วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 14/36


พระอาจารย์
14/36 (570519B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
19 พฤษภาคม 2557


พระอาจารย์ –  นี่ การภาวนาในเรื่องกาย เรื่องศีล เรื่องปัจจุบัน เรื่องรู้ เรื่องรู้ตัว อยู่กับตัว...นี่ ถือว่าเป็นบรรทัดฐานแรก บทนำ บทที่หนึ่ง ...อ่านให้จบ รู้ให้รอบ และก็รู้ให้ตลอด เดี๋ยวมันก็จะจบบทที่หนึ่ง 

เนื้อเรื่องนี้ หนังสือเล่มนี้ ขันธ์กองนี้ มีอยู่ห้าบท ...เมื่ออ่านตลอดบทที่หนึ่ง เดี๋ยวก็ได้อ่านต่อไปบทที่สอง สาม สี่ ห้า...The end...จบ ไม่มีภาคต่อ ไม่มี Episode…one two three four ...จบคือจบ ห้าบทจบ 

ปิดตำรา ไม่ต้องเรียนแล้ว ไม่ต้องเกิดมาเรียนแล้ว มันครอบคลุมแล้ว...ห้าบท ครอบคลุมสรรพสิ่ง ครอบคลุมอนันตาจักรวาล ทั่วพิภพจบแดน...หมด เข้าใจหมดโดยตลอด

แต่ว่าบทที่หนึ่งนี่ บทบาทของกายนี่ เป็นบทบาทที่ยากที่สุด ...อ่านน่ะง่าย แต่อ่านโดยตลอดนี่ยาก ...ทำความรู้ความเห็นกับมันตรงไหนก็ได้..นี่ง่าย  แต่อ่านโดยตลอดต่อเนื่อง..นี่ยาก

ต้องอาศัยความเพียร ...เพราะมันจะมีเรื่องเล็ก เรื่องน้อย เรื่องใหญ่ เรื่องกลาง...ที่ยังคั่งค้างอยู่ ที่ยังไม่ลุล่วงตามประสาของเรา ...มันคอยเร้า คอยดึง คอยเบี่ยงเบนความสนใจออกไป 

ว่าไอ้นั่นไอ้นี่ เรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่สำคัญมาก สำคัญน้อย สำคัญที่สุดกว่า ...นั่น กายมันก็จะอยู่ในอันดับโหล่ๆๆ

หาไม่เจอเลย ระหว่างยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด ทำงาน สังคมกับคนอื่น ดูหนังฟังเพลง จะหากายไม่เจอเลย ...นี่มันอยู่อันดับไหนแล้วนี่ ไล่ไม่รู้เลย

คือตอนบวชอยู่วัดกันนี่อาจจะได้อันดับสอง แล้วก็สามวัน..สองจุดหนึ่ง เจ็ดวันหล่นมาอยู่สาม  พอใกล้ๆ จะสึกนี่ ประมาณรองโหล่ ...สึกแล้วจบ unlimited ไม่รู้อยู่ไหน

ถึงบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีไง ตอนบวชนี่ เพราะมันไม่มีอะไรให้ทำ ...แต่ไอ้เรื่องคั่งค้างนี่ยังมี สู้กันเองแล้วกัน ตัวใครตัวมัน ทำเรื่องไว้เยอะป่าว ติดค้างกับใครไว้เยอะป่าว 

หรือมีลูกหนี้เจ้าหนี้ไว้เยอะรึเปล่า เดี๋ยวมันก็มา เป็นสัญญา ...ก็ปัดทิ้ง ตัดทิ้ง คอยปัดทิ้ง ไม่เอ๊า...ท่องไว้ ไม่เอา รู้แค่นี้พอแล้ว  มันจะคิดโน้นคิดนี้...ไม่เอาๆ

ให้แรงๆ หน่อย ไอ้ "ไม่เอา" นี่...ไม่ใช่ “เอาอีก” ...จิตมันจะเอาอีก คิดต่อๆๆ คิดให้จบ ต้องคิดให้จบให้ได้ ...บ้ารึเปล่า ความคิดที่ไหนมีคำว่าจบ ...ไม่มีคำว่าจบนะความคิดนี่ 

หมดเรื่องนี้ก็กระโดดไปเรื่องนั้น หมดกับคนนั้นก็กระโดดไปคนนี้ ไม่มีคนนั้นคนนี้ก็คือกูเองข้างหน้าข้างหลัง ...มันจะจบตรงไหนความคิด ไม่มีคำว่าจบ คิดให้จบไม่มี มันเป็นภาษาหลอกของจิต

แล้วก็วนเวียนซ้ำซากนี่ เดี๋ยวก็วนกลับ วกกลับมาเรื่องเก่าอีก คนเก่าอีก...แต่เปลี่ยนวัน ณ เวลา ณ สถานที่ การกระทำ คำพูด ...นั่น ไม่มีคำว่าจบเลย

กายนี่จบ...อยู่ตรงนี้จบ ...มึงไม่จบ กูจะจบน่ะ มีอะไรรึเปล่า ...นี่ ต้องเล่นไม้แข็ง ทำไปเหอะ  ไม่คิดก็ไม่ตาย ไม่มีความคิดไม่มีอารมณ์ก็ไม่ตาย ...อย่าไปกลัวมัน ทิ้งมัน วางไว้ก่อน

เอาตรงนี้ก่อนๆ ถือเป็นภารกิจหลัก ถือเป็นงานหลัก เอากายเป็นงานหลักไว้ก่อน เอาขึ้นหน้า ...ตอนนี้ที่มันอยู่โหล่ๆๆ ก็ไล่ ไล่มา ...นี่ก็เริ่มไล่มาบ้าง แต่ยังไม่อยู่แถวหน้า

ไอ้พวกนั่งหลังชั้นน่ะ จะได้นั่งหลับ เข้าใจรึเปล่า  กูไม่อยากนั่งข้างหน้าครูน่ะ แถวหน้า เดี๋ยวมันหาว่ากูเป็นเด็กเรียน มันก็แถๆๆ ไปหาข้างหลัง นั่นแหละ

เพราะนั้น ตอนนี้ก็พยายามขยับกายมาอยู่แถวหน้า...เป็นเรื่องแรก เป็นเรื่องสำคัญเอาไว้ก่อน ...ได้-ไม่ได้ ถึง-ไม่ถึง ผลจะเกิดยังไงไม่รู้ เอาไว้ก่อน

ถ้าพระพุทธเจ้าบอกว่าดี คงไม่มีชั่วหรอก  ถ้าพระพุทธเจ้าบอกว่าจริง ก็คงไม่มีคำว่าหลอกหรอก  ถ้าพระพุทธเจ้าบอกว่าใช่ ก็หมายความว่าต้องใช่แน่ๆ 

ให้เชื่อไว้ก่อน เพราะว่านี่คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ภาษาที่ออกมาจากพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกบุรุษ เป็นเลิศในมนุษย์และสัตว์ ไม่มีสอง...หนึ่งไม่มีสอง 

เป็นบุคคลที่ว่าเอกบุรุษ ใครจะมาเทียบพระพุทธเจ้าได้ ...ถ้าคำไหนออกมาจากปากพระพุทธเจ้า หมายความว่าไม่มีคำว่าโกหกโป้ปดมดเท็จเลย

เพราะนั้น ถ้าท่านบอกว่าศีลคือศีล ศีลดีอย่างไร ศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิปัญญา เป็นไปสู่ความหลุดพ้นจากการเกิดการตาย ...มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วมันต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย ไม่เป็นอื่น

นี่ เชื่อไว้ก่อน สร้างความเชื่อ แกล้งเชื่อก็ได้ ยังเชื่อไม่จริง แกล้งเชื่อไว้ก่อน ไม่ผิด ...ก็ขยับกายมาอยู่แถวหน้า แล้วก็เป็นเรื่องสำคัญเบื้องหน้า เบื้องต้น

เรื่องอื่นไว้รอง หรืออันไหนไม่สำคัญน่ะ ทิ้งได้ทิ้งไป วางได้วางไป เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งที่มันเคยคิดซ้ำซากวนเวียนอะไร ปัดไป ทิ้งเลย

แต่ไอ้ที่มันยังทิ้งไม่ได้คือเรื่องใหญ่ๆ ที่มันยังให้ความสำคัญอยู่ แล้วมันไปกระทำ สร้างความเป็นโจทก์-จำเลยไว้ในอดีต เหล่านี้ มันก็จะมารบกวน

ซึ่งจะทิ้งไป...ก็ในลักษณะขว้างงูไม่พ้นคอ เดี๋ยวมันก็จะมาแว้งกัดอีก เกิดขึ้นมาอีก ...อันนี้ต้องทน เรื่องกายเป็นแถวหน้าไว้ก่อนๆๆ อย่างอื่นทีหลัง

อย่างน้อยก็บอกมัน ถ้ามันอยากคิดมากก็บอกมัน เดือนหน้าค่อยคิดโว้ย ค่อยไปคิดกันอีกทีหลัง เดือนนี้กูจะไม่คิด บวชๆ คือกายเป็นที่รวม เป็นที่แหล่งความรู้ แหล่งธรรมะ แหล่งสารธรรม

คือมันเป็นที่รวมแห่งสารธรรมทั้งหลาย เหมือนกับห้องสมุดใหญ่ ...แค่นั่งรู้ว่านั่งเฉยๆ นี่ คือความรู้อันยิ่ง ความรู้อันยิ่งใหญ่เลยนะ

แต่ไอ้จิตของเราหรือจิตกิเลสมันจะว่า ความรู้ปะติ๋วหนึ่ง ความรู้แค่เนี้ย ไม่เห็นประโยชน์ของความรู้นี้เลย สู้เอาเวลานี่ไปคิดค้นทฤษฎีต่างๆ นานาดีกว่า

ความน่าจะเป็น ความน่าจะได้ความสุข กินอย่างไร ไปอย่างไรถึงจะมีความสุขความสบาย ความลุล่วงปลอดโปร่ง นี่ มันยังดูเหมือนจะได้ประโยชน์มากกว่า

ไอ้แค่รู้ว่านั่ง...แล้วดูเหมือนมันจะมาเทียบกันกับที่มันได้ในความคิด มันดูเหมือนเทียบกันไม่ได้ ...นี่ก็จะต้องทวนมัน ต้องลบล้างความเชื่อเดิมๆ เบื้องต้นนี่ก่อน

แล้วก็เอาความเชื่อความเห็นที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ หรือครูบาอาจารย์ท่านวางไว้...ฝืนทำไปก่อน ฝืนทวนไปก่อน ทนทวนไปก่อน

มาอยู่กับกายที่มัน...ลึกๆ จิตมันก็บอก...ไม่รู้จะรู้ไปทำไม ไม่รู้ว่ารู้แล้วมันจะเกิดประโยชน์อันใด มองไม่เห็นเลย ...ทุกคนจะเริ่มต้นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้

แต่ภาวนาแบบกระต่ายขาเดียว หน้าด้านๆ ไม่ได้ก็ไม่ได้โว้ย แต่ก็ไม่ทิ้ง ไม่เลิก ...ยืนกราน ต้องอยู่ในลักษณะยืนกราน คืออ่านแล้วอ่านอีกหน้าเดียวนี่

ถ้าอ่านหน้าแรกนี่ ยังอ่านไม่ตลอด ยังอ่านไม่เข้าใจ อย่าพลิกหน้าอื่น อยู่อย่างนี้ นั่งรู้ยืนรู้เดินรู้ขยับรู้ ไหวรู้ เอี้ยวตัวรู้ หนักเบารู้ ตึงแน่นรู้ จนไม่ที่ว่างให้คิดน่ะ รู้อยู่กับกายนี่จนไม่มีที่ว่างให้จิตมันคิดน่ะ

นั่นน่ะต้องขยันรู้ขนาดนั้น แล้วมันจะเห็นอะไรลางๆ ขึ้นมา ...จิตมันจะเกิดความแช่มชื่น โดยที่ไม่ต้องไปนั่งหลับหูหลับตาเลย มันเหมือนรีเฟรช สดชื่นขึ้นมา

วนเวียนอยู่ในนี้ วนเวียนอยู่กับตรงนี้ ตรงนั้น ตรงโน้น  ความรู้สึกในทั่วตัวกายนี่  ...แล้วทำเป็นแกล้ง ทำเป็นลืมเรื่องความคิด เรื่องอดีต-อนาคต...ลืมไปก่อน แกล้งลืมไปก็ได้

แล้วก็มาทำความรู้ตัว ห้านาที สิบนาที ด้วยความต่อเนื่อง มันจะเกิดพลังความสดชื่นขึ้นมาภายใน ...ไอ้ตัวนั้นน่ะเรียกว่าจิตสมาธิเริ่มก่อเกิดขึ้นมา ตั้งมั่นมีกำลัง...นี่คือบาทฐานของปัญญา

ก็ทำบ่อยๆ ดีกว่าไปคิดเรื่องราว เหตุการณ์บ้านเมือง หรือการบุคคลที่รัก บุคคลที่ชัง ...เอาไว้ก่อน เอาไว้คิดตอนหลังสึกออกไป หรือดีไม่ดีอาจจะไม่คิดเลยตลอดชีวิต...นี่ยิ่งดี

เป็นผู้ไร้บ้าน เป็นผู้สิ้นเนื้อประดาตัว เป็นที่ผู้เรียกว่าไม่มีหัวนอนปลายตีน ไม่มีหลักแหล่งผูกพันมั่นหมายกับที่ใดที่หนึ่ง ไปไหนก็ได้ อยู่ไหนก็ได้ มีที่อยู่ก็ได้ ไม่มีที่อยู่ก็ได้

เนี่ย เป็นพวกจรจัด homeless ...อนาคามีนะนี่ อนาคามี...อนาคามีเป็นผู้ไร้บ้าน สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีสมบัติเลย ...มันจึงไม่มีความผูกพันในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นที่ห่วงรั้ง เป็นที่ห่วงหาอาวรณ์

เรียกว่าเหมือนสมบัติไม่มี ยากจนข้นแค้น แต่อิ่มเต็มไปด้วยธรรมความเป็นจริงในปัจจุบัน ...ดีเลย ดีไม่ดีอาจจะดีไปเลยก็ได้ แม่อย่าร้องไห้แล้วกัน ไม่แน่ เห็นมั้ย มันตั้งใจได้นี่

อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้ อย่าไปคิดว่า เออ แค่ลองๆ ...ต้องจริงๆ ไม่มีคำว่าลอง ภาวนาไม่มีคำว่าลอง...ต้องจริง ...แล้วก็ไม่ได้พูดให้แค่คนบวช คนไม่บวชด้วย ต้องทำ...โดยไม่ว่างเว้น โดยไม่เลือกสถานะ 

เพราะมีสถานะ-ไม่มีสถานะ ยังไงก็ตาย เหมือนกัน จะอยู่ในสถานะไหนก็ตายเหมือนกัน ...มันจะมาเลือก มันจะมาแบ่งไม่ได้ มันจะมารั้งจะมารอไม่ได้ 

ความตายไม่รั้งรอ ไม่รอใครเลย แล้วก็ไม่มีหยุดรั้ง หรือมีเวลานอกสำหรับสถานะใดสถานะหนึ่งด้วย...ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้า ยังหนีไม่พ้นมรณะภัย

ไม่ต้องอ้างว่า มันเป็นหน้าที่ของผู้ที่เป็นนักบวช หรือผู้ที่จะต้องบวชถึงจะทำได้เท่านั้น...ไม่อ้าง ...ภาษาอังกฤษว่า right here, right now ...ที่นี้ เดี๋ยวนี้ คือที่ภาวนา เวลาภาวนา

ไม่มีรู้...ทำรู้ให้ปรากฏ ไม่มีกาย...ทำกายให้ปรากฏ ...มันมีอยู่น่ะตลอดเวลา กายก็มีอยู่ตลอดเวลา ...อย่าให้มันจมหายไปในความคิด อย่าให้มันจมหายไปกับอดีตอนาคต

อย่าให้มันจมหายไปกับเรื่องราวในโลก อย่าให้มันจมหายไปกับรูปเสียงกลิ่นรส ความจำ อารมณ์ ความอยากความไม่อยาก ทุกข์สุขแต่ประการใด ...อย่าให้มันจมหายไปในสิ่งเหล่านั้น

ขุดค้นมันขึ้นมา แล้วก็ทรงไว้ในระดับปกติที่มันมี ที่มันเป็น ...ไม่ให้ดีกว่านั้น ไม่ให้เลวกว่านั้น ...ปกติ นั่งปกติ ยืนปกติ ว่าปกตินั่งรู้สึกยังไง ปกติยืนรู้สึกยังไง

ความรู้สึกปกติระหว่างการยืนการเดินของกายเป็นยังไง นั่นน่ะทรงไว้ เดี๋ยวมันจมหาย ดำดิ่งไปในอารมณ์ที่มันปรุงขึ้นมาบัง อดีตอนาคตกลบ บัง หายไปซะอย่างงั้น

แต่กายจริงๆ ไม่หายนะ...มีอยู่ แต่มันถูกกลบบัง ...นี่คือรากฐานของการภาวนา เริ่มต้นของการภาวนา มันไม่มีที่อื่นเลยที่เป็นที่ภาวนา ตลอดสาย ที่นี้...คือที่ภาวนา

ถ้าเข้าใจคำว่าที่นี้ภาวนาแล้วไม่จำเป็นหรอกว่าจะบวชจะสึก จะเป็นผู้หญิงผู้ชาย จะเป็นผู้มีหน้าที่การงาน หรือไม่มีหน้าที่การงาน เป็นผู้ที่มีเรื่องราวมากมาย...ไม่เกี่ยว

ถือปัจจุบันเป็นที่ภาวนา ไม่กลัวเรื่องราวเหตุการณ์ยากลำบาก หนักหน่วง เป็นตายร้ายดีอะไร  ...ทีนี้ก็จะได้ปัญญาติดเนื้อติดตัวไป สามารถเอาไปใช้ได้ทุกเวลาทุกสถานการณ์

เอ้า เอาแล้ว เดี๋ยวจะเจอฝนซะก่อน ...ไปอยู่กับความเงียบ ไปอยู่กับความมืด ให้คุ้นเคย ...ไปอยู่กับผี คุยกับผีให้รู้เรื่อง จะได้ทำความคุ้นเคยกับผี หรือสิ่งที่มันมองไม่เห็น

ว่าใครหลอกกันแน่  จิตมันหลอกหรือผีมันหลอก แล้วก็จะเออ เท่านั้นแหละ ...ลองของ ลองสถานที่จริง แล้วจะรู้ว่า โอ น่าอยู่โว้ย ไม่น่าไปไหนเลย


..................................





วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 14/35 (2)


พระอาจารย์
14/35 (570519A)
19 พฤษภาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 14/35  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ส่วนผู้ใดคนใดที่มีความขวนขวาย ก่อร่างสร้างศีลสมาธิปัญญาขึ้นภายใน ทำความรู้แจ้งรู้จริงรู้ชัดกับกายกับขันธ์ มันก็สามารถเห็นประตูออก เห็นทางออกจากคุก ...ก็เล็ดรอดออกไป

ปัญหาคือว่า...ท่านไปแล้วไม่กลับไง ไปแล้วไปลับ ไม่ได้กลับมาส่งข่าว ...มันก็ดูเหมือนว่าไม่มีอะไร ไม่มีผู้ส่งสาร แบบถาวรยั่งยืน

ท่านก็..สมมุติออกไปปุ๊บ อายุขัย อายุขันธ์ยังไม่หมด ...ท่านก็ใช้เวลาช่วงนั้นน่ะป่าวร้องป่าวประกาศอยู่นอกคุกหน้าคุก ว่าออกทางนี้ๆ เดินมาทางนี้ ทำตัวอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ 

ปฏิบัติตัวอย่างนี้ แล้วมันจะออกมาถึงหน้าประตูคุกได้ แล้วมันก็จะมีกำลังพอที่จะแง้มประตู ...ประตูนี้ไม่ได้ล็อกตาย ปิดตายตัว หรือว่าซีลแบบหนาแน่น

ถ้ามาตามทางนี้ มันมีกำลังที่จะสามารถเปิดออกได้โดยลำพัง ไม่ต้องอาศัยใครช่วย...เพราะท่านก็ได้แต่ช่วยว่า มาทางนี้นะ ..แต่มันไม่ค่อยมีคนฟัง หรือมันฟังแล้วก็เอาหูทวนลม

หรือมันไม่ค่อยสนุกกว่าการที่ไปทำพูดคิดตามอำเภอใจ ตามอำเภออารมณ์ อำเภอความอยาก ความไม่อยาก มันก็เลือกเส้นทางเดิมๆ วิถีเดิมๆ สบาย...มันคิดว่าสบายกว่า มันไม่รู้สึกเลยว่าถูกจองจำ

แล้วไงล่ะ ...ท่านหมดแรงประกาศเมื่อไหร่ ไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาพูดซ้ำให้รกหูอีกแล้ว ...การเล็ดรอดออกมาจากคุก จากกองขันธ์ ในยุคในรุ่นต่อไป ก็เริ่มทิ้งช่วงห่างขึ้นๆ

จนถึงขั้นที่เรียกว่า ไม่มีผู้ใดเล็ดรอดออกมาได้เลย...นี่ ปิดประตูตาย สิ้นอายุพระศาสนา ไม่ได้เห็นเดือนเห็นดาว ไม่ได้ยินเสียงมารกหูรกตา

แต่ว่ามันสนุกเผลอเพลินมัวเมาอยู่ในนั้นกัน ไม่รู้เท่าไหร่ ไม่สามารถนับอายุเวลาเป็นปีเดือนได้เลยที่กว่าจะมีพุทธกัป หรือการอุบัติขึ้น ตรัสรู้ขึ้นของเหล่าพุทธะ

เนี้ย คือความน่ากลัวของความที่ว่า...ปล่อยปละละเลย ใช้ชีวิตแบบสบายๆ โดยไม่เห็นคุณค่าของการเกิด โดยไม่อาศัยการเกิดนี้เป็นบันไดไต่เต้า

การเกิด หมายถึงการเกิดแล้วมีขันธ์ อาศัยการเกิดที่มีขันธ์ แล้วอาศัยขันธ์นี่เป็นตัวไต่เต้าไปสู่ปัญญา ไปสู่ความรู้แจ้ง รู้จริง รู้อันชอบ รู้อันควร ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

ตรงนี้เป็นประตูเดียว ทางเดียว ที่จะออกจากการจองจำในวัฏฏะวน วัฏฏะจิต วัฏฏะสงสาร

เพราะนั้นเมื่อมีโอกาส แม้จะเป็นช่วงเวลาอันน้อยนิด นับเป็นเปอร์เซ็นต์ในการเกิดในอายุขัย...ไม่ถึงจุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของชีวิต

จะหนึ่งเดือน สองเดือนก็ตาม แม้จะถึงหนึ่งปีก็ตาม เราก็ยังว่าไม่ถึงเศษหนึ่งในร้อย ...แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดี...ที่หาได้ยากสำหรับคนนั้นๆ

เพราะบางคนเกิดมาไม่เคยมีโอกาส อยากมีโอกาสก็ไม่มีโอกาส หรือได้โอกาสแต่ก็ทิ้งโอกาสก็เยอะ หรือไม่เห็นโอกาส หรือไม่ให้ความสำคัญเลยก็เยอะ

เพราะนั้น เรามีโอกาส เราได้โอกาส เราใช้โอกาสนี้...ซึ่งหาได้ยาก หาได้น้อย...ก็ใช้ให้อย่างเต็มกำลัง มันก็จะได้การสะสมพอกพูนความรู้ที่แท้จริงนี่ ติดเนื้อติดตัว ติดกายติดจิตติดใจไปทุกภพทุกชาติ

เหมือนเกิดมากี่ครั้งกี่สมัย มันก็จะมีตัวนี้คอยกระตุ้นเร้าภายใน ให้หวนคืนสู่เส้นทางแห่งมรรค ให้เกิดความมีศรัทธาในการปฏิบัติในองค์มรรค ไม่สาบสูญ ไม่สูญหาย

แล้วมันติดเนื้อติดตัวไปทุกภพทุกชาติ ไม่มีใครมาขโมยได้ แย่งชิงได้ หรือแม้กระทั่งไปแบ่งสันปันส่วนให้คนอื่นก็ไม่ได้ ...นี่ มันเป็นส่วนสมบัติจำเพาะเลย

ศีลสมาธิปัญญานี่...เป็นเรื่องของใครของมัน มันเป็นสมบัติส่วนตัวที่ไม่มีคำว่าสาบสูญหรือสูญหาย จะแบ่งปันเจือจานแจกจ่ายหรือให้ใครก็ไม่ได้

แล้วก็จะสะสมเพิ่มพูน พอกพูนไปทุกภพทุกชาติ ...เพราะมันจะมีแรงเร้าแรงกระตุ้นอยู่ภายใน...ที่ไม่ให้ห่างไกลจากวิถีแห่งการปฏิบัติ ตรงต่อองค์มรรค ตรงต่อความหลุดพ้น

ไม่ใช่ตรงไปสู่ความติดข้องถ่ายเดียว อย่างทุกวันนี้คนในโลกนี่ มันเป็นไปเพื่อความติดข้องถ่ายเดียว ไม่มีคำว่าหลุดพ้นเลย ไม่มีคำว่าทำพูดคิดไปเพื่อความหลุดพ้นเลย

อย่างมากหลุดพ้นจากทุกข์แล้วไปหาสุข แค่นั้นน่ะดีที่สุด ...ก็ติดใหม่ เขาเรียกอะไร หนีเสือมาปะเก้งกวาง เดี๋ยวเก้งกวางก็โดนเสือหรือสิงโตมากิน แล้วเอาไงล่ะ

เหมือนกัน นี่ ปัญญาในทางโลกนี่ หนีทุกข์ แก้ทุกข์...เพื่อจะให้เกิดสุขเป็นที่รองรับ เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัย เป็นสรณะ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่ตายใจ เป็นที่อุ่นใจ

แต่ว่ามรรคนี่ ไม่ได้อาศัยตรงนี้เป็นที่พึ่ง ...อาศัยศีลสมาธิปัญญาเป็นที่พึ่ง อาศัยพุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นที่พึ่ง มันจะไม่เป็นลักษณะหนีเสือปะจระเข้ หนีเสือไปเจอกวาง หนีกวางไปเจอกระต่าย 

หนีกระต่ายไปเจอกระรอก หนีกระรอกไปเจอแมว หนีแมวไปเจอหมา หนีหมาไปเจองู ...พึ่งไม่ได้สักอย่าง สุดท้ายพึ่งอะไรไม่ได้สักอย่าง

แต่ว่าพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ตลอดจนถึงไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญา...พึ่งได้จริง ...แต่ตอนนี้ยังพึ่งไม่ได้จริง มันยังพึ่งกันแค่หลอกๆ อยู่...เพราะยังไม่ถึงจริง

มันยังไม่ถึงตัวพุทธะ ธัมมะ สังฆะ...ที่จริง ที่แท้ ที่ใช่  จนถึงเรียกว่าพูดได้เต็มปากเต็มใจว่าพึ่งได้จริง  เพราะนั้นการภาวนานี่ ก็เพื่อให้เข้าถึงจริง  

พึ่งศีล พึ่งกาย...กายคือศีล ปกติกายเป็นที่พึ่ง เป็นที่อยู่ ในทุกสถานการณ์...ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะหนัก จะบีบคั้น จะลำบากทรมาน จะอึดอัดคับข้อง จะยาก จะสูง จะใหญ่โต จะลำบากยิ่ง

ต้องอาศัยกายอาศัยศีลเป็นที่พึ่ง...ในที่ตรงนั้น ระหว่างนั้นให้ได้...โดยไม่มีข้อแม้ข้อจำกัด ด้วยความพากเพียรอดทน ...เช่นเวลาเขาพูดไม่ดี ก็อย่าไปอยู่ที่เสียง ก็อย่าไปอยู่ที่การแปลคำพูด 

ก็อย่าไปอยู่ที่คิดไปถึงอดีตอนาคตของตัวเราตัวเขาข้างหน้าข้างหลัง ...ไอ้สิ่งเหล่านี้ การไปอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จะพึ่งไม่ได้เลย เป็นทุกข์ มืดบอด หาทางออกไม่ได้

แต่ในขณะที่เขาด่าเขาพูดอะไรไม่ดี โดยเฉพาะเจาะจงมาที่ตัวเราชื่อเรานี่ ...ถ้าเอาศีลเป็นเครื่องอยู่ ก็คือมากำหนดระลึกอยู่กับอาการยืน หรืออาการนั่ง ความรู้สึกในการยืนหรือในการนั่ง

ถ้าอย่างนี้เรียกว่าอาศัยศีลเป็นสรณะ คุ้มครองใจ คุ้มครองจิต ไม่ให้มันแตกกระสานซ่านกระเซ็นไปตามเสียง ไปตามอดีต ไปตามอนาคต ไปตามความหมายของเสียงต่างๆ นานา

เนี่ย ตัวศีลมันจึงเป็นตัวที่คุ้มครองจิต ไม่ให้เกิดความเศร้าหมองขุ่นมัวมากไปกว่าเท่าที่กำลังเป็น ...ตอนนั้นมันต้องเป็นอยู่แล้ว ความโกรธ ความขุ่นมัว ความหงุดหงิด น่ะ มันต้องมี

เพราะปัญญาเราไม่ได้เป็นระดับที่เรียกว่าฉับพลัน...มันต้องเกิดก่อนน่ะ ค่อยรู้ทีหลัง ...ทีนี้ก็ต้องอาศัยกำลัง ที่จะตั้งมั่นให้ได้ อยู่กับกาย ท่ามกลางมรสุมเสียง หรือมรสุมรูป ที่ไม่ได้ดั่งปรารถนา

เนี่ย ภาวนา จึงดูเหมือนในขณะนั้น ท่ามกลางเหตุการณ์สถานการณ์นั้น จะรู้สึกว่าถูกล่วงเกิน เสียเปรียบ ถ้าไม่ได้ทำการตอบโต้ แล้วรู้สึกว่าเสียหายต่อ “ตัวเรา”

ซึ่งในทางตรงกันข้าม เราบอกว่าดี ให้มันเสียไปเลย “เรา” น่ะ ไม่ต้องการให้มีเรา ...มันเสียหายต่อ “เรา” ...ดี  จะได้ไม่ต้องมี "เรา" ไปรับทุกข์รับสุขข้างหน้าเลย

แต่มันไม่ยอมเสียหายของเราไง มันกลัวเราสูญเสีย เสียหาย เสียกำลัง หรือถูกลบล้างไป ถูกอำนาจอื่นมาลบล้างอำนาจของเราไป แล้วมันหวงแหนความเป็นเราไง

มันก็เลยเกิดภาวะที่ว่าไม่ยอม มันก็เกิดการก้าวล่วงไปตามอารมณ์ ความอยาก-ความไม่อยาก ไปเผากัน ผลาญกัน สร้างความเร่าร้อนให้กัน ทิ่มแทงกัน เบียดเบียนกัน เสียดแทงกัน

เนี่ย มันต้องต่อสู้กันอย่างนี้ เอาศีลเป็นเครื่องต่อสู้ เอากายเป็นฐานของจิตไม่ให้มันกระโดดข้ามออกไป ข้ามกาย ข้ามความรู้สึกของกายตัวเองขณะนั้นออกไป

นี่คือลักษณะของผู้ปฏิบัติ ตามมรรค ในมรรค ...จะต้องอยู่ในลักษณะอาการนี้ เสมอ ทุกเรื่อง...ยอมได้ทุกเรื่อง สละได้ทุกเรื่อง ที่มันจะมาล่วงเกินความเป็นตัวเราของเรา

จนไม่มี “เรา” ให้ล่วงเกิน  จนไม่รู้สึกว่ามี “เรา” ถูกล่วงเกิน นั่นแหละสบาย เมื่อนั้นแหละสบาย ...ไม่โดน “เรา” เลย เขาว่ามานี่ ฝนตกแดดออกมานี่ ไม่โดนเรา โดนแต่กาย...ไม่โดนเรา

มันก็เลยไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ กับแดด กับลม กับฝน  แม้กระทั่งตัวกายมันจะปวด มันจะเมื่อย มันจะฉีกขาด มันจะเผ็ดร้อนแสบร้อน...ก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของกาย ...มันก็ไม่มีทุกข์ 

นี่ ผู้ที่อยู่เหนือทุกข์ จะอยู่กันอย่างนี้ ...เพราะท่านไม่ได้อยู่กับ “เรา”  ท่านอยู่กับขันธ์ แล้วแต่ขันธ์มันจะเป็นไป ไม่ได้คาดหมายอะไรกับขันธ์ เพราะไม่มีเราเป็นผู้ไปคอยคาดหมายอะไรกับขันธ์อดีต ขันธ์อนาคต 

แล้วจะรู้ว่า เนี่ย ที่พระพุทธเจ้าสอน ...ให้ถึงจุดนี้แล้วจะรู้ว่าสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน คือสุขที่ไม่มีเราในขันธ์นั่นเอง ไม่มีเราในโลกนั่นเอง ไม่มีเราในสามโลกนั่นเอง แล้วจะรู้ว่าสุขที่แท้จริงคืออะไร

แต่ถ้ายังมีเราเป็นผู้สุข ยังมีเราผู้ไม่ปรารถนาทุกข์ ยังมีเราผู้เหนี่ยวรั้งสุขไว้นานๆ ...ผู้นั้นจะไม่พบกับความสุขที่แท้จริง เพราะมันยังเป็นแค่ความสุขของ “เรา” ดาดๆ ดื่นๆ ทั่วไป

การภาวนาจึงเข้าไปสู่สภาวะที่ลึกซึ้งกว่านั้น


(ต่อแทร็ก 14/36)



แทร็ก 14/35 (1)



พระอาจารย์
14/35 (570519A)
19 พฤษภาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ตั้งใจให้ดี ใช้เวลาให้มันหมดไปกับการภาวนาให้มาก พบปะพูดคุยสุงสิงให้น้อย อยู่กับตัวเองให้มาก ดู เรียนรู้ภายใน ความเป็นไปของกายเป็นหลัก ดูความเป็นไปของกาย

แทนที่จะปล่อยให้มันล่วงเลยไปเปล่าๆ ลอยๆ  ก็ให้มันมาคอยสอดส่อง สังเกต เท่าทันอาการในกาย พฤติกรรมของกายนี่ ...นี่คือภาวนาอยู่ตลอด

มีเวลาตรงไหน ทำอะไรอยู่...ก็คอยมีสติ จับไปตามอาการน้อยใหญ่ของกาย หนักเบา มันอยู่ยังไง มันแสดงอาการอะไรบ้าง

อย่าให้มันหายไป ลืมเนื้อลืมตัว เพลินกับความคิด เพลินไปกับสถานที่ เพลินไปกับรูปเสียงภายนอกอะไรพวกนี้ ...มันก็จะไม่ได้ประโยชน์ของการภาวนา

การภาวนาก็คือการทำความรู้ให้เกิดขึ้นภายใน คือโดยสติ ทำความรู้ให้เกิดขึ้นแทนที่ความไม่รู้ ...เพราะตลอดที่ผ่านมามันอยู่กับความไม่รู้ ทำอะไรก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว

พูด ทำ คิดอะไรก็ไม่รู้  ทำไปตามความเคยชินแล้วก็คุ้นเคย ...มันไม่รู้ แม้แต่อาการยืน อาการเดิน  มันก็ยังไม่รู้สึกจริงๆ ถึงการยืนการเดิน ...มันยืนไม่เป็น มันเดินไม่เป็น

เพราะมันเดินไป มันก็ไม่รู้สึกถึงการเดินเลย  ไม่รู้สึกถึงกายที่มันกำลังก้าวเดิน มันรู้สึกยังไง มันตึงมันแน่น มันเกร็ง มันเหยียด มันกระทบ มันหนัก มันเคลื่อน มันไหว มันวูบ มันวาบยังไง

ก็ต้องมาฝึกยืนเดินนั่งนอนกันใหม่ ...ทั้งๆ ที่ว่าเป็นคนมาตั้งนานแล้ว แต่ว่ายังยืนเดินนั่งนอนไม่เป็น...ไม่เป็นคน ไม่เป็นไปตามสภาพที่แท้จริงของมัน

นี่คือการเรียนรู้...เรียกว่าการเรียนรู้เรื่องของกาย ...ก็กลับมาเรียนรู้ภายในแล้วก็ถ้าไม่ฝึกไม่หัด ไม่ภาวนา ในเวลาเหล่านี้ มันก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญญาอะไรเลย

มันก็สูญเปล่าตายเปล่าไปกับการเกิดในครั้งหนึ่ง ...นี่ การที่กลับมา ตรงนี้มันเป็นบาทฐานรากฐานให้เกิดความรู้ยิ่ง ความรู้จริง ความรู้แจ้ง ความรู้ตามสภาพที่แท้จริง

เมื่อมันรู้สภาพที่แท้จริง มันเข้าไปเห็นสภาพที่แท้จริงของตัวเอง ของกาย ของขันธ์นี่ ...ตรงเนี้ย มันจะแก้ปัญหาที่มันแก้อะไรไม่ได้ ที่มันติดค้างข้องคา ที่มันไม่ลุล่วง

ที่มันรู้สึกอึดอัดคับข้อง ที่มันมีแต่ความวิตกกังวล มีแต่ความหวั่นกลัวพรั่นพรึง ..แม้กระทั่งฝนตกฟ้าร้องลมพายุ แผ่นดินไหวก็ยังประหวั่นพรั่นพรึง

แต่ถ้ามันเข้าไปเห็น เกิดปัญญาเห็นความเป็นจริง เห็นสภาพความเป็นจริง...พวกนี้ อาการพวกนี้มันจะทุเลาเบาบางจนหมดสิ้นไปเลย

มันมีความรู้ มันมีความเข้าใจในทุกสิ่งทุกเรื่อง ทุกสภาพ ทุกสถานการณ์ ทุกเหตุการณ์ ทุกลักษณะการปรากฏ ไม่ว่าในหรือนอก...ในคือองค์ขันธ์ นอกคือเรื่องราวต่างๆ ของสัตว์บุคคล

มันก็เกิดความลุล่วง ไม่ติดค้างข้องคาตรงที่ใดที่หนึ่ง มาเป็นความขมวดเป็นปมที่ข้ามไม่ได้ หรือว่ามารัดรึง ...นี่คืออานิสงส์ของการภาวนาอยู่ในที่อันเดียว ที่ว่ารู้อันเดียว รู้ให้จริง

รู้เรื่องกาย รู้เป็นหนึ่ง รู้กับสิ่งที่เป็นหนึ่งนี่...ก็เรียกว่ามันจะทำให้เกิดสมาธิจิตหนึ่ง จิตตั้งมั่น ...รู้ให้จริง มันจะเกิดความเข้าไปถึงความเป็นจริงในมัน แล้วก็เข้าไปเห็นความเป็นจริง

ซึ่งเราอยู่กับมันแบบดูดายมานาน ไม่ใช่แค่ชาติเดียว มันดูดายกับกายนี้ทุกการเกิด ทุกครั้งที่เกิดมาเป็นคน นับชาติไม่ถ้วน มันก็เกิดมาแล้วก็ดูดาย 

ไม่ขวนขวาย ไม่ใส่ใจ ไม่ขุดค้น ไม่ค้นคว้าหาความเป็นจริงในสิ่งที่มันมีอยู่จริง คือปัจจุบันกายนี่ ...แต่มันกลับไพล่ไปค้นคว้าหาความเป็นจริงภายนอก

มันก็ไปค้นคว้าหาความเป็นจริงในความคิด ในเรื่องราวต่างๆ  ค้นคว้าหาความถูกความผิดในเรื่องการกระทำคำพูด ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างนอก ...มันก็จะไปหาความเป็นจริงกับไอ้ตรงนั้น 

แล้วมันก็คิดว่า เข้าใจว่า แล้วมันก็คาดว่า มันน่าจะ หรือต้องได้ความเป็นจริงให้จงได้ ...ซึ่งต่างๆ เหล่านี้ ที่มันกำลังไปค้นหาความเป็นจริงอย่างที่มันคุ้นเคยนี่ ...มันไม่มีความเป็นจริงในนั้น 

มันไม่มีความจริง ...ค้นเท่าไหร่ก็จะไม่เจอ ไม่เห็นความจริง เพราะมันไม่มีความจริงในนั้น ...เพราะว่ามันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา หรือท่านใช้คำภาษาว่า...เป็นแค่มายา 

ความคิด จิต อารมณ์ ความรู้สึกในความคิด ความเป็นจริงจัง เรื่องราวตามบัญญัติสมมุติอะไรพวกนี้ มันเป็นมายา เหมือนพยับแดด พยับหมอก ...มันไม่มีความเป็นจริงอะไรในนั้น หาเท่าไหร่ก็จะไม่เจอหรอก

ยิ่งคิดยิ่งค้นเอาถูกเอาผิด หาถูกหาผิด หาคุณหาโทษ หาชอบหาไม่ชอบ หาควร หาใช่ หาโทษ หาคุณกับมันนี่ มันไม่มีๆ ...แต่ด้วยความไม่รู้นี่ มันไม่เข้าใจว่ามันกำลังทำอะไรกันอยู่

มันเหมือนไปนั่งตะปบเงาน่ะ แล้วก็พยายามจะหาอะไรในเงาน่ะ...ว่าในเงาน่ะมันมีอะไรอยู่ในนั้น ถูก-ผิด คุณ-โทษ ใช่-ไม่ใช่ น่าชอบหรือน่าชัง ...แล้วก็จริงจังแบบไม่ยอมปล่อยมือเลย

นี่ ด้วยความไม่รู้นี่ มันทำอาการอย่างนี้อยู่ตลอด ทุกตัวคนไป ...เพราะนั้นมันจะยิ่งคิดยิ่งค้นไปเท่าไหร่ ยิ่งพิจารณาไป ยิ่งวิเคราะห์ไปเท่าไหร่ ก็จะไม่เจอความเป็นจริง ...เพราะมันไม่มีความจริงในนั้นเลย

แต่ที่ว่าพระพุทธเจ้าให้กลับมาค้นคว้าความเป็นจริงในนี้...ซึ่งยืนยันว่ามันมีความเป็นจริงอยู่ตรงนี้แน่ๆ ตรงนี้มีความจริงอยู่ ในกายในขันธ์นี่มีความเป็นจริงอยู่

เพราะนั้น ถ้ามันเพียรเพ่ง ค้นคว้า ไตร่ตรอง จดจ่อ ขุดค้นลงไป มันก็จะถึงความเป็นจริง มันก็จะเข้าไปเห็นความเป็นจริงที่มันมีอยู่แล้ว ...แต่ไม่เคยมาทำงานอย่างนี้เลย

เพราะไอ้การที่ขุดค้นความเป็นจริงด้วยการเอาสติมาจด มาจ่อ มาเพียรเพ่งอยู่ในกองกายกองขันธ์ ท่านจึงเรียกว่าเป็นการงานอันชอบ หรือว่าสัมมาอาชีโวนั่นเอง

ไอ้ที่ทำอยู่แล้วที่จิตคิดนั่น คิดนี่ คิดนู่น เรื่องราวข้างหน้าข้างหลังนี่ ท่านเรียกว่ามิจฉาอาชีโว ...มันไม่ได้ประโยชน์สาระ เพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจนในความเป็นจริงแต่ประการใด

กลับตรงข้าม กลับมาปกปิดความเป็นจริงซ้ำลงไปอีก กลับเกิดความผูกพันมั่นหมาย กลับเกิดความคาดหวัง กลับเกิดความยึดมั่นถือมั่น

กลับเกิดความมานะทิฏฐิถือตัวถือตน ว่าสูงว่าต่ำ ว่าดีว่าชั่วกว่ากัน...ในความรู้ที่ได้ ที่คิดได้ ที่ค้นได้ ที่ทำขึ้นมาได้ ในความคิด ในการกระทำคำพูด

กลายเป็นเครื่องรั้ง เครื่องดึง เครื่องเกาะ เครื่องหน่วง เครื่องเหนี่ยว เครื่องพันธนาการ ...รุงรัง เกะกะ ทับถม เอาตัวไม่รอด

เพราะนั้นการภาวนานี่ ก็คือการค้นคว้าหาความเป็นจริงภายใน โดยเริ่มต้นจากกายนี้...เป็นจุดก้าวแรกของการที่เข้าไปหาความเป็นจริง แล้วก็เข้าไปสู่ความเป็นจริง

ซึ่งทุกคนน่ะ มันมีกายอยู่แล้ว ทุกคน ไม่มีใครไม่มีกาย ...แต่ไม่มีใครเคยตั้งใจใส่ใจอย่างจริงจังที่จะค้นคว้ามันจริงๆ จังๆ

มันเลยปล่อยให้สภาพกายนี่...ซึ่งมันไม่เสถียรอยู่แล้วนี่ มันมีอายุขัย อายุขันธ์ เดี๋ยวมันก็หมดไป สิ้นไป หมดสภาพไป เน่าไป เปื่อยไป ชำรุดไป สลายไป ถูกเผาไป ถูกฝังไป

มันก็ละลายหายไปในอากาศในน้ำในดินในลม...โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการสังเคราะห์รวมตัวกันขึ้นมากองกายกองขันธ์ของสัตว์...ในแต่ละครั้งหนึ่งของการเกิด

แล้วก็วนเวียน...ด้วยความไม่รู้นี่ มันก็พาให้วนเวียนก่อร่างสร้างขันธ์ขึ้นมาอีก แล้วก็มาอยู่กันกับมันด้วยความไม่ขวนขวาย ไม่ค้นคว้าหาความเป็นจริงภายใน

มันกลับไปค้นคว้าหาความเป็นจริงกับคนนั้น กับคนนี้ กับเหตุการณ์นั้น กับเรื่องราวนี้ กับวัตถุข้าวของอันนั้นอันนี้...หมดเวลาไปทั้งชีวิตเลย 

แล้วก็ตายไป...โดยไม่ได้มีความรู้แท้ รู้จริง รู้แจ้ง ติดเนื้อติดตัวเป็นพื้นฐานไว้เลย เนี่ย ยังไงก็ตายเกิด ซ้ำซาก ซ้ำเดิม หมุนวนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบรู้สิ้น

เพราะนั้นการภาวนานี่มันเป็นช่องทางเดียว...ที่มันจะเล็ดลอดออกได้ จากการหมุนวน ก่อร่างสร้างขันธ์ขึ้นมาซ้ำซากซ้ำซ้อน ไม่มีวันจบ ไม่มีวันสิ้น

เหมือนถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ไม่มีการได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ไม่มีคำว่าได้รับอภัยโทษ ไม่มีคำว่าศาลยกฟ้อง นี่ มันถูกพิพากษาเลย ...เสร็จแล้วเกิดตายมาครั้งไหน...ก็เกิดตายในคุกน่ะ

พอเกิดตายในคุก มันก็ทำผิดซ้ำซ้อนน่ะ ...ทำกันไปตามความคิด ทำไปตามความเห็น ทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามความอยาก ทำไปตามความไม่อยาก นี่คือการกระทำที่เรียกว่ามิจฉา

ของจริงก็ว่าไม่จริง ของไม่มีจริงก็ว่ามีจริง  ของมีจริงอยู่ มันไม่เที่ยงก็ว่าต้องทำให้มันเที่ยง  ของที่มันดับไปแล้ว ก็พยายามทำให้มันไม่ดับ ของที่มันไม่ดับก็พยายามทำให้มันดับ

ทำกันอยู่อย่างนี้ ซ้ำๆ ซ้ำซ้อน  มันก็เหมือนกับทำความผิดซ้ำซ้อน โทษพิพากษามันก็ถูกจองจำให้หนาแน่นขึ้นไปอีก ทุกภพทุกชาติแห่งการเกิด ...มันไม่ได้เห็นประตูทางออกของคุกเลย


แล้วก็สาละวนอยู่กับการทำพูดคิดไปตามความไม่รู้ตลอด ซึ่งคนในคุกก็คือคนในคุก ก็ศักยภาพเท่ากัน คิดพูดทำตามอำนาจของกิเลสทุกคนไป ...มันก็ดูเหมือนไม่ผิดแผกแตกต่าง เหมือนไม่ได้ทำอะไรผิด


(ต่อแทร็ก 14/35  ช่วง 2)