วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/11


พระอาจารย์
14/11 (570412D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –  แต่เมื่อใดเอาสติมาระลึกกับฐานของมหาสติที่เรียกว่าฐานกาย หรือกายานุสติปัฏฐานนี่ ...ตัวนี้ หนึ่ง...ครอบคลุม สอง...ต่อเนื่องเป็นเส้นตรง 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ...เพราะกายเคยหายไปไหนไหม ตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย กายดำรงอยู่ ปรากฏอยู่ คงสภาพอย่างที่เขาประกอบเหตุขึ้นมา ไม่เว้นวรรคขาดตอนเลย นี่หนึ่ง

และท่ามกลางกาย ...ในขณะที่รู้อยู่เห็นอยู่กับกองกายนี่ จะเห็นขันธ์โดยรวม เวทนาบ้าง จิตบ้าง อารมณ์ ความรู้สึก กิเลส ความอยาก อะไรน้อยใหญ่ ไวบ้างนานบ้าง มันจะเห็นอยู่ท่ามกลางกายนั้น ...นี่เรียกว่าครอบคลุม

แต่เมื่อใดที่ไปรู้จริงรู้จังตั้งมั่นตั้งหมายระลึกรู้ระลึกเห็นอยู่กับจิต หรืออารมณ์ มันจะไม่ครอบคลุมขันธ์ทั้งห้า พูดง่ายๆ จะไม่เห็นกายตรงนั้น จะไม่เห็นปัจจุบันกายเลยน่ะ ในขณะที่มันรู้อยู่ว่าจิตมันมีความคิด

เห็นมั้ยว่า ถ้าใช้สติปัฏฐานแล้วก็เอาแค่สติปัฏฐานตัวเดียวนี่ มันจะไม่เข้ากรอบร้อยเปอร์เซ็นต์ขององค์มรรค ...ถึงบอกว่าต้องกอปรขึ้นมาด้วยหลายธรรมที่มันเนื่องกันอยู่

เพราะนั้นถ้าอ้างถึงธรรมที่เรียกว่าไตรสิกขา หรือศีลสมาธิปัญญาแล้ว มันจะหนีไม่ได้เลยจากกาย มันครอบคลุมหมดทั้งมหาสติปัฏฐาน โพธิปักขิยธรรม มรรคมีองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ ทุกอย่าง มันครอบคลุม 

ถึงบอกว่า...ถ้าไม่เรียกว่ากายเป็นรากฐานรากเหง้าของธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่ ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรดี

เพราะนั้น ถ้ามักง่ายเกินไป จะได้ของที่ยากและของที่ไม่จริง ... การละการเลิกการเพิกการถอน ก็จะเป็นการละแบบหลอกๆ ละไม่ได้จริง 

กิเลสที่ดูเหมือนว่าตาย มันก็ไม่ตาย แล้วจะรู้ต่อไปว่ามันเหมือนแค่สลบไป เดี๋ยวมันก็ฟื้น ไม่ตายจริง ...ทั้งกิเลส “ของเรา” ทั้งกิเลสที่เป็น “ตัวตนเรา ความรู้สึกเรา” ...ไม่ตายจริง

อธิบายให้ฟัง นี่คือการอธิบายธรรม ...เราไม่ได้เอาการอธิบายนี้ไปเปรียบเทียบกับธรรมใดบุคคลใด แต่เราอธิบายธรรม ตามธรรม ตามควรแก่ธรรม 

ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันทาบทากัน มันสงเคราะห์กัน มันเอื้อกัน มันไม่ขัดแย้งซึ่งกันและกันอย่างไร

ถ้ามันทาบทากันได้แล้ว เหมือนกับว่าแนบกันโดยสนิทใจ แทบจะไม่มีรอยต่อหรือรอยที่เรียกว่าไม่เป็นเนื้อเดียวกันได้เลย ...เนี่ย เรียกว่าเนื้อธรรม 

เป็นความเชื่อมประสานกันแบบไม่มีรอยติ ไม่มีที่ตำหนิในธรรมได้เลย ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ และทั้งปฏิเวธ ไม่มีกระดักกระเดิด ไม่มีกระด้างกระเดื่องธรรมซึ่งกันและกันเลย หาที่ติไม่ได้

เราอธิบายธรรมในส่วนนี้ให้ฟัง เพื่อให้คลี่คลายความสงสัยลังเลในธรรม ความวิจิกิจฉาในธรรม 

รวมถึงการลังเลในการปฏิบัติธรรม...เพื่อให้เข้าถึงธรรม เพื่อให้รู้เห็นธรรมตามจริง เพื่อให้ยอมรับสภาพธรรมตามจริง เพื่อให้ถึงที่สุดของการยอมรับในธรรมทุกสภาพตามจริง

ไม่ใช่หมาหางด้วน ...หมาหางด้วนมันไปเห็นหมามีหาง มันก็ว่า ไอ้มีหางนั่นมันผิด อย่างกูนี่ถูก เข้าที่ไหนไปที่ไหน ก็ว่าหมาต้องหางด้วน...แล้วใช่ แล้วจริง 

ก็กุลีกุจอไปตัดหางให้ด้วนกัน...เป็นนักปฏิบัติธรรมหางด้วน ...ขาดซึ่งศีลสมาธิปัญญา ข้อใดข้อหนึ่ง ตัวใดตัวหนึ่งในองค์ไตรสิกขา มันก็บกพร่อง...เกิดความขาดตกบกพร่อง

หรือหางมีอยู่แล้ว มันยาวไม่พอรึไง ก็ไปเสริมหางหมา หรือหางมันไม่มีขนฟู ก็เลยไปปลูกขนขึ้นมาใหม่ให้เหมือนๆ พันธ์ุอื่น เพราะว่าสวยดี ...อันนี้ก็ไม่น่าจะใช่ น่าจะเป็นพวกกลายพันธุ์ 

การอธิบายนี่จึงเป็นการชี้ชัดลงไปศีลสมาธิปัญญาเป็นเบื้องต้น ...เพื่อให้คนฟังในระดับใช้จินตา และสุตตะ แล้วสามารถแยกแยะได้ สามารถนำไปปฏิบัติได้ ...โดยไม่จำกัด  

เข้าใจคำว่า...ไม่จำกัด มั้ย คือไม่จำกัดเวลา สถานที่ สถานะ เพศ วัย บารมีธรรม อดีตธรรม ...ไม่มี ไม่เลือก ไม่จำกัด ...การปฏิบัติมันจึงสอดแทรกเป็นไปอยู่ในชีวิตได้...ทุกผู้ทุกคนไป

จะเคยภาวนามาก่อนในอดีตรึเปล่า...ไม่รู้ ไม่เคยภาวนามาก่อนในอดีตรึเปล่า...ไม่รู้ ไม่เกี่ยว ไม่สน ... เมื่อฟังแล้ว ได้ยินแล้ว มันสามารถเอาไปปฏิบัติได้เลย

เนี่ย ที่เรียกว่าเป็นธรรมที่พอเหมาะพอเจาะกับมนุษย์ พอดีสมดุลกับมนุษย์ทุกผู้คน ...ไม่ต้องไปดำดินบินบนค้นหาที่อื่น ไม่ต้องไปทำตัวให้ลำบากยากไร้ยากเข็ญ ทรมานทรกรรมจนเกินไป

เช่นว่า...แค่นั่งอยู่เฉยๆ นี่ มันก็ภาวนาได้แล้ว แถมไม่ต้องหลับตาด้วยอีกต่างหาก ...ไม่ผิดกติกา ไม่มีข้อห้ามใดๆ มาห้ามการภาวนาได้เลย 

ในเบื้องต้นที่เรียกว่าเป็นการเจริญซึ่งการรักษาศีล การตั้งอยู่บนฐานของศีล ไม่มีอะไรมาขัดขวางได้เลย ทั้งหลับตาทั้งลืมตา ทั้งท่าทางทั้งอิริยาบถ ทั้งสถานที่ ทั้งกาลเวลา ...ใช่มั้ย

มันสามารถน้อมลงในธรรมนี้ได้...ไม่เลือก ...ธรรมนี้จึงเรียกว่าเป็นกลาง ศีลจึงแสดงถึงความเป็นกลาง ไม่เลือกที่รัก ไม่มักที่ชัง เป็นการปรากฏอยู่ด้วยความเป็นกลาง กับทุกสถานะ เพศและวัย และบุคคล

ไม่ปรากฏแบบแตกต่างให้ใครคนใดคนหนึ่ง...สูงกว่า ดีกว่า เหนือกว่า ต่ำกว่า ใช้การได้ดีกว่า หรือใช้การไม่ได้เลยสำหรับบางคน นี่...ไม่มี เป็นกลางโดยตลอด 

เพราะนั้น ถ้าไม่บอกว่าศีลนี่เป็นใหญ่ ในคน ในสัตว์ ในสามโลกนี่ ...ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเป็นใหญ่กว่าศีลแล้ว 

แล้วในระดับเบื้องต้นนี่ เราบอกให้เลยว่า จิตนี่...ไม่เป็นกลาง ทุกคนเลยนะ ...ปัญญาที่เรารู้ ที่เราเห็น ที่เราได้...ว่าเรารู้เราเข้าใจอะไรนี่ ...ไม่เป็นกลาง

แล้วลองนึกลองหาดูสิ อะไรที่เป็นกลาง...เพื่อจะทำให้จิตเข้าสู่ความเป็นกลางได้นี่ โดยที่ไม่เอนเอียง ...ไม่มี ไม่มีอะไรนอกจากศีลนี้ กายนี้ ปัจจุบันกายนี้ อย่างเดียว 

จากจิตที่ไม่เป็นกลาง...เพราะเป็นเรา เพราะมีความรู้สึกเป็นเราในจิต ...มันจึงมีที่หมายที่มั่น มันจึงมีทิฏฐิความเห็นเป็นที่ตั้ง แทรกซึมอยู่ทุกดวงจิต

การจะทำจิต อบรมจิต ให้เข้าสู่ความเป็นกลาง จึงต้องมาจับจิต ควบคุมจิต สำรวมจิต ...ให้มันมาหยุด ให้มันมาอยู่กับสิ่งที่เป็นกลางๆ ที่สุดในกองขันธ์ก่อน

นี่แหละจึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าวางหลักศีลไว้เป็นเบื้องต้น เพื่ออาศัยกายนี้เป็นที่อบรมของจิต จากที่ไม่ค่อยจะเป็นกลาง ไม่เคยเป็นกลางเลย ...มันก็จะได้รับการอบรม 

เบื้องต้นด้วยสติ ระลึก ควบคุม หยุดอยู่...กับกายนี้กายเดียว  เมื่อมันหยุดอยู่กับสิ่งที่เป็นกลาง ซึ่งแสดงความเป็นจริงอยู่หน้าเดียว ไม่มีหน้าหลอก ไม่มีหน้ากากด้วย ไม่มีหน้าซ้ายไม่มีหน้าขวา 

มีแต่ความรู้สึกที่ ยังไง...ยังงั้น กระทบอะไรปรากฏอย่างนั้น กระทบหนาว...หนาว กระทบร้อน...ร้อน กระทบแข็ง...แข็ง กระทบนิ่ม...นิ่ม อย่างนี้ มันเป็นการแสดงแบบกลางๆ ตรงๆ ตรงไปตรงมาของกาย

จิตได้รับการอบรมอยู่กับสิ่งที่เป็นกลางเบื้องหน้ามัน จิตมันจึงจะรู้และเข้าใจสภาวะหนึ่งที่เรียกว่า...รู้และเห็นอย่างแบบกลางๆ ...ไม่เลือก ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่มีเพื่อหวังใดหวังหนึ่งเป็นจุดหมาย 

มันเรียนรู้อย่างนี้ จิตที่อบรมโดยสติและศีล ได้รับการอบรมจนตั้งมั่นขึ้น เป็นกลางขึ้นอย่างนี้ ...นั่นแหละท่านเรียกว่าสมาธิก็บังเกิดขึ้นจากสติระลึกอยู่ในองค์ศีล คือองค์กายปัจจุบัน

เห็นมั้ยว่า แค่เอาสติมาจับจิตให้มาอยู่กับกองกาย แล้วก็ทรงสภาวะแค่กองกาย...รู้อยู่แค่กองกาย เพื่อให้จิตเป็นกลางนี่ ...ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ

กว่าที่มันจะยอมอยู่กับเนื้อกับตัว กับกองกาย กับธาตุกาย กับปัจจุบันกาย แบบไม่กระเสือกกระสนดิ้นรนกระวนกระวาย แล้วมันสามารถจับอยู่ได้นี่ นี่ยังเรียกว่าแค่ สติ ศีล สมาธิ 

ยังไม่ได้ปัญญาเป็นเนื้อเป็นน้ำ เป็นชิ้นเป็นอันเลย  มันยังได้แค่สองในสาม...ขององค์ที่เรียกว่าไตรสิกขาอยู่เลย

แต่ปัญญาเป็นชิ้นเป็นอัน จนถึงเกิดความรู้ความเข้าใจสัจธรรมอันถ่องแท้ แล้วเกิดความละวางถ่ายถอนความไม่จริง ความเห็นความเชื่อที่ไม่จริง ซึ่งเรียกว่าทั้งหมดของปัญญานี่ ...ยังไม่เกิดเป็นชิ้นเป็นอันได้เลย

มาเจอแค่ขั้นตอนต้นว่า กายเป็นศีล ศีลเป็นกาย แล้วมาผูกติดไว้กับกาย...นี่ก็ตายล้มแล้ว ...ไม่ต้องพูดถึงกองธรรมที่เรียกว่าสมาธิหรือจิตตั้งมั่นเลย หรือดวงจิตผู้รู้อยู่ภายใน

เราก็จะถามคนปฏิบัติทุกคนที่ฟัง สังเกตทบทวนดูสิว่า ตนเองน่ะปฏิบัติอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้มั้ย หรือไม่มีอยู่ในแวดวงการปฏิบัติของตัวเองเลย 

หรือเคยมีบ้าง แต่ว่าทอดธุระไม่ใส่ใจ ...แล้วไปจริงจังมั่นหมายกับการปฏิบัติในแง่มุมไหนหรือเปล่า

การอธิบายธรรมของเรา เปรียบเสมือนเอาของที่มันอยู่ในความมืดนี่มาเปิดเผย ...ให้เห็นดำเห็นแดงกันไปเลย ให้เห็นกันแบบว่า...อย่ามาเถียงนะ เถียงไม่ได้นะ

เราถึงบอก อยากรู้มั้ย สงสัยมั้ย  ถามมาสิ...ในแง่มุมของศีลสมาธิปัญญา ถามมาก่อน...ก็เงียบเหมือนกับนั่งอมสากกะเบือกันน่ะ เพราะอะไร ...คืออธิบายจนถึงรากเหง้าแล้วนี่ มันจะเอาอะไรมาคัดง้าง 

นี่แค่ภาษานะ แค่สมมุติธรรมนะ นี่แค่เป็นบัญญัติภาษาธรรมนะ ...ถ้าผู้ปฏิบัติน้อมนำธรรมนี้ไปลองดู ไปปฏิบัติดู ไปทำให้เกิดขึ้นเอง ...นี่ มันหมดคำเถียงเลย

เมื่อเช้าก็ยังมี ..โยมมาฟังธรรมอยู่ชุดนึง บอกฟังธรรมที่อาจารย์เทศน์สอนนี่รับได้หมดเลย ยกเว้นเรื่องศีล ...เห็นมั้ย ถ้ายกเว้นไอ้ตรงนี้เรื่องศีลตัวแรกนี่ จบข่าวเลยนะ ไปไม่ถูกเลยนะ


โยม –  พวกยึดศีลวิรัตินั้นหรือคะ

พระอาจารย์ –  คือความเข้าใจเขาอบรมกันมาอย่างนั้น แล้วครูบาอาจารย์เกือบทุกองค์จะเน้นเรื่องศีลห้า


โยม –  ดูเหมือน ...เรื่องศีล ๕ เป็นหลัก

พระอาจารย์ –  รักษาง่ายดี


โยม –  อย่างนั้น มันเห็นเป็นรูปธรรมมาก

พระอาจารย์ –  การปฏิบัติมันจะต้องตรงต่อศีลสมาธิปัญญา หมายความว่ายังไง หมายความว่า...เดี๋ยวนี้ คือ “เดี๋ยวนี้” นี่ ไม่ว่าจะไปรู้ว่า “เดี๋ยวนี้” ตรงไหน ...ในที่ทำงาน ในที่ตอนมีอารมณ์ ในตรงไหนก็ตาม 

ลองถามตัวเองเดี๋ยวนั้นน่ะว่า...ศีลอยู่ตรงนั้นมีไหม ตอบได้มั้ย สมาธิมีมั้ย ตรงนั้นน่ะ ปัญญามีมั้ย ตรงต่อตรงนั้นเลย หรือแม้กระทั่งนั่งหลับตานี่ ต้องถามตัวเองตรงนั้นเลยนะ...ศีลมีไหม ต้องตอบให้ได้นะ 

ไม่ใช่ปัดๆ ขึ้นมาลอยๆ ว่า ก็สมาทานแล้ว ...ไหน สมาทานแล้วมันอยู่ตรงไหน หา หยิบมาดูหน่อย ...มันจะต้องชัดเจนให้ได้ จับขึ้นมาให้ได้เลยว่าต้องมีศีลอยู่ตรงนั้นจริงๆ นะ 

ไม่ใช่ว่า “มีแล้ว สมาทานแล้ว วันนี้ยังไม่ได้ฆ่าสัตว์เลยสักตัว ไม่ได้โกหกใคร ไม่ได้ประพฤติผิดในกาม ไม่ได้กินเหล้าเลย มีแล้วๆ” ...นี่มีแบบลอยๆ นะ เข้าใจมั้ย อย่ามาอ้างอย่างนี้นะ 

ถ้ายังจับหรือว่าทรงสภาพศีลตรงนั้นอย่างชัดเจนไม่ได้จริงๆ แล้วตอบโจทย์ตรงข้อศีลตรงนั้นไม่ได้  การภาวนานั้นไร้ค่า จากที่กำลังแสวงหาธรรมเบื้องสูงคือสมาธิหรือปัญญานี่ ทั้งหมดนี่ไร้ค่าหมดเลย

แต่ถ้ามันสามารถทบทวนตัวเอง ตอบได้กับจิตของตัวเองเต็มปากเลยว่าศีลครบ หมายความว่ายังดำรงคงอยู่ด้วยสภาพรู้กับกายทั้งตัว...จะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งหรือโดยทั่วโดยรวมของตัวก็ตาม 

เนี่ย สมาธิไม่มีปัญญาไม่เกิด ชั่งหัวมันเถอะ เอาตัวนี้ไว้ก่อน ทำตัวนี้ก่อน ทำความเชื่อในศีลก่อน ทำการตั้งมั่นรักษาจริงๆ จังๆ ก่อน จนมันเข้าถึงศีล จนมันยอมรับสภาพศีลนี้ โดยไม่มีข้อแม้เลย

อย่างที่เราบอกว่าศีลสมาธิปัญญาโดยบริบูรณ์ อันนั้นมันเป็นเรื่องของอริยะบุคคล  แต่พวกเรานี่...แค่ศีลนี่ อย่าถามว่าบริบูรณ์มั้ย ...ถามว่า มีรึยัง แล้วเชื่อว่ามันเป็นตัวศีลจริงรึยัง 

ท่านถึงบอกว่า พระโสดาบันคือผู้ที่เข้าถึงศีล ...แม้จะยังไม่เข้าถึงความบริบูรณ์ของศีลนะ แต่จะดีจะร้าย จะถูกจะผิด จะไปจะมา จะไม่ไปไม่มา อย่างน้อยท่านไม่ทิ้งกายเลย บอกให้ โสดาบันนี่ 

นี่คือสันดานเลยนะ ท่านไม่ไปแสวงหาธรรมที่อื่น ท่านไม่ดำดินบินบนค้นหาธรรมในที่อื่น ท่านไม่ไปแก้ธรรมในอดีต-ในอนาคตในที่อื่น ...อย่างน้อยโสดาบันนี่จะต้องมีสันดานนี้เกิดขึ้น

แล้วถ้าไม่ทำด้วยความซ้ำซากต่อเนื่องจำเจนี่ ...สันดานก็ไม่เกิด ความรู้ความเห็นในองค์ธรรมนี้ ทั้งองค์ศีลองค์กายที่ว่ากาย...สักกาย เป็นกายธาตุ เป็นกายรูป เป็นกายนาม เป็นกายบัญญัติ เป็นกายสมมุติ 

มันก็ไม่บังเกิดความรู้ในกายเช่นนี้ ...แล้วถามว่ามันจะเพิกถอนสักกายทิฏฐิออกจากกายได้อย่างไร มันยังไม่รู้เลยว่าอันไหนเป็นกายจริง อันไหนเป็นกายสักกาย

ไปเอาล่อเอาเถิดกันที่ไหน ...นี่ พวกหมาหางด้วน ภาวนาไปภาวนามา จากหางด้วนแล้ว หูก็แหว่งตัดแล้ว ขาก็อุตส่าห์เดินกะเผลกสามขาแล้ว จนกลิ้งไปกลิ้งมาหาสภาพหมาไม่เจอแล้ว ยังไม่ถึงธรรมเลย 

กลายเป็นผลที่ได้จากธรรมนั้นคือ หมดสภาพหมาไปโดยซะอย่างงั้นน่ะ ...เข้าใจคำว่าหมดสภาพหมามั้ย ...คือหมดสภาพความเป็นมนุษย์น่ะแหละ 

เพราะเมื่อใดที่ออกนอกกาย เมื่อใดที่ไม่รู้อยู่กับกายกับศีล เมื่อนั้นหมดสภาพความเป็นคน ...เพราะคนหรือความเป็นมนุษย์นี่คือภพชาติปัจจุบัน หรือภพชาติตามความเป็นจริงในปัจจุบัน 

มันจึงหล่อหลอมสังเคราะห์รวมขึ้นมาเป็นสองขาสองแขนตัวหนึ่งหัวหนึ่ง มีใจครองอยู่ภายใน ...นี้คือภพชาติปัจจุบัน ที่สมมุติ...ติ๊งต่างเรียกว่า "คน"

ถ้ามันออกนอกกาย มันก็เหมือนกับออกนอกความเป็นคนในปัจจุบัน ...ศีลจึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นคน ศีลจึงเปรียบเหมือนเป็นรั้วเป็นอาณาเขตที่กองกั้นกิเลสน้อยใหญ่ภายในและภายนอก

อานิสงส์ของศีลมากมาย คุณค่าของการรู้อยู่กับกายปัจจุบันนี่มากมาย มหาศาล จำเป็น...สำหรับผู้เริ่มต้นเรียนรู้ขันธ์ 


(ต่อแทร็ก 14/12)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น