วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/13



พระอาจารย์
14/13 (570415A)
15 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –  มันจะเห็น...ถูก-ผิด จริง-ไม่จริง...ได้ชัดเจนขึ้นด้วยตัวของมันเอง ...เมื่อมันชัดเจนว่าอันนี้จริงกว่าที่มันเคยว่าจริงแล้ว มันก็จะเห็นว่าไอ้ที่เคยว่าจริงน่ะมันไม่จริง 

แล้วยังไง ...เห็นแล้วมันก็ทิ้งไป แล้วมันก็มาจับอยู่กับความจริงตรงนี้ แล้วก็อยู่กับความเป็นจริงตรงนี้ไปเรื่อยๆ พิจารณาไป เดี๋ยวก็จะเห็นว่าไอ้ความจริงที่มันจับอยู่ตรงนี้มันก็ไม่จริงอีกแล้ว 

แล้วจะทำยังไง ...ไม่ใช่ควายนี่ มันก็ทิ้งสิ ...ปัญญานี่ มันก็ปล่อย แล้วมันก็อยู่กับความเป็นจริงที่มันว่าจริงตรงปัจจุบันนั้นไป ก็จะเห็น...เอ้า ไม่จริงอีกแล้ว 

นี่ ความเป็นจริง...มีความเป็นจริงอยู่ในความเป็นจริง...เรื่อยๆๆ ไป จนถึงที่สุดของความเป็นจริง

เมื่อมันถึงที่สุดของความเป็นจริงแล้วนั่นน่ะ แล้วจะรู้เองว่าจะไปไหนต่อ พอถึงจุดนั้นน่ะ ...ถึงจุดนั้นมันจะรู้เลยว่าไม่มีที่ไปต่อแล้ว จบ...ในเคสนั้น  

มันไม่ใช่จบโดยตลอดนะ ...เพราะมันเรื่องมาก มากเรื่อง หลายเรื่องที่มันเคยเป็น เคยให้ค่าว่าไอ้ที่เห็นน่ะจริงหมดเลยน่ะ เท่าที่ตาเห็นทุกอย่างนี่เชื่อหมดเลย...ว่ามีอยู่จริงหมดเลยนะเนี่ย

กว่าจะออกจากความจริงเหล่านี้ที่มันว่าหรือที่ว่ากันไป ก็คือมันต้องอยู่ในองค์ภาวนาอย่างยิ่ง อยู่กับความเป็นจริงพื้นฐานเป็นแกน เป็นหลัก

ความเป็นจริงพื้นฐานคือปัจจุบันกาย ...ต้องมีตัวเนี้ยเป็นความเป็นจริงพื้นฐาน หรือเป็นหมุดมาตรฐานไว้ก่อน 

ไม่งั้นน่ะ มันก็จะตกอยู่ในสภาพเดิม คือแปลงร่างเป็นควายเขาโง้ง ตามสภาพจิตที่เคยไปปรุงไว้ ให้ความสำคัญมั่นหมายเอาไว้ว่าจริงอย่างยิ่ง

แต่ในขณะเดียวกันน่ะ ถ้าเรามีหมุดมาตรฐานเป็นตัวยืนยัน ที่มันว่าจริงแล้ว...ไอ้นี่จริงกว่า ... ตัวกายนี่เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่ามีอยู่จริงๆ ณ ที่นี้ ณ ปัจจุบันนี้ เวลานี้

แล้วไงล่ะ เบื้องต้นของการภาวนาก็คือ มันจะเถียง ไม่ยอม ...เรียกว่า ควายก็จะแสดงอาการหงุดหงิด ส่ายหัวไปส่ายหัวมาว่า... "กูจะไปอ่ะ กูจะหาปลักแช่" ...เนี่ย สันดานควาย

ก็ไม่ไป ...แต่มันก็จะไป ... นี่...นี่คือสู้กัน ระหว่างความเป็นจริงกับความไม่จริง...ซึ่งปัญญาควายมันบอกว่าจริง ปัญญาคนบอกว่าไม่จริง กูกำลังจะแปลงร่างจากควายเป็นคนแล้ว 

ก็ขืนสู้มัน...ได้สักพักนึง ยอมแล้ว...เป็นควายดีกว่า ...เนี่ย เสร็จมัน

(บอกโยม) นี่ไม่เป็นควาย นี่เป็นเสือ (โยมหัวเราะกัน) ...เราถามว่าเป็นเสือหรือเป็นคนนี่ตอนนี้ เอางี้ก่อน


โยม – (หัวเราะ) เป็นคนค่ะ

พระอาจารย์ –  อันไหนจริงกว่ากัน


โยม –  เป็นคน...กับปัจจุบัน

พระอาจารย์ –  นี่มาจากกระบี่นะ ใช่มั้ย ...เมื่อปีก่อนนี่มีมาจากนครฯ เป็นอาจารย์ปริญญาโท สอน มช. เดินลงจากถ้ำมาหาเรา บอก “อาจารย์ ตอนที่ผมเดินลงบันไดถ้ำมา ปากผมยื่นมาเหมือนครุฑ มีปีกด้วย” 

เราก็บอก “เหรอ นี่ดีนะไม่บินมาหาเรา ถ้าบินมา...ท่าจะไม่ถึง” (โยมหัวเราะกัน)

ดีที่วันก่อนหน้ามันมาหาเราก่อนแล้วเราบอกว่า...ให้อยู่กับกายไว้ๆ  ดีนะที่มันยังคอยหยั่งอยู่ในขาที่กำลังก้าวเดิน ...นี่ถ้าหลงบินมาล่ะ กูต้องไปแงะศพเชียว

นี่มาจากโซนเดียวกันหมดเลย โซนเดียวกัน นครฯ, กระบี่ เดี๋ยวก็มาแล้ว ยะลาอีก ...นี่ ประเภทเหาะมาทั้งนั้น กว่าจะเด็ดปีกเด็ดหางมันออกนี่ หือ ไอ้นั่นก็เด็ดปีก ไอ้นี่ก็กำลังจะเด็ดหาง 

แต่ไม่ต้องกลัวหรอก เดี๋ยวก็งอกอีก เชื่อมั้ย ...เพราะพวกเราจะต้องเอาล่อเอาเถิดกับความรู้ความเห็น ความออกไปของจิตอย่างนี้


โยม –  โยมว่าไม่งอก

พระอาจารย์ –  อย่าเพิ่งตายใจ


โยม –  ก็สงสัยมาเลยว่าจะต้องทำยังไง แต่พอมาได้ฟังแล้วก็ชัด...ชัดเจนขึ้นค่ะ

พระอาจารย์ –  สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี่ ชัดเจนในระดับนึง ...แล้วเราจะต้องไปทำความชัดเจน...โดยภายในของตัวเองอีกระดับนึง ...คือจะต้องดู รู้อยู่กับกายจริงๆ จนจิตมันยอมรับว่า เนี่ย จริง

จากจิตที่มันโง่ มันก็จะฉลาดขึ้น จากที่เป็นควายเขาโง้งนี่ เขาก็จะหด

แต่มึงอย่าเผลอนะ เดี๋ยวเขางอกใหม่ เข้าใจมั้ย ...ถ้าเราคอยหยั่ง คอยน้อมลงในความเป็นจริงของกายบ่อยๆ ...เขาจะหด หางหด จากสี่ขาก็เริ่มยืนเป็นสองขา ...เริ่มกลับมาเป็นสภาพคน

แล้วยังไม่จบแค่สภาพคนนะ ... ในความเป็นคน...ยังไม่มีความเป็นคนในคนอีก  ในความเป็นกายเรา...ยังไม่มีกายเราในกาย แล้วในความเป็นกาย..ยังไม่มีกายในกาย อย่างนี้

กว่าที่มันจะถอนลงไปถึงรากเหง้าของความเป็นจริงนี่ เขาเรียกว่าฟันฝ่ามรสุม ดงแข้งดงตีน เอ็ม ๑๖ กว่าที่มันจะลงมาถึงร่องของความเป็นจริง

แต่ยังไงก็ยึดหยั่งไว้กับยืนเดินนั่งนอน...กายปัจจุบัน นี่คือต้องตีหมุดมาตรฐานที่เดียว ตอกอยู่ที่เดียวให้มันแน่น ให้มันแน่น ให้มันหนา ให้มันจมลึกลงไปก่อน ...นี่คือฐาน นี่คือรากฐานของการปฏิบัติธรรม


โยม –  ต้องด้านใดด้านหนึ่งให้เข้มนี่ดีไหมคะ อย่างเดินหรือนั่ง

พระอาจารย์ –  อะไรก็ได้ ขอให้เป็นอิริยาบถปัจจุบัน ... แล้วก็อยู่กับอิริยาบถปัจจุบัน ไม่ไปรู้ไม่ไปเห็นอะไรนอกเหนือจากอิริยาบถปัจจุบัน 

เช่น นั่งอยู่อย่างนี้ ให้ทำความรู้อยู่แค่รู้ว่านั่ง...กำลังนั่ง ดูความรู้สึกของการนั่งอย่างเดียว แล้วไม่ต้องไปอยากรู้อยากเห็นอะไร โง่เข้าไว้ แล้วจะรู้จักภาษาใหม่...ฉลาดแบบโง่ๆ มันจะเกิดความฉลาดแบบโง่ๆ ภายใน

แต่ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่โง่แล้วอวดฉลาด มันไม่รู้จริงหรอก แต่มันอวดว่ามันรู้จริง นี่เขาเรียกว่าโง่อวดฉลาด ...ทุกคนนะ กิเลสมันจะแสดงท่าทางหน้าตาของมันเป็นอย่างนี้

แล้วมันพยายามแข่งกันโง่แล้วอวดฉลาด แข่งกัน แข่งความคิด แข่งความเห็น ที่มันจะกลั่นกรองออกมาแบบพิสดารที่สุด แบบใครพิสดารกว่า คนนั้น...'มึงเก่งจริงๆ'

แต่มาถึงเรานี่...เด็ดปีกเด็ดหางไอ้โคตรโง่นี่เลย ...ซึ่งมันจะมีความรู้สึกว่า เสีย self นะ ... self คือใคร  self คือของเรานี่แหละ ...คือความเป็นตัวเรานั่นเอง

เพราะนั้นครูบาอาจารย์ ...ให้สังเกตดู ท่านไม่ค่อยชมหรอก ด่าลูกเดียว ...เพื่ออะไร ...เพื่อทำลาย "อัตตาของเรา" ...เอาให้มันจมธรณีไปเลย 

เพราะนั้นการภาวนานี่ ไม่ใช่มาเสริมสร้างอัตลักษณ์ส่วนบุคคลขึ้นนะ ...มันเป็นการทำลายอัตลักษณ์ อัตตาหรือลักษณะของอัตตา ที่รวมกันเรียกว่าอัตลักษณ์ของเรา ลักษณะของเรา

เพราะนั้นที่มันทำกันอยู่นี่ มีชีวิตกันอยู่นี่ เพื่อพยายามดำรงชีวิตแบบ...ตกแต่งลักษณะของเราให้เป็นที่ยอมรับในโลก แล้วก็ฉาบทา ดามจนความเป็นเรา ลักษณะของเรานี่ แข็งแกร่ง ไม่ให้ถูกละเมิดล่วงเกิน

นี่ โดยธรรมชาติของกิเลสเลย โดยธรรมชาติของจิตผู้ไม่รู้ มันจะสร้างคุณสมบัติ คุณลักษณะของการเกิดมาพร้อมกับขันธ์นี่ ทุกตัวขันธ์เลย จะเป็นอยู่ในอัตลักษณ์นี้ เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ให้ยิ่งขึ้นไป

แต่ในทางตรงกันข้าม ...การภาวนานี่มันกลับเป็นการลดทอนหรือทำลายอัตลักษณ์ “ของเรา” จนถึงกระทั่งทำลายอัตลักษณ์ของขันธ์ 

คือการดำรงคงอยู่ปรากฏขึ้นของขันธ์ในลักษณะที่รวมกันเป็นก้อนกองอย่างนี้ ...แล้วการที่จิตเรา การที่อวิชชามันมารับรู้สภาพขันธ์นี่ มันจะรับรู้ในลักษณะที่มันรวมขันธ์ รวมขันธ์ให้เป็นลักษณะอัตลักษณ์ 

แล้วมันก็เข้าไปตีค่าตีความหมายของอัตลักษณ์นั้นโดยบัญญัติและสมมุติ สวยงามบ้าง ไม่สวยงามบ้าง ขาวบ้าง ดำบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง แล้วก็ยึดอัตลักษณ์นั้นอย่างจริงๆ จังๆ เป็นอัตลักษณ์ของขันธ์หมด

แต่ด้วยอำนาจของการภาวนา ด้วยปัญญานี่ ...ตัวสติ ศีลสมาธิปัญญานี่ มันจะเป็นตัวเข้าไปทำลายอัตลักษณ์ของขันธ์  ...ทำลายยังไง ...โดยแยกแยะ จำแนก แบ่งออกจากกัน

นี้เป็นกาย นี้เป็นใจ นี้เป็นจิต นี้เป็นคิด นี้เป็นอารมณ์ นี้เป็นความรู้สึก นี้เป็นสัญญา นี้เป็นเห็น นี้เป็นรูป นี้เป็นได้ยิน ...นี่ มันจะเห็นแต่ละกองๆ แยกออกเป็นส่วนๆๆๆ ไม่ได้มาเหมารวมกันในที่อันเดียว

ถ้ามันรวมกันเป็นที่อันเดียวโดยที่ไม่มีการแบ่งแยกเลย มันจะเกิดความเป็นอัตลักษณ์ของขันธ์แล้วมันจะเข้าไปหมายทันทีว่า อัตลักษณ์นี้คืออัตลักษณ์ของเรา ...ท่านเรียกว่าอัตตาขันธ์ อัตตาในขันธ์

แต่เมื่อใดที่มันเห็นหรือมันแยก โดยที่มันไม่สามารถเข้ามารวมตัวกันได้ติดนี่ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างว่า ผม หนัง เลือด เนื้อ กระดูก...เป็นเรามั้ย ...นี่ ถ้าพูดโดยวัตถุนะ 

เอามาแยกเป็นส่วนๆ ใส่โหลไว้ๆ อย่างนี้ มองด้วยสายตานะ มันจะเห็นเลยว่า หญิง-ชายอยู่ตรงไหนวะ มันเป็นเราตรงไหนวะ กระดูกแต่ละชิ้นๆ ที่กองกันอยู่นี่ เอ้า

อันนี้คือยกตัวอย่างเปรียบเปรยให้ฟัง ...เพราะถึงนิมิตเห็นไปอย่างนั้นมันก็ยังไม่สามารถทำลายอัตลักษณ์ของขันธ์ได้จริงหรอก อย่างนี้มันพอแค่เห็นลางๆ

แต่ถ้ามันจะเห็นจริงนี่ ...มันจะต้องเห็นในแง่ของความรู้สึกที่ปรากฏ ณ ที่นี้ ในขณะเดียว ...ขณะที่นั่งนี่ มันมีกี่ความรู้สึกในการนั่งนี่ หือ 

นี่ ลมพัดก็หนึ่งความรู้สึกแล้ว พอลมหายไปปุ๊บ มันมีความแน่นแข็งอีกหนึ่งความรู้สึกอยู่ในนี้


โยม –  อ๋อ การเห็นที่มีประโยชน์ก็คือการเห็นว่า...ตัวเรานี้ไม่มี

พระอาจารย์ –  มันจะต้องเห็นความเป็นจริงของกายอย่างชัดเจน


โยม –  เห็นว่ากายมีแต่กระดูกอย่างนี้หรือ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ ...เห็นกายเป็นแต่เพียงก้อนความรู้สึก 

ถ้ายังเห็นกายเป็นกระดูก ...นั่นก็คือเสือตัวหนึ่ง เข้าใจมั้ย คือนิมิต ยังเป็นกายนิมิตที่เกิดจากจิตอยู่ ...แต่การที่เห็นตรงๆ ตรงๆ คือมันเป็นแค่ความรู้สึกนี่ ...ไม่ได้เห็นจากจิตปรุงแต่ง

เพราะนั้นการที่เข้าไปเห็นกาย...แบบจะเป็นกระดูกก็ตาม ก็ยังมีความปรุงแต่งของจิต ... มันก็ไม่ต่างจากโยมนิมิตเห็นเสือหรอก แต่เปลี่ยนจากเสือมาเป็นกระดูกซะแทน 

แต่เห็นกระดูกนี้คือแง่หนึ่งที่ก็ไม่ถือว่าผิดพลาดมากเกินไป เพราะยังเป็นเรื่องของกายอยู่ เข้าใจมั้ย ...แต่ยังไม่เรียกว่า กายตรงๆ

เพราะนั้นการพิจารณากายตรงๆ ไม่ใช่พิจารณาให้เข้าไปถึงกระดูกแล้วเห็นกระดูก ...จริงๆ กระดูกก็มี แต่ว่าความปรากฏของกระดูกจริงๆ ในปัจจุบันมันปรากฏอย่างไร 

มันปรากฏเป็นความรู้สึกแข็ง ใช่มั้ย นั่นแหละกระดูกของจริง ที่เขาแสดงจริงๆ ...ไม่ใช่สีขาวๆ ไม่ใช่เป็นก้านๆ ท่อนๆ ...ไอ้นั่นน่ะจำมา

ก็เห็นมั้ยเนี่ย เห็นกระดูกมั้ย ...ตาเนี่ย ศักยภาพของตาปัจจุบันนี่เห็นมั้ย...ไม่เห็นนะ ศักยภาพของจิตปัจจุบัน...ก็ไม่เห็นนะ 

แต่ถ้าศักยภาพของจิตกับศักยภาพของตาปัจจุบัน มันจะเห็นความรู้สึกของกระดูก...คือแข็ง แน่นๆ ในแต่ละส่วนองคาพยพ ที่มันนั่งอยู่ได้นี่เพราะกระดูกมันยันไว้ นี่คือความรู้สึกที่มันยันน่ะ เป็นความรู้สึก

นี่เรียกว่าการพิจารณากายตรงๆ ...แล้วมันไม่ใช่มีความรู้สึกแค่กระดูกอย่างเดียว ความรู้สึก ตึง แน่น ไหว กระเพื่อม ยืดหยุ่น หยุ่นๆ อับๆ ทึบๆ หือ มีมั้ย ความรู้สึกเหล่านี้...ก็มีนี่

เออ ถ้าหมดเวลาทั้งวันไปกับการจับความรู้สึกอย่างนี้ ...ลืมไปเลยเสือหรือครุฑ ลืมไปเลยอดีต-อนาคต ลืมไปเลยว่ามีนักเรียนว่ามีครู ว่าเป็นครู ว่าเป็นสถานะใด มันเหมือนลืมไปเลย

แต่มันมีอะไรไม่รู้วนเวียนๆ ซึ่งไม่รู้อะไรเหมือนกัน มันจะเห็นแบบงงๆ งงๆ อะไรวะ ...เพราะไม่มีจิตเข้าไปเอาบัญญัติไปรองรับ เพราะไม่มีจิตส่งออกเอาภาษาไปรองรับธรรม

มันก็จะเริ่มแบบ เอ๋อ เนี่ย โง่ รู้แบบโง่ๆ ...เอ๋อ เอ๋อก่อน แต่ในความเอ๋อนั่น คือความฉลาดซ่อนอยู่ในนั้น ...เพราะอะไร เพราะความรู้แบบเอ๋อๆ นี่ คือมันรู้เห็นสิ่งที่เป็นความจริงล้วนๆ เลย

เป็นความจริงที่เรียกว่าความจริงเหนือบัญญัติ เป็นความจริงที่เหนือสมมุติภาษา เป็นความจริงที่เหนือตำรา เป็นความเป็นจริงที่เหนือคำกล่าวอ้างใดๆ  

คำกล่าวอ้างใดๆ ทั้งภายนอก...คือคำจากปากคนอื่น คำกล่าวอ้างใดๆ ภายใน...คือจิตกล่าวอ้าง ...เนี่ย คือความเป็นจริงที่เหนือบัญญัติและสมมุติ

การที่เห็นความเป็นจริงเหนือบัญญัติ เหนือสมมุติ ซ้ำซาก บ่อยๆ ...การรู้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้ ท่านเรียกว่าปัญญาญาณ ... เมื่อมีการรู้เห็นความเป็นจริงบ่อยๆ ต่อเนื่อง มันก็คือการพอกพูนปัญญาญาณ

ตรงนี้เขาควายก็จะหด ความโง่หด ความจริงจังมั่นหมายที่เกิดจากจิตปรุงแต่งหด ...เริ่มเข้าใจมากขึ้นถึงความไม่มีสาระแก่นสารของความคิด ตามอารมณ์ ตามที่เห็น ตามที่ได้ยิน

สบายมั้ยล่ะนั่น ...ไม่รู้ ...ไปทำเอง ...พอถึงตรงนั้นแล้วจะรู้ว่ามันสบายกว่ากันเยอะเลย มันทุกข์น้อยกว่ากัน เยอะเลย ... แต่โทษที สุขก็ไม่มีนะ ... ก็ไม่สุข แต่มันก็ไม่ทุกข์

ทำไมถึงไม่สุข ทำไมถึงไม่ทุกข์...ก็เพราะมันไม่มีเรา ... เมื่อไม่มีเรา มันจะมีอารมณ์ตรงไหนเป็นเราล่ะ มันจะมีใครไปรับอารมณ์ล่ะ มันจะมีใครไปสร้างอารมณ์ล่ะ...ไม่มี


โยม –  แล้วการปฏิบัติไปจนถึงขั้นไม่มีแล้วนี่ ยังดำเนินชีวิตได้เป็นปกติรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ได้ ...ดีกว่าปกติด้วย ดีกว่าที่เรากำลังดำเนินอยู่นี้ด้วย


โยม –  แล้วมันต้องควบคุมตนเองไม่ให้จิตส่งออกไปข้างนอก

พระอาจารย์ –  คือในฐานะที่เรายังอยู่ในวิบากแห่งการที่ต้องมาข้องแวะกับผู้คน การงาน อย่างนี้ ...มันจะไม่ให้จิตส่งออกนอกเลยโดยเด็ดขาดเบ็ดเสร็จไม่ได้


โยม –  วิธีแก้คือ

พระอาจารย์ –  อย่าให้ออกนาน อย่าไปอยู่ข้างนอกนาน ...นานจนลืมไปเลยว่ามีกายนี้อยู่


(ต่อแทร็ก 14/14)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น