วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/2


พระอาจารย์
14/2 (570407B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 เมษายน 2557



พระอาจารย์ –  พวกนักปฏิบัติรุ่นใหม่ๆ นี่ จะบอกให้เลยว่ามักง่าย ...มักง่าย มักสบาย เอาเร็วเข้าว่า มันเลยผิดขั้นตอนหมดเลย

การเรียนรู้ในขันธ์นี่ มันเป็นการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป อยู่ในระดับเป็น...ทีละปัจจุบันๆ เท่านั้นเอง มันไม่มีเร็วไม่มีช้ากว่านี้หรอก ...มันอยู่แค่รู้กับปัจจุบัน ทุกปัจจุบันๆ ...มันไม่สามารถจะเร่งให้เร็วกว่านี้หรือช้า 

ถ้าช้าก็หมายความว่าปล่อยให้มันหลุดจากปัจจุบัน หาย ไม่รักษาปัจจุบันไว้แค่นั้นเอง...คือตัวช้า ...แต่จะให้เร็วกว่านี้...ไม่มี  ถ้าจะเร็ว...หมายความว่ามันได้แค่ทีละปัจจุบันๆ 

มันไม่มีทางอื่นเลย  มันจะมีอัตราตายตัวของมันเลย...คือรู้เป็นปัจจุบันๆๆ โดยมีฐานปัจจุบัน...คือกายคือศีลนี่เป็นตัวยึดโยงกับปัจจุบัน

แล้วอะไรที่มันนอกเหนือปัจจุบัน อะไรที่มันจะออกนอกปัจจุบัน อะไรที่มันจะพาไปมีพาไปเป็นในอดีตในอนาคตเหนือปัจจุบัน  ตัวนี้ละ...ละอย่างเดียวๆๆ

เห็นมั้ยนี่ ตัวที่ออกนอกปัจจุบัน มีอยู่ตัวเดียวที่ว่าออก...คือตัวจิต  เพราะนั้นละอย่างเดียวเลย มันจึงจะ...เห็นจิตละจิตๆๆ เห็นจิตละจิตเลย ไม่ใช่ไปนั่งคอยส่องคอยดูว่ามันจะอะไร

รักษาฐานกายปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน ตัวนี้ตัวเดียวนี่  การแจ้งในธรรม การแจ้งในขันธ์น่ะ มันจะแจ้งไปตามลำดับๆ เลย ...ตามลำดับลำดา 

ตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ตั้งแต่ประณีต ตั้งแต่สุดประณีตขึ้นไป  มันจะลึกซึ้งๆ ขึ้นไป ลุ่มลึกในขันธ์ขึ้นไปเรื่อยๆ ...แต่มันเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

นิสัยคนสมัยนี้มันรวดเร็ว เร็วเกิน ...เพราะอะไร เพราะว่าเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกนี่ มันทำให้ไว จิตมันไว กระโดดไว แล้วก็มีความปรารถนาที่ ปรู๊ด ไปเลย ...ไว

การไปการมา การลุกการเดินนี่ ...กายยังอยู่ตรงนี้ จิตมันไปที่ทำงานแล้ว ด้วยความคุ้นเคยน่ะ ทั้งที่ว่ากายยังกุลีกุจอใส่รองเท้าอยู่ตรงนี้ แต่ความรู้สึกหรือจิตมันไม่อยู่ตรงนี้ มันไปอยู่ที่รถแล้ว มันไปอยู่ที่โต๊ะทำงานแล้ว

เห็นมั้ย ทำไมถึงใส่รองเท้าผิดข้าง  เพราะอะไร เพราะมันไม่สมดุลในปัจจุบัน ... เนี่ย ต้องคอยดึง ต้องคอยกลับ รักษาจิตในปัจจุบัน ให้มันอยู่กับปัจจุบัน ผูกไว้กับปัจจุบันกาย ด้วยอำนาจของสติ

ถ้ายังรักษาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันไม่ได้นี่ ไม่ต้องถามหาปัญญาเลย ...เพราะมันจะไม่มีฐานของสมาธิ ถ้าไม่มีฐานของสมาธิ มันจะไม่เกิดปัญญา

สมาธิคือจิตหยุดอยู่กับปัจจุบัน สมาธิคือจิตตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน โดยอาศัยกายเป็นปัจจุบัน ...ตรงนี้ต่างหากจึงจะเป็นรากเหง้า รากฐานของปัญญา 

แล้วปัญญาก็คือต้องรู้เห็นขันธ์ในอันดับต้นอันดับแรกก่อน...คือกาย เรียกว่ารูปธาตุ  

และเมื่อมันแจ้ง มันชัดในเรื่องของรูปธาตุ จนคลายออกจากความยึดมั่นในรูปธาตุรูปขันธ์นี่ ...มันจึงจะเรียนรู้ในส่วนที่เป็นเรื่องของนามธาตุหรือนามขันธ์

ท่านใช้คำว่านามธาตุ ท่านใช้คำว่ารูปธาตุ ...แม้แต่รูปท่านก็เรียกว่าเป็นธาตุ แม้แต่นามท่านก็ยังเรียกว่าเป็นธาตุ...ไม่มีชีวิต ไม่เป็นบุคคล

กายหรือว่าขันธ์ห้านี่ มันเป็นการประกอบขึ้นของรูปธาตุกับนามธาตุ ก็คือรูปขันธ์นามขันธ์ ...ดูไปดูมามันก็จะเห็นว่าขันธ์นี้มันเป็นแค่ธาตุทั้งสองส่วน ทั้งรูปธาตุทั้งนามธาตุ

แต่ถ้ายังไม่แจ้งในเรื่องรูปธาตุ มันจะไม่เข้าไปเข้าใจเรื่องของนามธาตุเลย  เพราะการเรียนรู้เรื่องนามธาตุจะต้องอาศัยสมาธิละเอียด ปัญญาละเอียด ญาณอันละเอียด ...แต่รูปธาตุนี่อาศัยสมาธิหยาบ ปัญญายังหยาบ

แล้วปัญญาละเอียด กับสมาธิขั้นละเอียด จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ จะเกิดขึ้นโดยความอยากไม่ได้ ...มันจะต้องเกิดขึ้นจากการพัฒนา จากสมาธิหยาบ แล้วก็พัฒนาขึ้นจากปัญญาหยาบ ตามขั้นตอนเลย

แต่อ่านมาก ฟังมาก คิดมาก ตีความเอาเอง แล้วจะลัดขั้นตอนเลย เร็ว ...เนี่ย ว่ากลัวติด กลัวติดกาย กลัวติดสมถะ 

เมื่อเรายังไม่เข้าใจคำว่าสมถะที่แท้จริงนี่ ยังไม่เข้าใจสมาธิที่แท้จริง ยังแยกแยะไม่ออกระหว่างสมาธิกับสมถะที่แท้จริงคืออะไร  ...ก็เลยไปกลัว

ก็ว่า เออ พระกรรมฐานท่านชำนาญในเรื่องการดูกาย อยู่กับกาย พิจารณากาย  ส่วนมากพวกกรรมฐานก็จะติดความสงบ ติดสมถะกัน ...นี่ ก็ว่ากันไป


โยม –  โยมว่าจริงๆ มันต้องติดก่อนถึงจะเห็น

พระอาจารย์ –  ต้องติดอย่างแนบแน่นเลย เข้าใจมั้ย  มันเป็นอริยะประเพณีเลย มันไม่ใช่เป็นเรื่องของสายการปฏิบัตินะ

ท่านเรียกว่าการพิจารณากาย การรู้กับกาย การเจริญกายคตาสตินี่ ถือว่าเป็นอริยะประเพณีเลย  ไม่มีพระอริยะองค์ไหนพัฒนาจิตจากปุถุจิตเป็นอริยะจิตนี่ โดยไม่ผ่านกายคตาสติเป็นอันดับแรก

ท่านจึงเรียกเป็นอริยะวิสัย อริยะประเพณี ...คือไม่มีการพิจารณากายเป็นอันดับหลัง อันดับรอง หรืออันดับสุดท้าย...ไม่มี

แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านยังกำหนดลมหายใจเป็นเบื้องต้นเลย จิตถึงรวม จิตถึงรวมหยุดอยู่ภายในกาย ...เห็นมั้ย ยังหนีกรรมฐานลมไม่ได้เลย ยังหนีการพิจารณากายคตาสติไม่ได้เลย

แล้วนี่อยู่ดีๆ ก็มาเล่นเอาของสูง ...จะเล่นของสูงเลยน่ะ


โยม –  เหมือนเขาเห็นว่าจิตเป็นต้นเหตุของเขา ก็เลยคิดว่าลัดตรงนั้นเลย

พระอาจารย์ –  ...ง่ายเกินไป เพราะนั้น พวกดูจิตน่ะ ดูโดยที่...คิดว่าตัวเองนี่มีปัญญามาก ปัญญาสูง ...ไปๆ มาๆ พวกดูจิตเป็นหลักนี่ จะเกิดจะมีมานะสูง...กว่าการปฏิบัติของผู้อื่น จะมีความถือตัว

เพราะมันจะเห็นรายละเอียดของจิตนี่มาก มันจะเห็นสภาวะจิตที่ละเอียดเกินกว่ามนุษย์ทั่วไปคนธรรมดาจะเห็น 

ตรงนี้มันจะเกิดความถือตัวโดยไม่รู้ตัว ...ถือตัวว่าได้เห็นธรรมที่ละเอียดกว่า ได้รู้ธรรมเห็นธรรมที่ละเอียดกว่าคนหรือนักปฏิบัติผู้อื่น

มันก็เลยเกิดการเข้าไปถือครองความรู้ความเห็นนั้นของเราว่า...เราดีกว่า เราปฏิบัติดีกว่า เราปฏิบัติได้ผลกว่าเพราะเห็นสภาวธรรมมากกว่า เพราะเห็นความละเอียดของสภาวะจิตมากกว่า

พวกนี้จึงคล้ายๆ กับปรามาสดูถูกการดูกายเป็นหลัก ...เพราะการที่อยู่กับกายเป็นหลัก สภาวะจิตจะไม่มี สภาวธรรมในจิตจะไม่เกิด มันจะมีแต่ความว่าง...ว่างจากอารมณ์ ว่างจากความปรุงแต่ง 

มีแต่กายด้านๆ กับรู้ด้านๆ ไม่มีความรู้อื่นเลย ...เพราะนั้นลักษณะตรงนี้จึงเอาไปโอ้อวดไม่ได้ โอ้อวดธรรม อวดคุณธรรม กับสายที่ดูจิตโดยตรงไม่ได้...ซึ่งพวกนี้จะมีสภาวะเล่าแบบ อื้อหือ ทั้งคืนกูก็เล่าได้

แต่ให้พวกดูกายเป็นหลักไปเล่า มันไม่รู้จะเอาอะไรไปเล่า ไม่รู้จะเอาอะไรไปพูด  เพราะมันไม่เห็นอะไรเลย นอกจากนั่งกับรู้...รู้กับนั่ง แล้วก็อาการแค่นั่ง มีความรู้สึกตึง แน่น ตรงนั้น ไม่รู้จะเอาอะไรไปคุย 

มันก็เลยเป็นการภาวนาแบบเงียบๆ ไป ไม่โอ้อวด เพราะไม่มีอะไรจะไปอวด ...เห็นมั้ย มานะของเราน้อยลงมั้ย  มันไม่มีอะไรไปสร้างให้พอกพูนขึ้นซึ่งมานะ...อัสมิมานะ 

ความแข็งแกร่งของความยึดมั่นถือมั่นตัวเราของเราก็ไม่ได้พอกพูนขึ้นมา มันกลับน้อยลง ไม่รู้จะเอาอะไรไปพูด ไม่รู้จะเอาสภาวธรรมไหนไปแข่งกับคนอื่น

แต่ว่าจะโดนดูถูก โดนตราหน้าว่า ไอ้นี่ภาวนาแล้วไม่ถึง ไม่ได้อะไร รับรองไปไม่ถึงไหนหรอก จำไว้เหอะ เขาจะดูถูก 

ที่จริงก็ถูกแล้วที่ดูถูก ...เพราะมันถูก...ไม่ใช่ผิด (หัวเราะ)


โยม –  แต่โยมอ่านหนังสือครูบาอาจารย์น่ะค่ะ คือโยมก็เข้าใจว่า บางทีเราไปจับตอนที่ท่านสอนเรื่องดูจิต แต่เราไม่อ่านมาตั้งแต่ต้นว่าท่านสอนเรื่องพื้นฐานอะไรก่อน

พระอาจารย์ –  อือ

โยม – แต่ว่าเคยอ่านของหลวงปู่ดูลย์อันนึง ท่านก็เคยบอกว่าให้ดูจิตก็ถึงแล้ว

พระอาจารย์ –  ท่านพูดกับใครล่ะ ท่านพูดตอนไหนล่ะ

โยม –  ไม่รู้

พระอาจารย์ –  ก็ดันไปจับแค่ประเด็นลอยๆ ขึ้นมาอย่างนี้  ทำไมไม่ไปดูตอนหลวงปู่ดูลย์สอนเรื่องการรวมจิตการทำสมาธิล่ะ ...เคยดูมั้ยล่ะ เคยอ่านบ้างมั้ย

ท่านสอนตั้งแต่ให้กำหนดพุทโธ รวมจิตให้เป็นหนึ่งก่อน เข้าใจรึเปล่า แล้วให้อยู่ในกาย พิจารณากายโดยเป็นหลัก แล้วก็จากนั้นก็เมื่อสงบแล้ว จึงดูการส่งออก การไปมาของจิต ...นี่ มีฐานนั้นกันรึยังล่ะ

แล้วก็ไปจับประเด็นว่า "จิตส่งออกเป็นสมุทัย ผลของจิตส่งออกเป็นทุกข์" ...ก็ไปจับอยู่ตรงนั้นน่ะ 

นี่ท่านพูดในฐานะพระอรหันต์นะนั่นน่ะ ...แล้วบอกให้เลย ถ้าพูดอย่างนั้น ทำในลักษณะนั้น นั่นคือฐานะของพระอนาคามีนะ 

แล้วเราฐานะอะไร ประเมินตัวเองสูงเกินไปรึเปล่า เนี่ย


โยม –  โยมว่า ที่โยมฝึกเมื่อก่อนกับตอนนี้มันต่างกันตรงที่...เมื่อก่อนมันไปรู้ข้างหน้าหมดเลย แต่เดี๋ยวนี้เวลาจะรู้ มันจะรู้จากอยู่ตรงนี้ กับไอ้สิ่งที่ถูกรู้มันอยู่ข้างหน้า

พระอาจารย์ –  ศูนย์กลาง เข้าใจคำว่ารู้จากศูนย์กลางมั้ย  นั่นน่ะคือการรวมกายเป็นหนึ่ง รวมจิตเป็นหนึ่ง ...ตรงนี้คือมหาเหตุ คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งเลย เพราะนั้นมันก็รวมศูนย์ เป็นศูนย์กลางของการก่อเกิด 

ทุกอย่างน่ะ มันจะเกิดขึ้นจากตรงนี้ ...ไม่ใช่ไปไล่มาจากตรงนั้น แล้วไปเข้าใจว่าตรงนั้นแล้วก็ไปแก้ตรงนั้น แก้ผิดที่ เพราะดูผิดที่ ตั้งผิดที่ ตั้งผิดฐาน มันก็เลยเป็นฐานที่ง่อนแง่น คลอนแคลน ไม่มั่นคง ล้มลุกคลุกคลาน

แต่ไอ้ที่มันยังทู่ซี้ทำต่อได้ก็เพราะว่าปลอบประโลมกันไปมา มีกลุ่มมีพวก ...แล้วก็บอกว่า เออๆๆ มีคนรับรอง มีภูมิธรรมรับรอง ไม่ผิดหรอก ...ลึกๆ นี่ มันก็รู้อยู่ว่าดูจิตมันไม่ใช่น่ะ

แต่มันก็ไม่กล้าที่จะออกจากวิถีการดำเนินในลักษณะเช่นนั้น เพราะมันไปผูกพันมั่นหมายกับภูมิธรรม หมายถึงบางคน...ที่ว่ามีภูมิธรรม เพราะว่าทำอย่างนี้ ...ซึ่งจริงรึเปล่าก็ไม่รู้ ภูมิธรรมน่ะ


โยม –  ตอนแรกๆ หลวงปู่แนะนำโยม โยมก็งงเหมือนกัน ท่านบอกว่า ก็เจอรู้แล้วก็ให้อยู่ที่รู้ โยมก็ยังว่า มันไม่มีที่อยู่ รู้แล้วมัน...จะให้อยู่มันอยู่ไม่ได้ พอให้อยู่มันคือเพ่ง คือเป็นเจตนา

พระอาจารย์ –  อยาก

โยม –  มันเป็นรู้ที่มันไม่มีที่อยู่ มันไม่มีที่ตั้ง

พระอาจารย์ –  การรู้กายมากๆ นี่แหละ จากรู้ที่มันไม่มีที่หมาย ไม่มีที่ตั้งนี่  มันจะปรากฏให้เห็นเอง ...แต่ถ้าจะไปหา หรือไปควาน หรือไปสร้างให้มันรู้ขึ้นมาเป็นที่เป็นทาง ไม่มีทางอยู่หรอก

นั่นน่ะเขาเรียกว่าตัณหา ...มันสร้างขึ้นมาไม่ได้  ตัณหาจะทำมรรคไม่ได้  “เรา” จะทำมรรคขึ้น เกิดขึ้นไม่ได้ ...แต่ศีล สติเท่านั้น ที่จะทำให้มรรคเกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้นเมื่อศีลมี ด้วยสติ อำนาจของสติ และเป็นสัมมาสติ ...สัมมาสติคือรู้โดยไม่คาดหมาย รู้ไปงั้นน่ะ รู้โดยที่ไม่คิดว่าจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไร 

นั่ง...รู้ๆๆๆ รู้ว่านั่งก็รู้ว่านั่ง ไม่คาดหมายว่าจากรู้ว่านั่งแล้วจะเป็นอะไรขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นมา ... อย่างนี้สัมมาสติเบื้องต้นจะเกิด

เมื่อมีสัมมาสติ เมื่อมีศีล มันรู้อยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน แล้วก็เป็นขันธ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นความเป็นจริงในปัจจุบัน ...ตรงเนี้ยจึงจะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ 

จิตมันจะค่อยๆ รวมรู้ขึ้นมา ปรากฏขึ้น ชัดเจนขึ้น ...จากที่ว่าไม่รู้มันอยู่แห่งหนตำบลไหนน่ะ มันก็จะถูกล้อมกรอบอยู่

แต่ไอ้การที่ล้อมกรอบอยู่ เป็นก้อน เป็นกอง เป็นกลุ่ม ...ในขณะที่มันรวมเป็นก้อนเป็นกองเป็นกลุ่มนั้นจริงและเห็นชัดขึ้นก็ตาม  ไอ้กลุ่มนั้นก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ตรงไหนเช่นกัน เข้าใจมั้ย

แต่ว่ามันจะรวมชัดขึ้นมา ซึ่งมันจะไม่สามารถบอกว่านี่ในหรือนอก นี่นอกหรือใน แล้วมันอยู่ส่วนหัว หรือว่าส่วนอก หรือว่าส่วนท้อง หรือว่ามันคลุมอยู่ ...ถ้าไปหานะ มันจะรู้สึกว่ามันอยู่ได้ทุกที่ เข้าใจมั้ย

แต่ว่าการรวมตัวกันของลักษณะอาการรู้นี่ จะรวมกันเป็นกลุ่มก้อน


โยม –  พอหาปุ๊บหายเลย

พระอาจารย์ –  มีความอยากเข้าไปแทรกเมื่อไหร่ ถูกทำลายหมด ศีลสมาธิถูกทำลายหมดเลย 

ก็ปัญญานี่คือตัวที่สอดส่องเข้าใจมั้ย มันจะเห็นเลยว่าที่มาที่ไป และที่อยู่ที่ดับ และอะไรเป็นเหตุให้ศีลดับ สมาธิดับ อะไรเป็นเหตุให้ศีลเสื่อมสมาธิเสื่อม 

เห็นมั้ย มันรู้เองนะ มันรู้เอง มันก็จับจุดได้  มันก็ไม่เอา มันก็ปล่อยตัวนั้น ...เนี่ย นี่คือปัญญา เห็นมั้ย มันเกิดพร้อมกับศีลสมาธิ

มันไม่ใช่ปัญญาจากตำรา มันไม่ใช่ปัญญาจากฟังคนอื่น ...แต่มันเห็นเอาเอง มันเห็นด้วยตัวเอง แล้วมันก็แยกแยะด้วยตัวเอง แล้วมันก็ตอบโจทย์ได้ด้วยตัวเอง

แต่คราวนี้ว่าครูบาอาจารย์ก็จะเป็นคนยืนยัน เท่านั้นเอง ให้เกิดความมั่นใจว่า...เออ แค่นั้นน่ะ 

แต่ว่าตัวปัญญามันจะต้องรู้เองเห็นเอง แล้วมันก็เข้าใจด้วยตัวของมันเอง เพราะมันเอาไปลองทำ ในลักษณะที่...อ้อ ละตรงนี้ไป ละความอยากตรงนี้ไป แล้วทุกอย่างก็ฟื้น ศีลก็ฟื้น สติก็ฟื้น สมาธิก็ฟื้น

แล้วก็เริ่มมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นๆ ก็รักษาสมาธิ รักษาศีล รักษาสติไว้  ความรู้เห็นในธรรม ความรู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรม...ที่เรียกว่ากายนี่...เป็นธรรมแรก ธรรมต้น ก็ค่อยๆ ลึกซึ้งๆ ลึกซึ้งขึ้น

จากที่เคยเป็นเราแบบล้านเปอร์เซ็นต์ ก็เหลือสักห้าเปอร์เซ็นต์สิบเปอร์เซ็นต์ ไม่ค่อยจริงจังอะไรสักเท่าไหร่แล้ว ปวดก็ปวด...ชั่งมัน อะไรอย่างนี้ ...มันก็เริ่มรู้สึกว่า "ชั่งมัน" ได้มากขึ้น

เห็นอะไรก็ชั่งมันกับการเห็น ได้ยินอะไรก็ชั่งมันกับการได้ยิน ...นี่ยังไม่ถึงกับสักแต่ว่าเห็นนะ แต่ว่ามันชั่งการรู้การเห็นภายนอกแล้ว มันเริ่มชั่งมันได้

ก็มีอารมณ์นิดหน่อยๆ พอเป็นกระเซ็นกระสาย แต่ก็...เออะ ก็แค่นั้น ...เนี่ย มันจะเริ่มจางคลาย จางคลายจากความเข้าไปหมายมั่น กับอายตนะ ผัสสะต่างๆ ที่เข้ามาผ่านอายตนะ

เห็นมั้ยว่ารู้กายที่เดียวนี่ ความเข้มข้น ความหมายมั่น ทางรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น น้อยลงไปด้วย โดยที่ไม่ต้องไปทำให้มันน้อยเลย มันไม่รุนแรงเท่าเก่า

มันเบาลงๆ มันไม่มีการกระแทก กระเทือนกระทบ จนถึงเกิดความรู้สึกเข้มข้นในอารมณ์ คือยินดีและยินร้าย สุข-ทุกข์ ทุรนทุราย อึดอัดคับข้อง เหล่านี้จะเริ่มน้อยลง นี่คือผล

แล้วยิ่งรู้แจ้งในกายขึ้นไปทุกสัดส่วน ทุกอาการ โดยละเอียด โดยถี่ถ้วน ...จะเห็นเองน่ะ ทุกข์ยิ่งน้อยลงไปเท่านั้น ทุกข์ทางหู ทุกข์ทางตา ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางการกระทำคำพูดของคนอื่นนี่

มันรู้สึกว่าเข้าไม่ถึงเลย มันเข้าไม่ถึงเรา มันไม่มีเรากระโดดไปรองรับ ...มันจะรู้สึกคล้ายๆ อย่างนั้น จะเริ่มรู้สึกว่าคล้ายๆ อย่างนั้น ...แล้วก็จะเริ่มชัดเจนขึ้นไปเรื่อยๆ 

ระหว่างนีี้ ความเป็นเรานี่ มันเริ่มสูญสิ้นความเป็นเราไปเรื่อยๆ สักกายะนี่เริ่มอ่อนตัวแล้ว

เพราะนั้นในระหว่างที่ทำอยู่อย่างนี้ อย่าเทียบภูมิธรรม อย่าเทียบขั้นตอน อย่าหา ...นั่นคือจิต เข้าใจมั้ย จิตมันเริ่มเสือกแล้ว จิตมันเริ่มทะเยอทะยานแล้ว ...ละซะ ละเลย

ระหว่างที่ทำนี่ไม่มีภูมิธรรมอะไร มีแต่รู้กับเห็น มีแต่รู้กับเห็นกับกาย ...มันจะจางคลายกี่เปอร์เซ็นต์ มันจะจางคลายมากน้อย ไม่ต้องไปเปรียบไปเทียบกับใคร ...เปรียบเทียบกับตัวเอง ดูแค่นั้น ดูในแง่นั้นน่ะ 

แล้วไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับตำรา ทิ้งตำราให้หมด ว่าระดับนี้ได้ขั้นนี้ ถ้าวางขั้นนี้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ...ทิ้งซะ จิตมันเริ่ม...เขาเรียกว่าเริ่มฟุ้งแล้วๆ ...ถอดถอน ถอยห่าง ถอยจิตกลับมา ถอนจิตออกมา 

กลับมาอยู่ในฐานกาย ฐานรู้ ...ไม่ไปไหนอ่ะ ไม่ได้อะไร อริยมรรคอริยผลก็ไม่ได้อะไร ไม่ต้องไปเทียบ อยู่อย่างนี้ อยู่แบบโง่ๆ ไปอย่างนี้ รู้กายแบบโง่ๆ แล้วก็ดูความเป็นไปของขันธ์โดยรวมโดยทั่ว

อะไรที่นอกเหนือจากกาย...ทิ้ง อะไรที่มันจะพาให้ออกนอกกาย...วาง อะไรที่จะทำให้หลงลืมจากกาย...วาง ...นั่น ทั้งหมดนั่นคือจิตทั้งหมดเลย เป็นผู้ส่งออก จิตเป็นผู้ส่งออก

พอมันเริ่มรู้สึกว่ากายเริ่มเจือจาง เริ่มดูเหมือนไม่ชัด หรือดูเหมือนเริ่มหายไป ...ให้รู้ไว้เลย จิตเริ่มทำงานแล้วๆ

การทำงานของจิตมีหลายลักษณะ หนึ่งจะสร้างเป็นอารมณ์ สร้างเป็นธรรมารมณ์ สร้างเป็นความขุ่นความมัว สร้างเป็นความหลงความลืม พวกนี้จิตทั้งนั้นนะทำงาน

ถ้าจิตเริ่มทำงานนะ ให้รู้ไว้เลยว่า มันเหมือนเมฆหมอกที่จะมาคลุมกาย กายก็จะเริ่มจาง ทั้งกายรูป ทั้งกายความรู้สึก จะจางหมดน่ะ หาย จางจนเรียกว่าหายมิดไปเลย


โยม –  จริงๆ การมีสติอยู่กับปัจจุบันก็คือการละนิวรณ์ไปทั้งหมดเลยหรือ

พระอาจารย์ –  ก็ถ้ามันไม่ไปละนิวรณ์ จิตมันจะตั้งมั่นได้อย่างไร เพราะนิวรณ์เป็นตัวกางกั้นสมาธิอยู่แล้ว ...เพราะนั้นการรู้อยู่ที่เดียวนั่นแหละมันคือตัวทำลายนิวรณ์เลยแหละ

เพราะนั้นมันต้องอยู่ด้วยความแจ่มชัด แจ่มใส ตื่น  alert (ตื่นตัว) มันจะมีความตื่นรู้  alert อยู่ข้างใน ...ไอ้ตัว alert  ตัวตื่นรู้นั่นน่ะ จะเป็นตัวขจัดโมหะ

โมหะเหมือนเมฆหมอก ซึมๆ คลุมๆ เบลอๆ ไม่ชัดน่ะ นั่นแหละที่เรียกว่าความเศร้าหมองของจิต

เพราะนั้นเมื่อตกอยู่ในอาการเริ่ม กายเริ่มจางเริ่มหายนี่ ...ต้องทำความรู้ชัดในส่วนใดส่วนหนึ่ง ในแขนในขาที่ใดที่หนึ่ง แล้วก็จรดไว้ จรดไว้ จรดกับความรู้สึกตรงนั้นไว้  

เรียก...เรียกสมาธิคืนมา สลายโมหะลงไป ด้วยการทำสติทำสมาธิขึ้นมา ...ไม่ใช่ด้วยการอยากให้มันหายเร็วๆ...ไม่ใช่


โยม –  ใช่ค่ะ บางทีจะพลาดตรงนั้น คือพอมันหายไปปุ๊บ มันจะเกิดความแว้งมาจับกาย เพื่อให้มันเห็นชัดๆ ก่อน แต่พอหลังๆ มันก็จับได้ว่าตรงนี้มันหนักไป มันก็จะถอยมา แต่ว่ามันก็ยังเพ่งอยู่  แต่ว่าก็เพ่งน้อยกว่าเมื่อก่อน

พระอาจารย์ –  เรียนรู้ไปการเพ่ง...อาตาปี ว่าเพ่งอย่างไรที่ว่าเพ่งแล้วมันจะสมดุล เพ่งแล้วพอดี เพ่งเพื่อให้เกิดความพอดี  ถ้ามันเพ่งเกินไป เกินพอดี ก็จะเครียด ...แต่ยังไงก็ต้องเพ่งนะ ถ้าไม่เพ่งมันไม่อยู่

แต่ถ้าเพ่งโดยพอดี ...ก็เรียนรู้เพ่งยังไงให้มันอยู่ เพ่งยังไงแล้วไม่เครียด เพ่งยังไงแล้วไม่ทุกข์ ...อย่าไปติดว่าห้ามเพ่ง ... ถ้าไม่เพ่งไม่อาตาปีนี่ จิตจะไม่อยู่กับที่เลย จิตจะไม่อยู่กับกายนี้เลย

เพราะสันดานมันไม่ดี สันดานมันกระจัดกระจาย สันดานของจิตปรุงแต่งนี่มันไม่เคยอยู่กับที่ ...แม้ขณะมันออกไปแล้วนี่ มันยังออกไปไม่เป็นที่เป็นทางเลย

ออกไปปุ๊บ คิดเรื่องคนนี้ปั๊บ เดี๋ยวก็คิดเรื่องคนนั้น เดี๋ยวก็ไปคิดถึงตัวเรา เดี๋ยวก็ไปคิดถึงวัตถุข้าวของ เห็นมั้ย มันยังอยู่ที่ใดที่หนึ่งไม่ได้เลย ...นั่นน่ะเรียกว่าฟุ้งซ่าน จับจด หมุนวน มันหมุนวน

เพราะนั้นถ้าไม่เพียรเพ่งอยู่ภายใน มันไม่อยู่ มันไม่หยุดความหมุนวนของจิตได้เลย ...แต่คราวนี้ว่าไอ้การเพ่งนี่ นักภาวนาก็ต้องมีประสบการณ์...เรียนรู้ที่จะเพ่ง หรืออาตาปีอย่างไร ที่จะอาตาปีแล้วมันเกิดสัมปชาโน

เห็นมั้ย สติมา อาตาปี สัมปชาโน นี่ มันต้องมี ... สตินี่รู้ความหมายกันอยู่แล้ว อาตาปีคือการเพียรเพ่ง และอาตาปีอย่างไรถึงจะสัมปชาโนเกิด

คือสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อม คือความรู้อย่างต่อเนื่อง และความรู้อย่างต่อเนื่องเป็นกลาง โดยไม่ขาดไม่หาย จากศีล จากปัจจุบัน จากขันธ์ปัจจุบันนั่นเอง

เพราะนั้นตรงนี้มันก็อยู่ในขั้นตอนของอาตาปี ว่าอาตาปีอย่างไรแล้วมันพอดี ...ความชำนาญเท่านั้นที่มันจะสอนตัวเอง  มันจะไปถามคนอื่นไม่ได้เลย และจะเอาคนอื่นมาเป็นแบบอย่างก็ไม่ได้ด้วย

มันก็กินข้าวเข้าปากตัวเองแล้วก็สามคำอิ่ม แต่บางคนเขาสิบคำอิ่มน่ะ บางคนเขาไม่เคี้ยว กลืนเลย เขาก็ไม่เสียดท้อง แต่เราต้องเคี้ยวอย่างละเอียด อะไรอย่างนี้

คือมันจะเอามาเลียนแบบกันไม่ได้เลย มันเป็นของใครของมัน มันจะต้องเรียนรู้เองแต่ว่าการเรียนรู้เองนี่ มันก็ต้องทำบ่อยๆ มันถึงจะชำนาญ

แต่อย่าไปบอกว่า ห้ามเพ่ง ไม่เพ่ง ...ไม่เพ่งไม่ได้ ไม่อาตาปีไม่ได้ จิตไม่อยู่ ...จะเอาแบบว่าภาวนาแบบสบายๆ ไม่เพ่ง ไม่เครียด...เสร็จ เสร็จหมดนะ ถ้าไม่เพ่งไม่เครียดน่ะ...เสร็จหมดน่ะ


(ต่อแทร็ก 14/3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น