วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/3


พระอาจารย์
14/3 (570407C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 เมษายน 2557



พระอาจารย์ –  (พูดถึงที่มีผู้โทรมาปรึกษา) พวกนี้คือผู้ปฏิบัติธรรม ...แต่ปัญหาผัวเมีย กรรมและวิบาก มันเป็นเรื่องของกรรมและวิบาก และมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน...ซับซ้อนจนดึงจิต ดึงจิตแล้วแก้ไม่ออก 

เข้าใจมั้ย ขว้างงูไม่พ้นคอ ...คือมันไม่ใช่เรื่องของผัวเมียทะเลาะกัน มันเป็นเรื่องที่มันมีเหตุหลายเหตุปัจจัย ซึ่งไม่กล้าตัดสินใจกันได้ เป็นคาราคาซัง ...อย่างนี้เป็นคาราคาซัง

เราก็ชี้ทางบอกทางภายนอก แก้ปัญหาอย่างไรพอสมควร โดยยืนอยู่บนหลัก ไม่ออกนอกไปละเมิดศีลสมาธิจนเกินไป ...เพราะมันเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามสี่ห้า ที่มันไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ...มันซับซ้อน


โยม –  โยมเห็นว่า ถ้าไม่ได้ภาวนานี่ ถ้าเราทำอะไรด้วยเจตนา คือยังไงมันก็ต้องเป็นการเห็นอย่างคนอื่น ถึงแม้ว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่พอเรามีเจตนาของเรา มันก็ต้องกระทบคนอื่นเขา แต่ว่าถ้าเกิดว่าภาวนา มันไม่ได้มีแต่เราถอน มันก็กรรมของคนอื่น

พระอาจารย์ –  ถ้ามันวางไม่ได้ ไม่มีเจตนาก็ตาม  แต่เจตนาคนอื่นเขาไม่วางน่ะ ...ตรงนี้ มันจะเกิดภาวะที่ว่าเป็นกระแสมากดทับ  

พอมีกระแสกดทับ ...แล้วด้วยอำนาจของความที่เรายังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  มันจึงมีการที่เรียกว่า เกิดภาวะเกรงใจ เกิดภาวะเป็นห่วง เกิดภาวะกังวล

ทั้งที่ว่าเราก็ไม่มีอะไรหรอกนะ แต่ว่าเจตนาภายนอกนี่ กรรมวิบากไม่ยอมขาดน่ะ กรรมที่เนื่องด้วยบุคคลนี่ ความยึดมั่นถือมั่นนี่ ...มันก็เข้ามาบีบ ทำให้จิตมันเกิดความหวน

เข้าใจมั้ย อาลัยอาวรณ์ในทางโลก หรือว่าเกิดความเกรงอกเกรงใจ หรือเกิดความไม่แล้วใจ หรือกลัวว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ยังเงี้ย ...เห็นมั้ย มันต้องมี ต้องเจอ บอกให้เลย


โยม –  โยมเจอค่ะ เคยไปวัดกับแม่ แล้วโยมจะนั่งสมาธิต่อ แม่บอกจะให้กลับ อันตราย แต่โยมบอกไม่อันตราย โยมจะนั่งสมาธิต่อ นั่งซักพักนึงก็รู้สึกว่ามีกระแสส่งมาจากข้างหลัง เป็นกระแสที่เหมือนเป็นห่วงแล้วก็โมโห แล้วก็ทำให้จิตมันไปด้วย

พระอาจารย์ –  คือถ้ามันแก้ไขได้เบ็ดเสร็จเนี่ย หมายความว่ามันไม่แยแสเลย ...มันก็จะตัดกระแสทุกกระแสเลย


โยม –  แต่คนอื่นเขาจะรู้สึกว่า ไม่เป็นห่วงพ่อแม่ เป็นคนไม่ดีอะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  ก็นั่นน่ะสิ ...ก็อย่างนี้ไง เห็นมั้ย นี่คือลักษณะของสีลัพพตปรามาส  เรายังติดในธรรมเนียม เห็นมั้ย ยังรักษาหน้าตาของเราอยู่ ยังกลัวว่าโลกเขาจะประณาม ยังกลัวพ่อแม่จะประณาม

นี่คือธรรมเนียม นี่คือสีลัพพตะ ...แล้วมันก็ยึดให้เกิดสักกายะ รักษาสักกายะ คือตัวเรา หน้าตาของเรา ความเป็นลูกที่ดี ความเป็นคนที่ดี ความเป็นคนกตัญญู คนที่เชื่อฟังพ่อแม่ ...มันยังมีรูปทรงของเราที่ดีอยู่


โยม –  มีพ่อแม่ของเรา มีเราอยู่

พระอาจารย์ –  เออ มีหมดน่ะ เห็นมั้ย ...เรียนรู้ดู ถ้ามีปัญญามันจะแยกแยะออก


โยม –  โยมก็เลยหลบ หลบแบบใช้จิตภาวนาเอา

พระอาจารย์ –  ถ้ามันมีปัญญานี่ มันจะแยกแยะออกเป็นฉากๆ อย่างนี้  แล้วพอมันแยกแยะออกเป็นฉาก แล้วมันจะวางได้หมด 

คือมันจะปล่อยได้เป็นพีเรียดๆ เข้าใจมั้ย ...มันไม่ลุล่วงหรอก แต่มันจะเห็นเป็นเล็กน้อยไป เป็นสะเก็ดๆ เป็นเรื่องๆ เป็นต่อนๆ ตอนๆ ไป อย่างนี้

แล้วก็มันจะสะสมความรู้ความเข้าใจในความเป็นสักกาย สีลัพพต วิจิกิจฉา จะดำรงชีวิตอย่างไรในทางโลกและทางธรรม นั่น มันก็สงสัย จะเลือกโลกหรือธรรมดี

จะเห็นแก่ธรรม หรือจะเห็นแก่โลก สงสัยมั้ย สงสัย มันก็วางตัวไม่ถูก  เห็นมั้ย วิจิกิจฉามันก็ทำให้เกิดเราที่วางตัวไม่ถูก ...มันอยู่พร้อมกันเลยนะสามตัวสังโยชน์นี่เวลามันเกิดน่ะ

แต่ถ้ามันแยกแยะได้โดยละเอียดแล้ว มันก็...อ๋อ พอเข้าใจ  แล้วพอเข้าใจแล้วนี่ พอจิตมันตัด ละได้ วางได้ในเรื่องนั้นทั้งสามตัวพร้อมกัน...หมายถึงละได้เฉพาะในเรื่องนั้นนะ ในเรื่องเหตุการณ์ปัจจุบันนั้นนี่

แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะคลี่คลาย ...เขาก็จะรับรู้ได้ แล้วเขาก็จะเปลี่ยนสภาพไป อีกแบบนึงเลย โดยที่เราไม่ต้องไปพูด อธิบาย เจรจาชักแม่น้ำทั้งห้าหว่านล้อมให้เขาเข้าใจและยอมรับ


โยม –  ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ที่มันเป็นเรื่องอยู่เพราะว่าไปเหนี่ยวไว้ทั้งสองข้าง

พระอาจารย์ –  เราวางก่อน แล้วสุดท้ายเขาจะวางเอง โดยที่เขาก็จะยอมรับโดยที่ว่าไม่ได้เป็นการที่เราไปทำให้เขายอมรับ ...นี่คือการแก้ภายใน


โยม –  บางทีเราไม่เห็นว่าจิตเราก็ไปหน่วงให้เขารู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน

พระอาจารย์ –  ต่างคนต่างยึด มันยังมีอยู่ ...ถึงแม้เราจะหลบเข้าไปในการภาวนา หลบจิตเข้าไป ความยึดถือยังมีอยู่ ยังมีกระแสพันธนาการอยู่  ...แล้วเราก็ว่าเราไม่มีเจตนานะ 

จิตมันก็ไม่มีเจตนาหรอก...กูยึดของกูเอง มีอะไรรึเปล่า ...เข้าใจมั้ย


โยม –  อ๋อ มันเป็นเรื่องของกรรม

พระอาจารย์ –  เออ ความคุ้นเคย การกระทำในอดีต เข้าใจมั้ยว่าการทำบ่อยๆ การพบเจอบ่อยๆ มันเป็นความยึดโดยไม่รู้ตัวเลย มันจะสร้างพันธนาการ สัมพันธภาพที่เรียกว่าความเกาะเกี่ยวโดยที่ว่าไม่รู้ตัวขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ

แล้วมันก็จะมีความยึด ทั้งที่ว่าเราก็ไม่ได้มีเจตนา ...แต่มันมี ลึกๆ มันมีแล้ว  เพราะว่าความเป็นอนุสัย สัญญาที่มันซ้ำซากๆ ...คือมันไม่ได้เกิดเป็นพ่อแม่ลูกกันชาติเดียวนี่ ไม่รู้เกิดมาสลับแม่สลับลูกกันมากี่ชาติ 

เพราะนั้นมันก็เกิดความผูกพันโดยลึกๆ อยู่อย่างนั้น  แม้แต่เราก็ว่า หนูก็ไม่ได้เจตนานะ ก็เฉยๆ แล้วนะนี่ ...แต่ลึกๆ ไม่เฉยหรอก มันยึด มันยังมีความยึด


โยม –  แล้วจะถอนยังไงคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องถอน ไม่ต้องอะไร ...คือพูดอธิบายให้เข้าใจ แล้วก็เวลามันแสดงอาการขึ้นมา ก็ทำความแจ้งกับมัน ทำความแจ้งในแต่ละอาการ 

เช่นอย่างนี้มันมีกระแส หรือมันเห็นตรงนี้ แล้วก็พยายามทำความแจ้งในความปรากฏการณ์นี้ อะไรเป็นอะไร แค่นี้ มันจะเข้าไปล้วงลึก ทำลายลึก ในพันธนาการลึกๆ ที่เรียกว่าอยู่ในชั้นของอนุสัย อาสวะ ด้วยปัญญา 

มันจะเข้าไป...ล้วงลึกเข้าไปเอง เมื่อเราแจ้งในแต่ละปัจจุบันที่มันเกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมา เข้าใจมั้ย


โยม –  แต่ว่าอาจารย์บอกว่า อย่างวาสนาอะไรอย่างนี้ มันแก้ไม่ได้ไม่ใช่หรือคะ  โยมคิดว่าถ้าแจ้งขันธ์แล้วเหมือนกับมันก็ไม่เอาเอง

พระอาจารย์ –  นี่มันยังแยกไม่ออกระหว่างวาสนากับอนุสัยกิเลส ...ไม่เหมือนกันนะ อนุสัยวาสนากับอนุสัยกิเลส นี่คนละเรื่องนะ ความเคยชินในอากัปกริยาอาการ...กับความเคยชินกับกิเลสนี่...ไม่ใช่นะ

อนุสัยสัญญา กับอนุสัยวาสนา คนละเรื่อง ...ท่านเรียกว่าอุปวาสนา ท่านไม่ได้เรียกว่าอุปกิเลสนะ  อุปวาสนา อุปบารมี พวกนี้เป็นการกระทำแบบคุ้นเคยในการบำเพ็ญในการดำเนินชีวิตวิถี ท่านเรียกว่าอุปวาสนา อุปบารมี


โยม –  มันเป็นภายนอก

พระอาจารย์ –  เป็นลักษณะของขันธ์ การดำเนินของขันธ์ ที่มันคุ้นเคย เช่น ระหว่างนั่งรอรถเมล์ อย่างนี้ แล้วก็เปิดหนังสืออ่านหรือว่าทำอะไร หรือทำเป็นกิจวัตรอาจิณ ...นี่ ถามว่าเป็นกิเลสมั้ย

คือมันจะติดเป็นนิสัยอย่างนี้ คุ้นเคยอย่างนี้ เพราะนั้นเวลาพอมันไปนั่งรอรถเมล์ มันก็ทำอย่างนี้ หรืออาจจะเป็นอาการเกาหัวบ้าง หรือว่าลุกลี้ลุกลนอย่างนี้ก็ได้ ...นี่เขาเรียกว่าอุปวาสนา อุปนิสัย มันก็จะเป็น

มันไม่ใช่เรื่องกิเลสหรือไม่กิเลส เข้าใจมั้ย ...มันเป็นความคุ้นเคย เคยชินในอากัปกริยา หรือแม้แต่ลักษณะคำพูด มันติดปากอะไรหรืออะไรอย่างนี้

ในสมัยพระพุทธเจ้าก็มี แม้แต่พระสารีบุตรท่านก็มีอุปวาสนาท่านอย่างนั้น เดินไปเดินมากระโดดด๊อกแด๊ก เพราะว่าคุ้นเคยกับความเป็นลิง เกิดเป็นลิงหลายชาติ อะไรอย่างนี้

นี่ก็เป็นอุปวาสนา พระพุทธเจ้าบอกว่าแก้ไม่ได้ แต่ไม่ใช่กิเลส ...มันคนละเรื่องกับอุปกิเลส 

อุปกิเลสมันเป็นเรื่องของอนุสัยสันดานที่เกิดสะสมนอนเนื่อง...ด้วยอำนาจของความเป็นเราของเรา แล้วสร้างความเจตนาอยากและไม่อยาก

มันเนื่องด้วยความอยากและไม่อยาก มีเป้าประสงค์คือจุดมุ่งหมายแห่งความอยากและไม่อยาก คือตัณหา...พาไปสู่ภพและชาติ ภพและชาติคือเป้าหมาย ...ถ้าอย่างนี้เรียกว่าอนุสัยสันดาน


โยม –  สันดานดี สันดานไม่ดี

พระอาจารย์ –  อือ อย่างนั้นน่ะ ไอ้อย่างนี้แก้ได้ ละได้ และต้องละด้วย ...แต่ไอ้ตัวอุปวาสนานี้ละไม่ได้แก้ไม่ได้ ไม่ต้องละ


โยม – เหมือนโยม โยมก็เห็นโยมสันดานไม่ดีเยอะ แต่ว่าเหมือนภาวนาไป ก็ไม่ต้องไปเป็นคนดี  มันก็ละไม่เป็นคนดี

พระอาจารย์ – ทำจิตให้ดี ไม่ต้องทำตัวให้ดี ...ถ้าจิตดีแล้ว เราสามารถตอบตัวเองได้โดยไม่อายปากว่าจิตดีแล้วนี่ ไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นเขาจะว่าไม่ดี

ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงรูปขันธ์ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงท่าทางภายนอกเพื่อให้เขายอมรับ ...แต่ต้องตอบตัวเองได้ก่อนว่า จิตตัวเองดีรึเปล่า จิตตัวเองบริสุทธิ์จริงรึเปล่า ...ไม่ใช่ยกหางตัวเอง ไม่ใช่เข้าข้างตัวเองนะ

เนี่ย การภาวนามันจะต้องตรง...ตรงต่อกิเลส ตรงต่อเจ้าของ ตรงต่อความเป็นจริงของตัวเอง ...มีก็รู้ว่ามีกิเลสอยู่ แอบทำก็รู้ว่าแอบทำอยู่ แอบสร้างตัวตนที่ดีก็รู้ว่าแอบสร้างตัวตนที่ดีอยู่...ต้องรู้

ต้องตรงไปตรงมา ... ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็ว่าไม่ดี  จิตไม่ดี...แล้วก็ทำไปด้วยอากัปกริยาไม่ดี ก็รู้  จิตดี...ทำไม่ดี ก็รู้  ...นี่ ต้องตรง ไม่มาปิดหูปิดตา หลิ่วหูหลิ่วตาข้างหนึ่ง

ชัดเจนกับตัวเองมากๆ ... ไม่ต้องไปอายใคร ไม่ต้องกังวลกับใคร ...เพื่อจะกระชากหน้าตากิเลสของตัวเองออกมา กระชากหน้ากากของเรานี่ออกมา

เพื่อทำลาย ...ทำลายด้วยการทำความแจ้ง แยกแยะออกเป็นส่วนๆๆๆ อย่างที่เราบอกนี่ 

อันไหนเป็นสักกาย อันไหนเป็นวิจิกิจฉา อันไหนเป็นสีลัพพตปรามาส ...และอะไรเป็นเหตุให้เกิดสักกาย อะไรเป็นเหตุให้เกิดวิจิกิจฉา อะไรเป็นเหตุให้เกิดสีลัพพตปรามาส 

มันจะวกวนทบทวนอยู่ด้วยปัญญา สอดส่องอยู่อย่างนี้ จนกระจ่าง เกิดความกระจ่างขึ้นในที่มาที่ไป ลักษณะตรงนี้ที่เรียกว่าปัญญาญาณที่มันเข้าไปล้วงลึกถึงขั้นอาสวะหรืออนุสัย


โยม –  ก็เหมือนอย่างโยมน่ะค่ะ โยมดื้อ ใครสอนไม่ค่อยได้ จะฟังแค่บางคน อันนี้ก็ถือว่าเป็นอุปกิเลสรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  มันก็เป็นอุปสันดาน อุปวาสนา  คือพวกที่มีการเจริญปัญญานี่ มันไม่สุ่มสี่สุ่มห้า สันดาน คือผู้ที่สะสมการเจริญปัญญามานี่ มันจะไม่เชื่อไปทั่ว มันจะไม่ฟังไปแบบสะเปะสะปะ มันจะมีการคัดกรอง

แต่ว่าในการคัดกรองนี่...มันก็จะมีพร้อมกับความถือตัวอยู่ เข้าใจมั้ย ...คือยังมีกิเลสแอบแฝงอยู่  แต่ว่าในสันดานน่ะมันมีปัญญาในตัวพอสมควร แต่ว่ามันยังไม่พอใช้พอกิน

แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีอย่างนึงที่มันเลือกธรรมได้ตรง ในลักษณะที่ตรงต่อเหตุให้เกิดปัญญา แม้จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะว่าเรายังไม่ใช่เป็นปัญญาขั้นวิมุติโดยตรงเกิด

มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรหรอก ...เพราะจริงๆ น่ะ เราไม่ได้สอนเลยว่า จะต้องไปตามล่าครูบาอาจารย์ หรือไปฟังเทศน์เป็นอาจิณ ...ก็ให้รู้ตัวอย่างเดียว เป็นหลัก

การฟังเทศน์ฟังธรรมนี่ ฟังพอให้ได้สติ ฟังพอให้เกิดกำลังใจ ฟังพอให้ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการปฏิบัติของตัวเอง พอแล้ว อย่าไปเอาเนื้อถ้อยกระทงความ อย่าไปเอาอะไรมากมายในการฟังธรรม

แล้วก็อยู่กับการประกอบกระทำให้มาก โดยไม่พึ่งสิ่งอื่นภายนอก ให้พึ่งตัวเองให้มากที่สุด คือพึ่งกายพึ่งใจตัวเอง อยู่กับกายกับใจตัวเองให้ได้มาก 

ถ้าฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วมันไม่รู้เนื้อรู้ตัว... อย่าฟังดีกว่า ไม่มีประโยชน์


โยม –  มันจะได้แต่ปัญญาคิด

พระอาจารย์ –  คิดแล้วก็จำ จำแล้วก็ฟุ้ง ...แต่ถ้าฟังไปรู้ตัวไป มันก็จะรู้เอง 

นอกจากว่ามันท้อแท้หมดกำลังใจ หรือว่ามันเริ่มขี้เกียจขี้คร้าน ก็ฟัง...เพื่อกระตุ้นต่อมขยันขึ้นมา ความศรัทธามันจะสร้างต่อมขยัน ...ศรัทธาจะเป็นตัวสร้างวิริยะ

ถ้าศรัทธามันเริ่มน้อยเริ่มถอยเริ่มเสื่อมนี่ วิริยะจะหมด วิริยะคือความเพียรปฏิบัติหมด หมดกำลัง ...ก็ต้องอาศัยอย่างนี้ ภายนอก มาเป็น accessory หรือเครื่องช่วย

แต่ไอ้การเข้าใจในธรรม โดยจินตาโดยสุตตะนี่ มันพอ ...จริงๆ มันพออยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็พอแล้ว แต่ว่าไอ้ตัวศรัทธาที่สร้างวิริยะนี่ มันขาดๆ เกินๆ เข้าใจมั้ย

มันไม่สมดุล มันไม่คงที่ มันยัง...ไม่ขาดก็เกิน ... ซึ่งส่วนมากขาด พอขาดแล้วมาตั้งใจจริงๆ ก็เกิน แล้วเดี๋ยวก็หาย ...เนี่ย มันก็พาให้วิริยะนี่ขาดๆ เกินๆ


โยม –  เมื่อก่อนโยมจะเป็นคนที่ ถ้าฟังแล้ว คือยังไม่เข้าใจ จะทำไม่ได้น่ะค่ะ  เมื่อก่อนก็เลยชอบฟังพระอาจารย์ ก็ฟังกรอบเช้ากรอบเย็น คือรู้สึกว่าอยู่ในธรรม ฟังธรรมก็ยังดีกว่าอย่างอื่น 

แล้วพอหลังๆ มันเข้าใจหลักมากขึ้น มันก็เกิดอาการแบบไม่รู้จะฟังทำไม ...แต่ก็บางทีก็จะเปิด ช่วงที่แบบทิ้งไป

พระอาจารย์ – อือ เพื่อสร้างนิสัย เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับการปฏิบัติ ...การฟังธรรมนี่มันเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการปฏิบัติมากๆ ไม่ห่างจากธรรม ไม่ห่างจากศีล

คือศีลสมาธิปัญญานี่ ถ้าห่างออกเมื่อไหร่นี่ มันจะหมดกำลังเลย แต่อาศัยพวกนี้ดึงให้เข้ามาใกล้ศีลสมาธิ แล้วก็ไม่ห่างศีลสมาธิ ปึ๊บ นี่ มันก็จะสร้างฐานมั่นคงขึ้น

แต่ถ้าสามารถสร้างกำลังของศีลสมาธิได้ด้วยตัวเองแล้ว...ก็ตรงนี้คือหลัก ต้องเอาตัวนี้เป็นหลัก 

นอกเสียจากว่ามันมีเหตุปัจจัยแวดล้อม หรือว่ากรรมวิบากมันชักพาให้มันกระจัดกระจาย สูญสลายไป มันก็ต้องมีอะไรเป็นตัวช่วย หรือรุนแรงมากก็ถึงขั้นต้องมาหากัน เจอหน้า ฟังเสียง อะไรอย่างนี้


โยม –  รับพลัง

พระอาจารย์ –  เออ ก็เป็นภายนอก เข้าใจมั้ย  ก็เป็นแค่ภายนอก ...แต่ยังไงก็ต้องเป็น อัตตาหิ อัตโน นาโถ  

แล้วมันจะเห็นไปเรื่อยๆ เองน่ะว่า ตัวคนเดียวจริงๆ มันเป็นตัวคนเดียวจริงๆ ตายก็ตายคนเดียวจริงๆ เกิดก็เกิดคนเดียวจริงๆ  ตอนตายไม่มีใครตายด้วย ตอนตายไม่มีใครช่วยอะไรได้เลย

ตอนเกิดก็ไม่มีใครพามาเกิด ตอนเกิดก็ไม่มีใครสามารถห้ามการเกิดนี้ได้เลย มันมาด้วยตัวของมันเองน่ะ เป็นเอกบุรุษเอกสตรี เพราะนั้นจะไปหวังพึ่งอะไร ...อดีตก็พึ่งไม่ได้ อนาคตก็พึ่งไม่ได้ 

เพราะมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มีจริงรึเปล่าก็ไม่รู้ จะเกิดขึ้นจริงรึเปล่าก็ไม่รู้ ...คนอื่นน่ะ ยื่นมือมาช่วยยังไงก็ช่วยไม่ได้ รักกันขนาดไหน เป็นภูมิธรรมสูงส่งขนาดไหนก็ช่วยไม่ได้ ...มันเป็นเรื่องตัวของตัวเอง

ศีลน่ะแหละเป็นที่พึ่ง สมาธิน่ะแหละเป็นที่พึ่ง ปัญญาน่ะแหละเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ...อย่างอื่นพึ่งอะไรไม่ได้ สามโลกธาตุนี่พึ่งอะไรไม่ได้หรอก ...นอกจากศีลสมาธิปัญญา

แล้วก็ถามว่า ศีลสมาธิปัญญาอยู่ที่ไหน ...ไม่ได้อยู่ในตำรา ไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก ...อยู่ตรงนี้ อยู่ในปัจจุบันกาย อยู่ในปัจจุบันขันธ์

เพราะนั้นทั้งหมด เห็นมั้ยว่ามันรวมอยู่ที่คำว่า...รู้ตัว...คำเดียว มันรวมอยู่ที่คำนี้...คำเดียวจบเลย  ถ้าออกนอกความรู้ตัว ถ้าไม่มีความรู้ตัว ถ้าไม่รักษาความรู้ตัวไว้ หมายความว่ามรรคนี่เสื่อมหมด

รู้ตัวคือความหมายของคำว่ามรรค ...ในระดับที่ไม่ต้องไปลึกซึ้งในธรรมภาษามากมาย รู้ตัวเข้าไว้  เรียกว่าเจริญมรรคอยู่ ... ไม่รู้ตัว ขาดจากความรู้ตัว ก็เรียกว่าอยู่นอกมรรค

ถ้าอยู่นอกมรรคก็คืออยู่ในโลก อยู่กับโลก ...และโลกที่ว่านี่ไม่ใช่มีแค่โลกมนุษย์ แต่ทุกโลก ตั้งแต่เดรัจฉานจนจรดอรูปพรหม เรียกว่าโลก...สามโลก

เพราะนั้นจะอยู่กับมรรคหรือจะอยู่กับโลก เป็นสงครามช่วงชิงกัน ...ผู้ปฏิบัติทำสงครามช่วงชิงพื้นที่ ว่าจะอยู่กับเส้นทางของมรรค ...อยู่กับมรรค หรือจะอยู่กับโลก

เพราะนั้น โลก...อะไรเป็นตัวล่อ  สุข-ทุกข์ อารมณ์ ความสัมพันธ์ อารมณ์อันน่าใคร่ ตัวนี้คือตัวล่อให้ไปอยู่กับโลก 

ศีลสมาธิปัญญาหรือมรรค...อะไรเป็นตัวล่อ นิพพานเป็นตัวล่อ ความพ้นทุกข์ ความไม่เกิด ความไม่ตาย เป็นตัวล่อ ...พวกนี้คือมันเป็นตัวล่อ โดยจินตา โดยสุตตะ

คราวนี้อะไรมันจะแรง ความตั้งใจน่ะ...อันไหนมันจะแรงกว่ากัน แล้วก็สามารถช่วงชิงกลับมา แล้วก็อยู่ในเขต...อาณาเขตที่เรียกว่า พุทธาวาส สังฆาวาส ...นี่ อยู่ในมรรค  

เขตของพุทธะคือเขตของผู้รู้ เขตของสังฆาวาสก็คือปริมณฑลของกาย ของขันธ์ นี่คือสังฆาวาส พุทธาวาส ...แล้วก็อยู่ด้วยธรรม รู้เห็นในธรรมที่เรียกว่าขันธ์ทั้งห้า เห็นมั้ย อาณาเขตของพุทธะ ธรรมะ สังฆะ อยู่ตรงนี้  

หรือจะอยู่ในราชอาณาจักร ก็อยู่กับโลกนะ มันก็เอาความสวยความงามของสัตว์บุคคลมาล่อบ้าง เอาความสนุก สะดวกสบาย ความสุขในการนั่งการนอนการเสพ การใช้สอย ฯลฯ มาเป็นของล่อ

คือทุกอย่างที่เขายกย่องเทิดทูนบูชากันตามประสาคนโลกน่ะ ก็คือโลกธรรม ๘  ...ใน ๘ นี่ก็มี ๔ ที่มันเอา อีก ๔ ไม่เอา ...สุข สรรเสริญ มีลาภ มียศ คือ ๔ ที่มันต้องการอยู่แค่นี้ ...สัตว์มนุษย์ 

แล้วก็ต่อสู้ช่วงชิงที่จะไม่ให้เกิด...ทุกข์ นินทา เสื่อมยศ เสื่อมลาภ นี่ โลกธรรม ๘ ...เมื่อมันไม่สามารถก้าวข้ามโลกธรรม ๘ ได้ มันก็เกิดความติด ข้อง

แต่พอมาอยู่ในเขตพุทธาวาส สังฆาวาส เขตของธรรมะ คือที่อบรมในที่ตรงนี้ มันปลอด มันปราศจากโลกธรรม ๘ ไม่มีทั้งสุข-ทุกข์ ไม่มีทั้งสรรเสริญ-นินทา ไม่มีทั้งมีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ

นี่ก็ค่อยๆ คัดกรองออก ...เพราะในแต่ละขณะ...ขณะที่มันมา ถ้ายังไม่มีปัญญา ถ้ายังไม่อยู่ในมรรคจริงๆ เขตของพุทธะจริงนี่ ...มันยังแอบมียศ-เสื่อมยศ ยังมีลาภ-เสื่อมลาภ อยู่ในนี้เลย  

มันยังมีขั้นมีตอน ยังมีภูมิธรรม ยังมีคนเก่ง ยังมีผู้ภาวนาดี ผู้ภาวนาเก่งกว่าคนอื่น ...ยังเอาโลกธรรมมาแอบอยู่ในเขตของพุทธะ ธัมมะ สังฆะ

มีการปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการสรรเสริญ ปฏิบัติเพื่อให้เกิดลาภสักการะก็มี เพื่อให้เกิดเป็นที่ได้รับการยกย่องบูชา คำชม ... นี่ ทุกอย่าง เห็นมั้ย มันติดโลกธรรมหมดน่ะ 

พอได้มาอยู่ด้วยปัญญา ด้วยธรรมนี่ มันจะคัดกรอง สิ่งที่เป็นมลทิน ค่อยๆ กรองๆ ออก จนเหลือแต่พุทธะอันบริสุทธิ์ ธัมมะอันบริสุทธิ์ สังฆะอันบริสุทธิ์ อยู่ภายในกายใจของตัว สัตว์บุคคลนั้นๆ


(ต่อแทร็ก 14/4)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น