วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 14/22


พระอาจารย์
14/22 (570418C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18  เมษายน 2557


ผู้ถาม –  อาจารย์ครับ ขันธ์ ๕ กับปฏิจจสมุปบาทนี่ ทำงานเชื่อมกันยังไงครับ

พระอาจารย์ –  คือระบบทั้งหมดในโลกนี่...ไม่ใช่เฉพาะขันธ์ห้า  มันดำเนิน มันคงอยู่ มันเกิดขึ้น มันดับไป...ทั้งหมดด้วยปฏิจจสมุปบาท เป็นเหตุซึ่งกันและกัน


ผู้ถาม –  ที่เกิด แล้วก็มันจะเกิดปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่ง แล้วก็มาเวทนา สัญญา สังขาร อย่างนี้หรือครับ

พระอาจารย์ –  ใช่ มันเนื่องกันหมด สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้ก็เกิดตามมา  สิ่งนี้ดับ...สิ่งนี้ก็ดับ


ผู้ถาม –  อ๋อ ต้องรอสายปฏิจจสมุปบาทรอบนึงก่อนใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  คือถ้ามันมีปัญญาเท่าทันแล้ว ไม่ต้องรอถึงเต็มรอบมันก็ดับ...ถ้าปัญญาถึง ...ถึงไหนล่ะ ...ถึงจิตสังขาร...หลังจากนี้ดับหมด ไม่เกิด ไม่จำเป็นต้องรอเต็มรอบให้เกิดทุกข์ซะก่อน อุปาทานทุกข์ต่อไปก็ดับ

แต่คราวนี้ว่าเราดับจิตสังขาร หรือว่าไม่ปรุงต่อกับจิตสังขาร ...มันดูเหมือนดับ แต่ยังติดในทุกข์อยู่ ...แปลว่ายังดับไม่จริง มันไม่ดับทั้งหมด

ปัญญามันยังไม่เข้าไปทำความแจ้งในเหตุแห่งการเกิด ...เหมือนกับไม่สามารถจะมีกำลังเข้าไปลบล้างเหตุแห่งการเกิดได้ทันทีทันควัน...หรือว่าพอดีสมควรแก่ธรรมนั้นๆ แห่งการเกิดนั้นๆ

มันน้อยไป มันก็ยังมีการเกิดต่อเนื่องโดยที่เราไม่เห็นว่ามันเกิดตอนไหน หรือมันเกิดอีก...ก็ว่าไม่ได้ทำให้มันเกิด ก็หยุดแล้ว ก็หยุดคิดแล้ว ทำไมมันยังมีอารมณ์ค้างอยู่

ไม่ต้องวอรี่มันเลย เข้าใจมั้ย ไม่ต้องสนใจ แล้วไม่ต้องไปค้นหาผิดหาถูกกับมันด้วย ...ก็กลับมาทำหน้าที่การเจริญมรรค คือการรู้ตัว คือการรู้อยู่กับศีล

มันก็สะสมกำลังของปัญญาไป...ญาณ แล้วก็กำลังของสมาธิด้วยนะ ...ไอ้ที่ว่ากำลังของปัญญานี่ กำลังของปัญญามันจะมาจากไหนล่ะ ถ้ามันไม่มีสมาธิ

เพราะนั้นสมาธิคือจิตหนึ่ง จิตรู้ จิตไม่หวั่นไหว จิตตั้งมั่น จิตเป็นกลาง ...ตัวนี้คือกำลังที่จะเกิดเป็นฐานของปัญญา

เพราะนั้นรู้อยู่กับกาย รู้ไว้กับกาย...เป็นหนึ่ง แบบโง่ๆ นี่ มันก็บ่มอำนาจของสมาธิให้มีกำลังมากขึ้นๆ มันก็จะเกิดการวิจยธรรมที่อยู่เบื้องหน้า...คือกายอย่างเดียว

ต่อไปมันก็ตีแผ่ความเป็นจริงของกาย ว่าแท้ที่จริง...กายจริงๆ มันคืออะไรกันแน่ มันมีแค่ไหนกันแน่  ก็ตีแผ่ออกๆ ...อ๋อ ไอ้นี่มันเปลือก อ๋อ ไอ้นี่มันใยมาหุ้ม

จนมันเหลือแต่กายที่เป็นแหล่งของกายล้วนๆ เน็ทๆ  มันก็เป็นแค่ก้อนความรู้สึกหนึ่งเท่านั้น ...นี่ มันก็ชัดในความเป็นก้อนความรู้สึกที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล

ไม่มีอะไรเคลือบงำที่มาบอกว่า นี่เป็นสัตว์ นี่เป็นบุคคลชื่อนั้นชื่อนี้  หรืออย่างนี้เรียกว่านั่ง มันมีอาการนั่ง หรือความรู้สึกว่านั่ง หรือความคิดว่านั่ง...มาครอบความรู้สึกของกายอีกที

ด้วยปัญญาที่หยั่งรู้ดูเห็น มันก็จำแนกธรรมออก  จากที่มันเกินจริง เหนือจริง...กับเท่าที่มันปรากฏจริง ...มันก็คอยดู คอยรู้อยู่อย่างนี้

แต่ว่าถ้าสมาธิไม่มั่นคงพอ เดี๋ยวมันก็ปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัวเลย...ว่าเรากำลังนั่ง ...ก็เห็นอาการนั่งแต่ดันบอกว่า “เรากำลังนั่ง” ...มันก็เกิดการปนเปื้อนของความคิดความเห็นจากความไม่รู้

แล้วมันก็มีความเชื่อว่า...เรากำลังนั่งแบบจริงๆ จังๆ  ว่าเป็น “เรานั่ง” อย่างนี้ ...เห็นมั้ย ความไม่จริงมันก็ปิดบังความจริง ความไม่จริงที่มันสร้างขึ้นมาเป็นความคิดความเห็น ก็มาปิดบังความเป็นจริง

คือความเป็นจริงที่มันเป็นแค่อาการใดอาการหนึ่งเท่านั้น เป็นแค่สิ่งหนึ่งเท่านั้น เป็นแค่อะไรอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง หรือพูดง่ายๆ มันเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีชื่อในตัวของมันด้วย

เพราะนั้นถ้ามันอยู่ในฐานของสมาธิที่มั่นคงจริงๆ มันจะเห็นอาการของกายนี่เป็นอย่างนี้ต่อเนื่อง ...ความปรุงแต่งแม้แต่นิดแม้แต่น้อยที่จะมาห่อหุ้มกายนี้ แม้กระทั่งภาษาบัญญัติก็ตาม ก็มาเคลือบไม่ได้

สมาธิจิตหนึ่ง...หนึ่งเดียว...หนึ่งรู้หนึ่งเห็น ...ไม่มีสองออกมาเป็นภาษา เป็นคำพูด เป็นความเห็น ...พอเป็นสองที่มันจะยื่นกิ่งก้านออกมา...ก็ทัน 

มันก็เหลือแต่กายโด่เด่ ...ชื่อว่ากายยังไม่มีเลย เรียกว่าเป็นกายเงียบ...กายวิเวก ...จิตก็วิเวก เหลือแต่รู้...ภาษามันไม่มีอยู่แล้ว ...มันก็เหลือกายวิเวก จิตวิเวก 

มันก็เห็นความเป็นจริงล้วนๆ โดยรอบสรรพสิ่ง ...กายก็จริง รู้ก็จริง  จิตรู้ก็เป็นแค่จิตรู้จิตเห็น ไม่มีออกไป ไม่มีความเห็นออกไป ...แม้แต่จิตนิดหนึ่ง มันก็ไม่ออกไป

ไอ้ตัวที่ออกไปน่ะคือความไม่รู้ของจิต มันก็สร้างจิตขึ้นมา แล้วก็ออกความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา เป็นภาษา เป็นความเชื่อบ้าง เป็นอดีต-อนาคตบ้าง เรียกว่าความปรุงแต่ง หรือว่าอวิชชา ปัจจยา สังขารา

เพราะนั้นถ้ามันเท่าทันอยู่ที่ต้นขั้ว คืออวิชชา ...ตรงนี้ที่ท่านเรียกว่า "ปัญญาวิมุติ" ... ผู้ที่เจริญปัญญาล้วนๆ ...คือเจริญด้วยปัญญา อยู่ในศีลสมาธิปัญญา โดยที่ไม่ต้องมีอุบาย ไม่ใช้อุบาย

ไม่ต้องมานั่งเอาความสงบ หรือพิจารณากายในแง่ใดแง่หนึ่ง จนมันเห็นว่าเป็นกระดูกบ้าง เป็นเลือดเป็นเนื้อบ้าง เป็นดินน้ำไฟลม เป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล เป็นไตรลักษณ์อะไรก็ตามอย่างนี้...ไม่ต้อง 

มันเจริญปัญญามาละ...เท่าทัน แล้วก็ละที่เหตุ อวิชชา ปัจจยา สังขารา...บ่อยๆ ...คือแรกๆ มันอาจจะไม่ชัด มันก็ตั้งใจพินิจพิจารณา ถึงจะมีความคิดร่อนเร่พเนจร อารมณ์ก็มี...วนเวียนอยู่

หมายความว่าสายแห่งการเกิดยังมี ...แต่ว่าไม่ไปข้องแวะกับมัน ไม่ไปจริงจังกับมัน ไม่ไปค้นหามัน ไม่ไปแทรกแซงมัน ไม่ไปเอาร้ายเอาดี เอาถูกเอาผิดกับมัน ไม่ไปจริงจังกับมัน

อย่างนี้ เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ จาง...จาง เหมือนควันที่มันจะจาง... ถ้าไม่สุมฟืน ถ้าไม่ใส่ไฟ ถ้าไม่พัดให้มันกระพืออีก ...นี่ ควันมันก็จะค่อยๆ น้อยลง จางลง 

ก็เหลือแต่สองสิ่งนี่ชัด อยู่ในที่อันเดียว ...แล้วทีนี้พอมันจะเริ่มมีเชื้อเพลิงเข้ามา ด้วยควัน หรือไฟ หรือความเร่าร้อน ...นี่ มันจะรู้ทัน รู้ทัน...ขณะแรก 

ขณะแรกของการที่เกิด "เรา" เข้าไปหยิบจับอะไร เจตนาอะไร คิดจะปรุงแต่งไปหาอะไรก็ตาม ...พอรู้ทันมันก็ดับไป ... พอรู้ทันปุ๊บนี่...สลาย...ทั้งสายเลย ...คราวนี้ชัดแล้ว ว่างตลอดสาย 

แต่ตอนนี้พวกเรามันทัน...แต่ไม่ว่างตลอดสาย  เพราะมันไม่เห็นจุดเริ่มต้นเริ่มแรกเลย ...คือมันยังมีการคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะอำนาจของศีลสมาธิปัญญายังไม่พอ

คือดูเหมือนไม่ได้ทำอะไรนะ แต่มันปรุงไปแล้ว มันกำลังปรุงอยู่ด้วยขณะที่นั่งอยู่ นี่...ก็ไม่ต้องทำอะไร ทำหน้าที่เจริญมรรคเข้าไป เพื่อสะสมกำลังขึ้นไปเรื่อยๆ

ไม่ทิ้ง ไม่ทอดธุระ ไม่ออกนอกมรรค ไม่ไปทำงานอื่น ...ความเข้มแข็ง มั่นคง ชัดเจนในมรรค มันก็มากขึ้นๆ  มันก็จะชัดเจนแค่สองสิ่ง ...นอกนั้นไม่ชัด

นอกนั้นจะไม่ชัดเลย ...เพราะไม่มีใครเข้าไปดู เข้าไปรู้ หรือเข้าไปอยากรู้ หรือไปทำให้มันชัดขึ้น...ก็ไม่ไป ...มันก็ชัดอยู่ในธรรมสองสิ่ง...กาย-ใจ 

ซึ่งเป็นธรรมที่...มีอยู่จริง ตั้งให้เห็นจริง ปรากฏอยู่จริง ...จะมากขึ้นหรือน้อยลง ก็คือความเป็นจริง ...ถึงไม่มีใครเข้าไปกระทำกับกาย...กายมันก็มี

แต่จิต...ถ้าไม่มีใครเข้าไปกระทำกับจิตนี่...ไม่มีจิต ...ถ้าไม่มีความไม่รู้ ถ้าไม่มีเรา ถ้าไม่มีความอยาก-ความไม่อยากเพราะ “เรา” ไปกระตุ้น แล้วก็มีเจตนาปรารภขึ้นนี่...จิตไม่เกิดหรอก

แต่กายนี่ ...ขนาดไม่มีเราแล้ว ไม่มีจิตปรารภ ไม่มีการไปตกผลึกอยู่กับมัน ด้วยอาการปรารถนาใดหรือไม่ปรารถนาใดก็ตาม ...กายมันก็ยังมีอยู่...มีอยู่จนตาย

ถึงบอกไง แม้แต่พระอรหันต์ หมดแล้วกิเลส สิ้นแล้วซึ่งความปรุงแต่งโดยเจตนา หมดแล้วในความเป็นเรา ...ท่านก็ยังมีกาย ยังมีเวทนาอยู่ ก็ยังมีเจ็บไข้ได้ป่วย ยังมีเจ็บมีปวด

ท่านยังมีกายเดินไปเดินมา มีความรู้สึกในกายที่เดินไปเดินมาด้วย  ทั้งที่ท่านหมดสิ้นซึ่งเจตนาจงใจแล้วในอดีต-อนาคต ...กายยังไม่หายไปไหน ยังลบกายไม่ได้

ถึงบอกว่าไม่มีอะไรจริงเกินกว่ากายใจแล้ว ...แล้วถ้าอยู่ในความเป็นจริงสองสิ่ง มันก็จะเข้าไปเห็นความลึกซึ้งในความเป็นจริงขึ้นไปเรื่อยๆ  จนปฏิเสธทุกสิ่งที่นอกเหนือจากความเป็นจริงคือกายใจ

นอกนั้นละ...ละโดยสิ้นเชิง  ต้องถึงขั้นที่เรียกว่า...ละโดยสิ้นเชิง  ไม่มีแม้แต่นิดเดียวที่จะเอามา ไม่มีแม้แต่นิดเดียวที่จะไปหา ...นี่เรียกว่าละโดยสิ้นเชิง

มันก็จะเหลือแต่สองสิ่งที่เป็นวิสุทธิธรรม...วิสุทธิขันธ์ กับวิสุทธิจิต 

ก็ทำความบริสุทธิ์ที่กายใจให้บังเกิดขึ้น ...อย่าไปมัวมั่วซั่วอยู่กับจิต อยู่กับความคิดความเห็นในจิต อารมณ์ในจิต สถานที่อื่นที่เป็นอนาคต เรื่องราวอื่นในอดีต-อนาคต ...มันไม่มีสาระ

ถ้าในแง่ของปัญญาวิมุติ จะไม่ไปหาความรู้ที่อื่นนอกจากนี้เลย ...มีความรู้แล้วก็หยั่งรู้ดูเห็นอยู่ที่เดียวคือกายปัจจุบัน ...จนเหลือ เอกังจิตตัง เอโกธัมโม...จิตหนึ่ง ธรรมหนึ่ง

กายนี่เหลืออยู่แค่ธรรมหนึ่ง ...ไม่มีคำว่ากายอยู่ในนั้นด้วย หากายไม่เจอแล้ว ไม่มีกายแล้ว หมดสิ้นซึ่งกายแล้ว เรียกว่า เอกังจิตตัง เอโกธัมโม...จิตหนึ่งธรรมหนึ่ง

เพราะนั้นเมื่อถึงธรรมหนึ่ง...คือทุกสิ่งทุกอย่าง...ไม่เลือก นี่เรียกว่ามหาศีล ...คือศีลเบื้องต้น ศีลขั้นกลางหรืออธิศีลนี่จำเพาะกาย  แต่พอเป็นมหาศีลนี่ ไม่จำเพาะกายแล้ว...สามโลกธาตุเลย

แต่การที่มันดูรู้เห็นจนถอดสัญลักษณ์ของกายออก มันต้องอาศัยความพากเพียรต่อเนื่อง นี่...ใครว่าปัญญาวิมุติง่ายๆ ...ก็ไม่ง่ายน่ะ 

ทำความรู้ตัวโดยที่ไม่ไปรู้ที่อื่นเลย ด้วยความสม่ำเสมอ นี่ไม่ใช่ของง่ายนะ ...ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ มันอดไม่ได้ที่จะไปคิดเล็กคิดน้อย หานั่นหานี่ สร้างอดีตสร้างอนาคตเอา ฝันเอาสิ่งที่น่าพึงพอใจ

เพราะนั้นไม่ว่าทางสายไหน ...ขึ้นชื่อว่ามรรคผลและนิพพาน มันไม่ง่ายสะดวกดายทุกเส้นทางหรอก ...เหมือนกันหมดน่ะ ความยาก-ความไม่ยาก...เท่ากัน  

อย่าคิดว่าปัญญาวิมุติง่าย ...เพียงแต่ว่ามันไม่ซับซ้อน ไม่เรื่องมาก และมันก็ไม่มีวิธีการพิธีอะไร ไม่มีการที่ว่าต้องเตรียมตัวอะไร  ต้องมีท่าทาง ต้องมีสถานที่ สถานะ อะไรอย่างนี้...ไม่ต้อง ...มันไม่ซับซ้อน

แต่ว่าจะทำให้ต่อเนื่องนี่ไม่ใช่ของง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจ ใส่ใจอย่างยิ่ง ความเพียรอย่างยิ่ง ...เหมือนกัน เหมือนกับสายสมถะ ไม่มีอะไรที่ง่ายๆ เหมือนกัน ด้วยอิทธิบาท ๔

เพราะนั้นกับกิเลสนี่ ...อย่ามัวปล่อยจิตให้ไปคิดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ สภาวะคนนั้นคนนี้ แม้แต่เรื่องพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์อะไรอย่างนี้ ...คือความฟุ้งซ่านของจิต

แล้วเราก็จริงจัง แล้วก็ไปพยายามจะหาเหตุหาผล หาความน่าจะเป็น  แล้วมาเทียบกับตัวเรา เพื่อให้ได้อะไรๆ อย่างนั้น ...ทั้งหมดน่ะ มันซัพพอร์ทตัวเราหมด เพื่อให้ตัวเรานี่ยังคงมีอยู่

เห็นมั้ย ความฟุ้งซ่าน...นิวรณ์ทั้ง ๕ นี่ มันเป็นตัวสนับสนุนสักกาย มันสนองตัวเรา  กิเลสทั้งหมดสนองตัวเราหมด ...เมื่อสนองตัวเราหมายความว่า ตัว "เรา" ก็อิ่ม แข็งแรง ฆ่าได้ยาก ตายได้ยากแล้ว 

ก็ไปเลี้ยงดูมัน ด้วยความเผลอเพลิน แล้วก็ด้วยความไม่รู้ตัว  มันก็สร้างบริหารความเป็นเรา เลี้ยงดูปูเสื่อความเป็นเรา เพื่อจะได้สมใจหรือไม่สมใจเรา ...มันเป็นการบริหารทั้งโดยตรงแล้วก็โดยอ้อมตลอดเวลา

เพราะนั้นอยู่กับปัจจุบันกายใจ แค่รู้แค่เห็นกับยืนเดินนั่งนอน ...ถ้าอย่างนี้ การบริหาร “เรา” ด้วยภักษาหาร ความไม่รู้ตัว ด้วยอดีต ด้วยอนาคต ด้วยความคิดต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง...มันหยุดแล้ว

ถ้าอย่างนี้แล้ว ตัว “เรา” นี่...อย่างน้อยถ้าไม่ตาย มันก็ซูบซีดลง  แล้วมันก็จะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...จนมันเผยตัวของมันออกมาเอง

ว่าสุดท้ายแม้ไม่มี "เรา" ...กายยังมีอยู่  สุดท้ายแม้ไม่มี "เรา" ...ใจก็ยังมีอยู่คือรู้  ไม่เห็นตายเลย ...นี่แปลว่าอะไร ...ก็แปลว่า “เรา” ไม่มีอยู่จริง ไม่มีชีวิตอยู่ ไม่มีความเป็นบุคคลจริง

มันก็จะสละทิ้งซึ่งความเป็นเรา ...พอมันเริ่มเกิดมาเป็นจิต ก็เริ่มสละทิ้ง แยกออกจากความจริง ...คือไม่ต้องไปรักษามันไว้ ไม่ไปรักษาเหตุไว้ และไม่เอาอย่างอื่นมารักษาด้วย

เพราะเมื่อใดที่เราอ่านตำราหรือสอบถามแล้วเกิดความเห็นความเชื่ออันใดขึ้นมา ...มันจะเกิดการเข้าไปรักษาความเห็น รักษาสิ่งที่ได้จากการทำแล้วมันได้อะไรมา ...นี่เรียกว่ารักษาสิ่งที่มันไม่ใช่ธรรมจริง

แต่ถ้าอยู่ในมรรคนี่ มันจะรักษาแต่ความเป็นจริงไว้ ไม่ไปรักษาอย่างอื่น ไม่ไปหาอะไรมารักษา ...ทิ้งเลย ทิ้งหมดเลย โดยไม่เสียดาย

เหลือแต่สองตัวนี่ทิ้งไม่ได้คือ...กาย-ใจ ...ต่อให้สำเร็จ ก็ยังทิ้งไม่ได้เลย เนี่ย มันจะทิ้งได้ยังไง


ผู้ถาม –  กายใจทิ้งไม่ได้ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  อือ จนกว่ามันจะหมดอายุขัย  ถ้าหมดอายุขัย คือหมดอายุขันธ์ ...แต่ถ้าขันธ์หมดอายุ แต่จิตยังไม่ตาย มันก็ยังไม่หมดปัจจยาการแห่งการไปหาขันธ์ใหม่

แต่ถ้าขันธ์หรืออายุขัยมันหมด แล้วก็จิตมันตายแล้ว ...อันนี้หมดจากเหตุให้เกิด ปัจจยาการของการเกิดหมดแล้ว ปัจจยาการของเหตุที่จะให้การเกิดมันคงอยู่หรือต่อเนื่อง คือเหตุแรกคืออวิชชา...มันไม่มี

เพราะนั้นการเกิดการตายของมนุษย์ ...ถ้าขณะที่ว่าอวิชชาตายดับแล้วนี่ ขันธ์ยังไม่ทันดับ...ก็ไม่มีอำนาจไหนไปลบล้างขันธ์ได้ ไม่มีอำนาจไหนไปลบล้างกายตัวนั้นด้วย 

มันลบล้างไม่ได้ ต้องให้เขาหมดสภาพไปของเขาเอง ...เห็นมั้ยว่า จริงซะยิ่งกว่าจริง ไม่มีอะไรจริงไปกว่าศีลนี้แล้ว

ท่านถึงบอกว่า ศีลนี่เป็นที่รองรับของธรรมทั้งปวง เป็นธรรมที่จริง จริงยิ่งกว่าของจริง...ที่ตอนนี้เราอยู่กับของจริงที่ปลอมปนหรือแปดเปื้อน แล้วก็ไปเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ปนเปื้อนนั้นจริงกว่าศีลนี้

เพราะมันยังไม่เห็นความเป็นจริง เพราะยังไม่เชื่อศีล แล้วยังไม่เชื่อความเป็นจริงของกาย แต่ไปเชื่ออะไรที่มันปลอมปน ไม่จริง ...เหล่านี้จึงเกิดการแตกแขนงของจิต ไม่มีที่หยุด คือสมุทัยล้วนๆ

ทำอยู่ในที่เดียวแล้วจะไม่มีอะไรหรอก จะหมดปัญหาเลย ...แต่ถ้าเผลอปั๊บนี่เดี๋ยวออกไปแล้ว แล้วเราปล่อยให้มันแตกออกไป แล้วก็ไปสนับสนุนให้มันแตกแขนงอีกด้วย

เอ้า ยังมีอะไรมั้ย


ผู้ถาม –  ไม่มีแล้วครับ

พระอาจารย์ –  อือ ไปอยู่กับตัวเอง ไปนั่งดู ยืนดู เดินดูกาย ...กะเทาะเปลือกมันออกให้หมด อะไรที่มันฉาบทากายเอามันออกไป ให้มันเหลือแต่กายวิสุทธิ กายล้วนๆ เป็นกายความรู้สึก


...…………………..




วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 14/21 (2)


พระอาจารย์
14/21 (570418B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18  เมษายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 14/21  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ตรงนี้ มันจะทำให้ความเห็นผิดในกายน้อยลง ...เมื่อความเห็นผิดในกายน้อยลง มันก็จะเห็นตรงตามความเป็นจริงของกายมากขึ้น

จิตที่มันทะยานไปมาด้วยความไม่รู้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ใช่ของเรา มันก็จะหดตัว ...อารมณ์ที่เกิดจากจิตมันเข้าไปหมายว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขาเป็นของเขา...มันก็น้อยลง

กิเลสที่มันเกิดความอยาก-ความไม่อยากในอารมณ์นั้นๆ  ก็สร้างอารมณ์น้อยลง ...จิตที่มันฟุ้งซ่าน ทะยาน กระจายไปตามอำนาจความปรุงแต่ง...ก็ลดลง

ความปรุงแต่งไปในอดีต-อนาคตก็จะสั้นลง  ความเกิด-ความตายที่เกิดจากจิตมันสร้างอดีต-สร้างอนาคตก็สั้นลง ภพชาติก็สั้นลง ...มันก็รวมมาอยู่ในกาย

มันก็ค่อยๆ สั้นลงๆ ...จากไม่มีประมาณ มันก็เหลือแค่ร้อยชาติพันชาติ จากร้อยชาติมาสิบชาติ มาเจ็ดชาติ...ถ้าเจ็ดนี่ ถ้าอยู่ในเจ็ด หมายความว่าไม่พ้นนอกกรอบกายนี้เลย

ถึงพ้นออกไปด้วยความเผลอเพลิน ยังไงก็ตาม พอรู้ตัวปุ๊บ...กลับมาลงที่กายนี้ทันที ในกรอบกายนี่...เป็นอัตโนมัติเลยว่าเจ็ด...ไม่เกินเจ็ดชาติ

นี่แหละที่ท่านเรียกว่าพระโสดาบัน...ที่เข้าถึงศีล ที่อยู่ในศีลตลอด  ด้วยการไม่ล่วงเกิน ไม่ล่วงล้ำ ไม่ก้าวล่วงศีล ...เพราะนั้นภาวะมันก็คงที่เจ็ด

ถึงเกินไป...รู้ปุ๊บ กลับ...โดยไม่ลังเลสงสัยเลย โดยไม่อาวรณ์อาลัยเสียดายความคิดความเห็นนั้นๆ ...นี่ ถึงกำลังตัวนี้จะรักษาในกรอบกายร้อยเปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้ แต่ไอ้ตรงนี้ยืนพื้นคือเจ็ด

แต่ว่าถ้าเมื่อใดที่มันร้อยเปอร์เซ็นต์...ไม่ออกนอกกรอบนี้เลย ไม่ออกนอกกายนี้เลย อาจจะไม่มีกรอบด้วยซ้ำ แต่ว่าไม่ออกนอกลักษณะของเหตุแห่งกายที่รู้อยู่ 

ถ้าเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องไป นี่ แปลว่าชาติหนึ่ง...แล้วก็ไม่เกิดอีก

ถึงตอนนั้นน่ะ จิตปรุงแต่งนี่...ถึงยังมี แต่ปรุงแต่งในลักษณะจิตว่าง ว่างจากรูปนาม ว่างจากรูปนามที่เป็นเสมือนจริงหรือเป็นจริงในความเชื่อนั้นมาแต่เก่าก่อน

ถึงมีรูปนามติดมา เป็นสมมุติบ้าง เป็นบัญญัติบ้าง เป็นชื่อเป็นเสียง เป็นภาษาอะไรบ้าง อย่างนี้ ...ก็เป็นรูปนามเปล่าๆ ไม่มีชีวิต ไม่มีความเป็นบุคคล

แต่ส่วนมากพอถึงจุดนี้แล้ว มันจะเป็นจุดที่ว่าง ว่างจากรูปนาม ทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต รูปนามในอดีต รูปนามในอนาคต แม้กระทั่งรูปนามของตัวเอง

เพราะนั้น เวลาถึงจุดนี้แล้วจะเห็นมีอาการขยับขยาย เปลี่ยนแปลง เป็นแค่ลักษณะต่างๆ สว่างบ้าง มืดบ้าง กว้างบ้าง ...ตรงนี้ท่านเรียกว่าอรูป จิตอยู่ในอรูปภพ มันอยู่ในภพที่ไม่มีรูปอยู่ในจิต


โยม –  เรียกว่าเข้าไปติดในอรูปฌานใช่ไหม

พระอาจารย์ –  ตรงนี้ยังไงก็ติด สำหรับปัญญาที่ยังไม่ทะลุ มันก็มีความพอใจ ...มี "เรา" ผู้พอใจในอารมณ์ที่ไม่มีกิเลส ยังไง...ก็ยังมี "เรา" ที่เกิดขึ้น


โยม –  กิเลสตรงที่พอใจนี่หรือ

พระอาจารย์ –  ก็ใครพอใจล่ะ มันยังจะพอใจอะไร ..."ใคร" พอใจล่ะ


โยม –  เรา...ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  เออ มันก็มี "เรา"เกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าเกิดขึ้นจากความไม่มี ...เพราะแต่ก่อนนี่มันมีแต่เรื่อง แต่ตอนนี้ไม่มีเรื่อง แล้วมันเหมือนกับมันหมดกิเลสแล้ว

มันก็มีความพอใจ มีความมีเกิดขึ้น แต่เป็นความพอใจที่มันลึกซึ้ง  แล้วก็มีเราที่เข้าไปเสวยอาการที่มีนี้  ...นี่ก็ติดแล้ว เป็นภพ คืออรูปภพ

เพราะนั้นยังไงก็ติดทุกคน  ติด...โดยที่ว่าไม่ได้ทำขึ้นนะ ...มันเป็นของมันตามลำดับ


โยม –  เป็นสภาวะที่เกิดขึ้น

พระอาจารย์ –  ใช่ มันเป็นสภาวะที่ไปตามขั้นตอนตามลำดับ ยังไงก็ต้องผ่าน ...แล้วก็ต้องอยู่ในความติดข้องโดยความไม่รู้ตัวว่ากำลังติดสภาวะ ติดภพ ติดภพอรูป

แล้วก็ค่อยๆ บ่มอินทรีย์ปัญญาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...มันก็ค่อยๆ ดีดตัวเอง...รู้...ดวงจิตผู้รู้นี่ มันก็ดีดตัวออกมาด้วยความชัดเจน ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นมาว่า...รู้ว่าว่าง เห็นว่าว่าง

แล้วก็ไม่เข้าไปยินดียินร้ายในอาการที่ว่าง ไม่มีอะไร ...มันก็เป็นกลาง เริ่มเป็นกลางกับอารมณ์ที่ไม่มีอะไร หรือไม่มีอารมณ์ หรือไม่มีกิเลส

เพราะนั้น พอถึงจุดที่ว่าเหมือนไม่มีกิเลส เหมือนกิเลสหมดแล้ว ...เนี่ย ก็ยังไม่หมด ก็ยังเข้าไปเสวยผู้ไม่มีกิเลส ยังมี..."เราผู้หมดกิเลส" ...ก็ยังมีความเป็นเราจนถึงที่สุด

เพราะนั้นศีลตัวเดียว กายตัวเดียวนี่...จบได้ ...ไม่ต้องไปสนใจที่อื่นเลย อารมณ์อะไรจะเกิด...ชั่งหัวมัน ไม่ต้องไปดู ไม่ต้องไปตามดู

ไม่ต้องไปใคร่ครวญหาถูกหาผิดหรือจะทำยังไงกับมัน หรือจะหาวิธีจัดการยังไงกับมัน นี่ ไม่ต้องเลย ...ฟุ้งซ่าน ตรงนี้เรียกว่าฟุ้งซ่าน

แต่บางทีมันก็เข้าใจว่านี่คือปัญญาที่จะเกิดความรู้ความเข้าใจเวลาอยู่กับมัน ...นี่ คิดเอาเองทั้งนั้น


โยม –  ฟุ้งซ่านหมดใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  ฟุ้งซ่านหมด เป็นอุทธัจจะหมด บอกให้...ตราบเมื่อใดที่มันยังเป็นต่อนที่ให้เกิดญาณปัญญา หรือญาณทัสสนะที่รู้สองสิ่งคือกาย-ใจ ...สิ่งที่ถูกรู้คือกาย สิ่งที่รู้อยู่คือใจรู้ ใจที่ไม่เคลื่อน

แต่ถ้าอยู่ในอาการเคลื่อน คือไปหาฐาน ไปหาอะไรก็ตาม นี่ จิตทำงานในที่ที่ไม่ควรทำ ..แต่ถ้าจิตมันหยุดอยู่ จิตมันจะทำงานในที่ที่ควรทำ...คือเกิดปัญญา

ซึ่งปัญญานี่ ปัญญาญาณ...มันไม่ได้เกิดจากการคิดค้น หรือใคร่ครวญ หรือว่าพิจารณาเป็นภาษา ..แต่มันเกิดขึ้นจากความรู้เห็นตามความเป็นจริง

คือธรรมจำเพาะหน้า เท่าที่ปรากฏ...ตรงนี้ มันจะเข้าใจสภาพความเป็นจริงในเรื่องของขันธ์...ที่ไม่ใช่เรื่องของใคร แต่เป็นเรื่องของเหตุและปัจจัยแวดล้อม มาสนับสนุนหรือว่าประกอบเป็นปัจจยาการ

ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของใคร ...และตัวมันก็เลือกเองไม่ได้ มันแล้วแต่ ...อย่างเนี้ย มันก็จะเข้าใจ มันเข้าใจลึกซึ้งในตัวมัน ในอาการอย่างนี้


โยม –  พระอาจารย์ครับ แล้วอย่างมีอยู่คราวหนึ่งผมได้ฟังว่า สภาวะทุกสภาวะที่มันเกิดขึ้น ทั้งราคะ โทสะ โมหะ จริงๆ มันก็คือเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตรงหน้าโดยที่จิตไปรู้ จิตไปเห็น  ถ้าเกิดมันไม่ใช่สภาวะของเรา ไม่ใช่สภาวะของจิต มันก็ดับไปเองใช่ไหมครับ 

ทีนี้มันก็มี...คือผมรู้สึกเป็นทุกข์จังเลย แล้วก็นั่งสมาธิ แล้วก็ยังทุกข์..ทุกข์  แล้วคิดถึงคำที่บอกว่า มันเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตรงหน้า ไม่ใช่ของเรา มันก็เหมือนสภาวะความสุขนี่ ไม่นานมันก็ดับไปเอง ...มันก็ดับไปจริงๆ ครับ

พระอาจารย์ –  คือมันเป็นอุบาย หมายความว่าอย่างนี้ก็ยังเป็นอุบาย ...มันดับให้เห็นจริง มันไม่สนใจจริง เพราะว่ามันเชื่อตามอุบายเท่านั้น

มันยังไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญา แต่ว่ามันวางไปเพราะมันเชื่อในอุบาย ...จิตมันยอมต่ออุบาย ไม่ใช่ยอมต่อความเป็นจริงนะ มันยังไม่ยอม


โยม –  มันยังไม่เห็น

พระอาจารย์ –  มันยังไม่เห็นความเป็นจริงของสภาวะที่ไม่ใช่เรายังไง ...แต่มันเชื่อภาษา เข้าใจมั้ย เนี่ย มันเชื่อจินตามยปัญญา หรือมันเชื่อภาษาที่จำได้เป็นสัญญา

เพราะนั้นการละอย่างนี้ การดับไปอย่างนี้ ...แล้วอารมณ์ดูเหมือนหายไปเหมือนปลิดทิ้ง ไม่มีราคะ หรือไม่มีโทสะเหมือนปลิดทิ้ง 

มันเป็นแค่ระงับชั่วคราวเท่านั้นเอง ...ยังไม่ได้เข้าไปดับ หรือเข้าไปละที่รากเหง้า...ด้วยปัญญาที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา


โยม –  คือมันสามารถจะเกิดขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  ก็หมือนเดิมน่ะ...มากกว่าเดิมก็ยังได้ ไม่หายไปไหน ...เพราะว่ามันยังไม่ได้ถูกลบล้างด้วยปัญญา 

อย่างนี้เขาเรียกว่า "ตทังควิมุติ" ...แต่ว่าถ้าไม่มีอาศัย "ตทังควิมุติ" นี่เป็นตัวประคับประคองไว้  มันก็ไม่มีแรง เข้าใจรึเปล่า ...มันก็เนื่องกันอยู่นะ 

คือที่มันเกิดการละการดับได้เป็นครั้งคราวไปนี่ แล้วมันมีกำลังใจในการที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า เดินจนเข้าใจว่ามันเกิดผลขึ้นมาบ้าง เห็นผลบ้าง

แต่ถ้าไม่มีการละในระดับนี้ มันก็ไม่มีกำลังที่จะเดินในองค์มรรคต่อ...เพื่อให้เกิดภาวนามยปัญญาที่ชัดเจน ชัดแจ้ง หรือว่าเข้าไปลบล้างความเห็นผิดภายใน

เพราะนั้นตอนนี้มันยังลบล้างไม่ได้ แล้วลองดู เกิดใหม่...ให้ทัน


โยม –  บางทีมันก็ไม่หยุด สุดท้ายก็เลยบอกว่า สงบหรือไม่สงบมันก็เหมือนกัน ...รู้มันเข้าไป

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ ที่สำคัญ...ให้คำพูดนี่มันเตือน เป็นคำเตือน ...แล้วไอ้ตรงที่ว่า "รู้มันเข้าไป" แล้วก็ทำความรู้มันเข้าไป ตรงนั้นคือตัวที่จะเข้าไปลบที่เหตุ

เพราะนั้นตัวอุบายนี่ มันจะระงับแต่ความฟุ้งซ่านได้ ...แต่ว่าไอ้ตัวที่รู้เข้าไป แล้วก็ทำความรู้ตัวเข้าไป ตัวนี้คือเหตุ...การประกอบเหตุในองค์มรรค ให้เกิดภาวนามยปัญญา


(ต่อแทร็ก 14/22)