นั่นแหละ ต้องการตัวนี้เยอะๆ  จึงเรียกว่าทุกข์เท่านั้นแหละที่จะสอน ...สุขไม่สอนตัวเราเลย สุขให้อย่างเดียวคือติดและข้อง  แต่ทุกข์นี่มันจะสอนให้เจ็บและจำ และตัวมันจะล้ม ล้ม

แล้วสังเกต ถ้าไม่มีตัวมันหรือตัวเราชูคออ้าปากขึ้นมานี่ ทุกอย่างจะมีแต่ความราบเรียบ เสมอ เป็นกลาง ...แต่ถ้ามันได้ชูคอขึ้นมานะ เดี๋ยวมีเรื่อง เดี๋ยวเกิดเรื่อง เดี๋ยวเป็นเรื่อง ไม่สุขก็ทุกข์

จนจะต้องล้มมันลงมา คอยล้มมันลงมา ไม่ให้มันชูคอขึ้นมา  นี่คืออำนาจของศีลสมาธิปัญญาที่เพียรพยายามอยู่กับคำว่ารู้ตัวนั่นเอง ...เพราะว่าตัวจิตมันจะงอกเงยไม่ได้ หรืองอกเงยแบบไม่สะดวกดาย

ไม่เจริญงอกงามขึ้นมาเป็นเราเป็นเขา เป็นความคิดเป็นเรื่องราว เป็นอดีตอนาคต ...มันจะเจริญไม่ค่อยสะดวก มันจึงรู้สึกขัดๆ ขัดใจตัวมันเอง คือตัวเราเอง ไม่ได้ดั่งใจตัวเราเอง

ศีลสมาธิปัญญามันเป็นตัวที่คอยขัดขวางความคิด มันเป็นตัวที่ทำให้ความคิดไม่ต่อเนื่อง มันเป็นตัวที่ขัดขวางอารมณ์ เป็นตัวที่ทำให้อารมณ์นี่ไม่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทั้งดี ทั้งเลว ทั้งสุข ทั้งทุกข์

มันจะขัดขวางหมดเลย ตัวศีลสมาธิปัญญานี่ เพราะมันเป็นตัวที่ตรงกันข้ามกับการเกิดขึ้นของจิต หรือว่าการปล่อยให้จิตมันมีปัจจยาการสืบเนื่องออกไป

เพราะนั้นมันจึงแสดงอาการต้านทาน ไม่ยอม ขัดขืน แข็งขืน ..จึงรู้สึกว่ามีเราไม่พอใจ มีเราเป็นทุกข์ มีเรารู้สึกเสีย รู้สึกไม่ได้เป็นดั่งที่คุ้นเคย...เท่านั้นเอง

ถ้าเราข้ามผ่านอารมณ์นี้...แรกๆ ข้ามอารมณ์พวกนี้ได้ ล้มมันได้นี่ กำลังหรือรากฐานของสมาธิก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าจิตจะมีความแข็งแกร่งขึ้นในระดับสมาธิ

แต่ยังได้ชื่อแค่ว่าเป็นผู้ที่หรือเป็นจิตที่แข็งแกร่งอยู่ในระดับสมาธิ  ยังไม่ได้เป็นจิตที่แข็งแกร่งเหมือนแผ่นดินในระดับของปัญญา แต่ว่าต้องมีความแข็งแกร่งในระดับของสมาธินี้ก่อน

มันจึงจะไปสร้างความแข็งแกร่งของจิตในระดับปัญญา คือปล่อยวาง เข้าใจ ยอมรับโดยสมบูรณ์ โดยหมดจด โดยไม่มีเงื่อนไข โดยไม่มีลังเลสงสัย โดยไม่เสียดาย ไม่อาวรณ์ ...มันจะถึงปัญญาขั้นนั้นต่อไป

แต่ตอนนี้มันอยู่ในภาวะที่ล้ม สงบราบคาบด้วยอำนาจของสมาธิเท่านั้นก่อน ...แต่มันจะต้องไปตามขั้นตอน เราจะต้องสู้กับจิตตรงนี้ก่อน ไม่ตามมัน ไม่ให้มันมีอำนาจเหนือสมาธิ เหนือรู้ตัว เหนือกายปัจจุบัน

ต้องไม่ให้มันเหนือกว่า แล้วก็พอกพูน พากเพียร ต่อเนื่องไป ...ยากก็ยากแหละ มันไม่ใช่ของง่ายหรอก ยากทั้งนั้นแหละ โดยเฉพาะผู้ที่ติดข้องในอารมณ์นี่

ปุถุชนนี่คือผู้ที่หนาแน่นในอารมณ์ แล้วก็เป็นผู้ที่ติดข้องในอารมณ์ มันยากทั้งนั้นแหละ ...ไม่ได้แปลว่าปุถุชนเป็นผู้ที่สะดวกดายในการรับอารมณ์นะ มันเป็นผู้ที่ไม่ยอมผ่านอารมณ์ได้ง่ายๆ

แล้วไม่ยอมให้อารมณ์นั้นผ่านไปง่ายๆ หรือมันจะอยู่โดยปราศจากอารมณ์มิได้ ...เพราะมันเป็นผู้ที่เรียกว่าหนาแน่นด้วยกิเลส มันจึงจะคุ้นเคยกับการที่อยู่ด้วยอารมณ์ มีอารมณ์เป็นที่อยู่ อยู่ตลอดเวลา

จึงเป็นเรื่องที่ยากในเบื้องต้น ยากที่จะล้มจิตลง โค่น...ให้มันราบ ให้มันเรียบ ให้มันไม่ชูคออ้าปากขึ้นมา เงยหน้าอ้าปากขึ้นมา ...มันก็ศิโรราบ ค่อยๆ ศิโรราบลงมา

แต่ระหว่างศิโรราบ นี่ต้องใช้กำลัง ค่อยๆ ใช้กำลัง อึดอัดคับข้อง เสียเปรียบ ไม่ได้ดั่งใจ ไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ แล้วก็เขาก็ยังอย่างงั้นอย่างงี้ซ้ำซากอยู่ต่อไป ...นี่ เราจะต้องยอมอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

จนจิตมันเกิดความราบคาบในระดับสมาธิ แล้วมันจึงจะค่อยๆ ออกมารู้ออกมาเห็นในอาการของขันธ์ ในอาการของกาย ในเหตุแห่งขันธ์ ในเหตุแห่งกายที่กำลังปรากฏอยู่ ซ้ำลงไปอีกทีหนึ่ง

จึงก่อให้เกิดความแยกแยะ ความเข้าใจ วิจยธรรมในขันธ์ วิจยธรรมในกาย ออกจากสิ่งที่จริงและไม่จริง ออกจากความปรุงแต่งและไม่ได้ปรุงแต่ง


โยม –  มันต้องยอมไปเรื่อยๆ หรือครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  ยอมจนกว่า "เรา" จะตาย หรือ "เรา" จะหยุด หรือ "เรา" จะสงบ  แล้วมันจะเกิดความยอมด้วยความยินยอมต่อไป ...แต่ตอนนี้มันยอมแบบไม่ยินยอม


โยม –  มันยังสู้อยู่หรือครับ

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะมันต้านกันอยู่ กิเลสมันต้านกับอำนาจของสมาธิปัญญาอยู่ ...เพราะนั้นตรงส่วนที่มันต้านอยู่นี่ ส่วนมากเราจะแพ้มัน ศีลสมาธิปัญญามันจะแพ้อยู่แล้ว...จะแพ้มากกว่าชนะ

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความตั้งใจใส่ใจ พากเพียรต่อเนื่อง สม่ำเสมอไม่ขาดสาย ...ต่อไปจะเห็นเค้าลางของการที่ว่าชนะมากกว่าแพ้..มากขึ้น กำลังมันจะมากขึ้น ค่อยๆ มากขึ้น

แต่คราวนี้ถ้าเป็นผู้ที่มีความเพียรน้อยหรือว่ามีความท้อถอยนี่ มันจะยอมเลย ...พอมันแพ้ไม่กี่ครั้งนี่ สู้เหมือนกัน แต่แพ้ทุกครั้ง สู้เหมือนกันแต่แพ้ ...มันจะยอมเลย

ยอมให้มันเป็นไป กลืนกินเหมือนเดิม เป็นไปอย่างเดิม  คือยอมทิ้งศีลสมาธิปัญญาซะก่อน ...เนี่ย ที่ว่ามันไปไม่ถึงไหน ไปไม่รอด ไปไม่พ้น ข้ามไม่พ้น

เพราะนั้นมันแค่ก้าวข้ามไปสู่จุดที่เรียกว่าสมาธิยังไม่ได้เลย ยังไม่ถึงจุดที่จะเป็นการก้าวข้ามไปสู่ปัญญาเลย ...มันถึงแค่ศีล แค่สติ...ก็ลำบากแล้ว อย่างนั้น

ยิ่งเกิดเรื่องราวมา แล้วมันเกิดอาการที่มันดื้อดึงดันออกไป ที่จะแสดงอารมณ์ อาการ ...มันก็ล้มแล้ว ก้าวไม่ถึงสมาธิแล้ว ก้าวไม่ถึงจิตตั้งมั่นเป็นกลางแล้ว

แค่นี้ ไม่ต้องพูดถึงปัญญาญาณเลย ...มันก้าวไม่ถึงเลย ไม่มีโอกาสเอื้อม อาจเอื้อมถึงได้เลย


โยม –  ก้าวไม่ถึงก็ต้องยอมหรืออาจารย์

พระอาจารย์ –  ยอมอย่างเดียว อดทนอย่างเดียว ถึงบอกว่าอดทนหรือขันตินี่เป็นรากฐาน รากเหง้าหนึ่ง ...ถ้าไม่ทนน่ะ มันไม่มีทางเกิดสัมมาสมาธิได้เลย

มันจะตามใจอยาก ตามใจฉัน ตามใจเราอยู่ตลอดเวลา ให้ได้ดั่งใจเรา ดั่งความอยาก ดั่งความปรารถนาของเรา  อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะพูดอะไรก็จะพูด อยากจะมีกิเลสอะไรก็แสดงกิเลสอย่างนั้น

นี่มันจะตามอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีทางที่จะตั้งมั่นได้ด้วยจิตที่เป็นกลางได้เลย ...ถ้ายังข้ามไม่ถึงจุดนี้แล้วสร้างหรือฟูมฟักสติให้เกิดศีล ฟูมฟักศีลให้เกิดสมาธิในระดับนี้

มันจะไม่สามารถฟูมฟักสมาธิจนถึงระดับปัญญา คือความรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์...ที่ตรงนี้มันจะเกิดคำว่าเบ็ดเสร็จ ปัญญานี่เป็นตัวเบ็ดเสร็จ เบ็ดเสร็จในการละและการเลิก เบ็ดเสร็จในการถอดถอนกิเลส

เพราะนั้นตัวสมาธินี่ยังเป็นแค่ราบคาบเท่านั้น ศิโรราบ นอบน้อม แต่ยังไม่ยินยอมโดยสมบูรณ์ เข้าใจมั้ย อยู่ในระดับนี้เอง ...แต่ว่าในระดับสมาธินี่ มันก็จะมีความสุขในระดับของมัน ในการที่กิเลสไม่อาจหาญขึ้นมา

ต่อไปนะ มันจะเข้าไปถึงปัญญาจนถึงขั้นละเลิกเพิกถอนได้แล้ว ...มันก็จะมีความสุขในระดับของปัญญา ที่ไม่มีกิเลส ที่เป็นอิสระ...ต่อไป

เพราะนั้น ความสุขในศีลก็ระดับหนึ่ง ความสุขด้วยสมาธิก็ในระดับหนึ่ง ความสุขในระดับของปัญญาก็ยังอีกระดับหนึ่ง ...แล้วเราดูเลยว่าเราขาดขั้นตอนไหน เราอ่อนด้อยบกพร่องในขั้นตอนไหน

ไอ้ตอนนี้เราพูดถึงขั้นตอนสมาธินะ เรายังไม่ได้พูดถึงขั้นตอนที่ไม่รู้ตัวเลยนะ เห็นมั้ย ไอ้ขั้นตอนนัั้นคือขั้นตอนแรก คือสติกับศีล...ถ้ายังไม่มีตัวนี้ ไม่ต้องพูดถึงสมาธิ 

มันไม่มีทางเลยจะมาต่อสู้ต่อกรกับอารมณ์ของกิเลส ที่กำลังเห็นต่อหน้านี่  มันก็เป็นแบบ...มึงเอากูแน่เลยๆ กูต้องเอามึงก่อน ...เนี่ย มันไม่มีทางจะต่อกรกับตรงนี้ได้เลยนะ


(ต่อแทร็ก 14/32  ช่วง 2)