วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/1



พระอาจารย์
14/1 (570407A)
7 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –  เป็นไง ไปอยู่วัดสาม-สี่วัน เป็นไง

โยม –  ก็พอนั่งสมาธิ แล้วก็เห็นอย่างที่คุยกับพระอาจารย์ คือพอมันวางความอยากไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็นความจริงเองว่า สิ่งที่ถูกเห็นมันก็จะเปลี่ยนแปลง แล้วก็ดับไป มันก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ของมันอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  เนี่ย ดูไป ทำความรู้อยู่กับกายอย่างเดียว ไม่ต้องไปวกวนที่อื่น ...จิตทุกดวงละหมด คิดเล็กก็ไม่เอา คิดน้อยก็ไม่เอา ดีร้ายก็ไม่เอา เป็นธรรมก็ไม่เอา 

ให้มันเหลือแต่กายกับรู้ จนมันสว่างกายสว่างรู้อยู่แค่นั้น ...เงียบ ความฟุ้งในธรรมก็ไม่เอา  มันจะสาธยายธรรม สร้างความเห็นในธรรม คำพูดความหมายในธรรมอะไรขึ้นมา ก็อย่าไปให้ค่าให้ความสำคัญ 

เฉยๆ จ่อจรดอยู่กับกายแต่ละส่วนให้ชัด แต่ละส่วนของความรู้สึกในกายน่ะ ให้มันชัดอยู่ตรงนั้น ความรู้มันก็ค่อยๆ ซึมซาบอยู่ภายใน ...ความรู้ความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิในกาย 

มันก็ค่อยๆ ยอมรับสภาพ ก้อนกาย ก้อนธาตุ ก้อนทุกข์ ก้อนธรรม ...ต่อไปมันก็จะเห็น รู้สึกว่ากายเป็นก้อนธรรม ไม่ใช่ก้อนของใครแต่ประการใด ...เป็นแค่การประชุมกันตามวาระของมัน 

ไม่มีใครทำให้มันเกิด ไม่มีใครทำให้มันดับ ไม่มีใครทำให้มันทรง มันเป็นธรรมชาติที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์ ...มันก็เข้าใจลึกซึ้งอยู่ในแง่มุมนั้น มากขึ้นๆ ชัดเจนขึ้น

ในกายก็ไม่มีอะไรหรอก มีแค่เกิดดับ ...ความเป็นกายไม่มีอะไร ไม่มีความเป็นหญิงเป็นชาย ไม่มีความเป็นเรา ไม่มีความเป็นสัตว์บุคคล ไม่มีความเป็นดีร้ายถูกผิด ไม่มีรูป ไม่มีสมมุติบัญญัติอะไรทั้งนั้น 

มีแต่ความเกิดดับ ที่มันเป็นความจริงแค่นั้นจริงๆ ...นั่นแหละที่เรียกว่าปัญญาที่มันเข้าไปเห็นความเป็นจริง ว่าความเป็นจริงของกายก็มีแค่นั้นจริงๆ คือแค่การเกิดดับเป็นขณะๆ ไป 

เกิดขึ้นมาจากความว่าง แล้วก็ดับไปในความว่าง เนี่ย อาการ ...ซึ่งมันจะเห็นอย่างนั้นได้ต่อเมื่อมันสลายรูปแล้ว  แต่ถ้ามันยังมีรูปอยู่ มันก็จะมีรูปครอบ แล้วก็มีความเกิดดับอยู่ภายในรูป ...ก็สังเกตดู

มันจะเห็นกายในหลายลักษณะ ตามกำลังของสมาธิ ตามกำลังของปัญญา  มันก็กระโดดไปสลับมาได้ อยู่ในนั้นแหละ จนชำนิชำนาญในแวดวงของกาย ...ในลักษณะนี้คือการเรียนรู้กายธาตุ กายมหาภูตรูป 

ทำให้ชำนาญอยู่เรื่องเดียวนี่แหละ ค้นคว้าอยู่ในเรื่องกายเรื่องเดียว จดจ่ออยู่ในเรื่องกายเรื่องเดียว  เพราะในเรื่องกายนี่ มันยังไม่จบแค่กายธาตุ กายมหาภูตรูป ...มันยังมีกายเวทนาอีก

กายเวทนานี่สำคัญ เวลาเวทนามันขึ้นมาแรงๆ นี่ เอาไม่อยู่หรอก สมาธิระดับอย่างนี้ เอาไม่อยู่หรอก ...ลองนั่งขัดสมาธิเพชรสักชั่วโมงนึงสิ แล้วจะเห็นเองว่า ไอ้ที่ว่ารู้เฉยๆ กับวูบวาบๆ ของอาการกายเกิดดับ 

คือเวทนาเล็กๆ น้อยๆ นี่ กับกายธาตุเล็กๆ น้อยๆ นี่ได้  แต่ไปเจอเวทนาโหม...เป็นเราแบบเต็มตัวเลยน่ะ เป็นเราปวดแบบทนไม่ได้นี่ ...หนี จิตมันจะดิ้นหนีสภาพเวทนาเลย นี่ ต้องอดทน

เพราะนั้นถ้ามันไม่มี...ถ้าไม่ฝึกฐานของสมาธิบ่อยๆ อยู่กับเนื้อกับตัวบ่อยๆ นี่ ...มันจะไปต้านทาน หรือตั้งมั่นอยู่กับเวทนาที่รุนแรงขึ้นมาไม่ได้ 

ถึงตอนนั้นจะฟุ้งแบบกระจัดกระจายหมดเลย ...ไอ้ความไม่มีเรา ไอ้ความไม่เป็นเรา...ที่นึกว่าไม่เป็นเราแล้วนี่ จะออกมาแบบ...เต็มๆ เลย

เพรานั้นมันยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ เรื่องกายนี่...ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย  เพราะนั้นถึงแม้ว่าตอนนี้กายมันยังไม่แสดงเวทนาที่ชัดเจน หรือว่ารุนแรง ...อย่าละเลย อย่าเข้าใจว่า พอแล้ว ไปดูที่อื่นแทน ไปดูจิตแทน

ต้องสร้างฐานของสมาธิจากกายให้มันแน่น มั่นคงจริงๆ ...แล้ววันใดวันหนึ่งน่ะ กายขันธ์นี่ มันยังไงก็ต้องมีเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ซึ่งเราไม่สามารถคาดฝันได้ว่ามันจะเป็นเมื่อไหร่ ...ตอนนั้นน่ะ มันจะเป็นบทเรียน

เพราะว่าบทเรียนของพวกเรานี่ มันไม่ใช่ว่านั่งสมาธินานๆ เหมือนพระ ...พระท่านจะสู้กับเวทนา ดูเวทนาด้วยการนั่งทั้งวัน ยืนทั้งวัน เดินทั้งวัน อย่างนี้ 

แต่พวกเรามันทำยังงั้นไม่ได้หรอก ความเพียรมันไม่พอ ความอดทนไม่พอ ...มันก็จะต้องเจอเวทนาในภาคสนาม ที่เรียกว่าเจ็บไข้ได้ป่วยตามความเป็นจริงมา


โยม –  โยมว่ามันจะไม่เหมือนกับตอนที่เดินจงกรมแล้วปวด หรือนั่งสมาธิแล้วปวด ตอนนั้นเราก็บ่มสมาธิมาแล้วระยะนึง มันกลัวแต่ว่าถ้าปวด ธรรมดา มันจะดูไม่ค่อยได้ เพราะเราไม่ได้สะสมมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ

พระอาจารย์ –  ก็เนี่ย การที่รู้ตัวในอิริยาบถธรรมดา ชีวิตจริงนั่นแหละ เวลานั้นสิ่งที่มันสะสม สมาธิตามธรรมชาติ ของขันธ์ ของกายนี่มา เวลาที่มันเจ็บไข้ได้ป่วยจริงนี่ มันก็จะหวนลงมาถึงฐานกาย ฐานรู้ได้

แล้วเวลาเจอเวทนาหนักๆ แรงๆ นี่ ...พยายามรวบรวมจิตไว้ รวบรวมจิตให้รู้ ให้มั่นก่อน  อย่าไปคิด อย่าไปหาวิธีแก้ อย่าไปหาวิธีหนี ... รู้...รู้ให้ชัด รู้ให้ชัดกับกองกายนี้ก่อน 

เสร็จแล้วก็ค่อยๆ เอาญาณ ความรู้ความเห็นนี่ เข้าไปจำแนก แยกธาตุ แยกเวทนา ...แยกกาย แยกเวทนา เป็นกอง กองกาย กองความรู้สึก กองเวทนา กองรู้อีกกองนึง แล้วก็มีกองความคิดอีกกอง 

แยก ...ให้แยก คอยแยก  อย่าให้มันสะเปะสะปะ รวมกันเป็นเรื่องของเราในอดีตในอนาคต อันนั้นน่ะเละเทะหมด ...พยายามอยู่ในกรอบกาย แล้วก็แยก 

อันนี้กายส่วนหนึ่ง กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา แล้วก็มีจิตกระโดดไปกระโดดมาอีกส่วนหนึ่ง  แล้วทั้งหมดทั้งมวลนี่ มันมีกองรู้กองเห็นคลุมอยู่อีกตัวหนึ่ง 

ให้มองอยู่อย่างนี้ แยกอยู่อย่างนี้ เวลาเผชิญกับเวทนาที่มันรุกเร้าโหมเร้านี่ ...ซึ่งลักษณะนี้ฝึกเอาก็ได้ จำลองเอาก็ได้ ด้วยการนั่งสมาธินานๆ นั่งสักชั่วโมงครึ่ง เวทนาก็เริ่มเกิดแล้ว หรือมันเกิดก่อน... 

นั่นแหละ แล้วก็อดทนดูเวทนาไป ... ฝึก แยก แยกกาย แยกเวทนา แยกรู้ จำแนกธาตุจำแนกขันธ์ไว้ ...แล้วก็ดู สังเกตดู ไอ้แรงความยึดของจิตเราน่ะ มีมาก มีน้อย ...ก็รู้ก็เห็น มันยึดก็รู้ว่ามันยึด

ไม่ต้องไปตีโพยตีพาย หรือว่า “ทำยังไง มันยังยึดอยู่วะ ทำไมมันไม่ยอมไม่ยึดซะทีวะ”  อย่าไปคิด ยึดคือยึด ...ก็เห็นอีก ความยึดเป็นอีกกองนึง ...คือให้แยกส่วน แยกส่วนขันธ์ จำแนกขันธ์ออก

แล้วก็สลับไปสลับมา ก็มาดูกายธาตุ คือรูปทรง น้ำหนัก แข็งๆ ร้อนๆ พวกนี้ไฟ ลมหายใจ พวกนี้เป็นกายธาตุ ก็เป็นส่วนนึง  กายเวทนาก็เป็นอีกส่วนนึง แล้วก็ธาตุรู้ก็เป็นอีกส่วนนึง ...สลับไปสลับมาอยู่อย่างนี้

ระหว่างที่มันแยกธาตุแยกขันธ์กันอยู่อย่างนี้ ระหว่างตรงนั้นน่ะ...ความเป็นเรามันจะน้อยที่สุด มันจะรวมตัวเป็นเราน้อยที่สุด ถึงแม้จะมีความรู้สึกเป็นเราลึกๆ อยู่ก็ตาม

แต่ว่า "ทุกข์ของเรา" นี่ มันจะไม่กำเริบ ...มันจะเห็นแต่ทุกข์ในกองขันธ์ ทุกขเวทนาของกายเท่านั้นเอง คือทุกข์ตามสภาพ ซึ่งมันพอรับได้...สามารถพอรับได้อยู่

แต่ถ้ามีเราขึ้นมาเมื่อไหร่นี่ มันจะทุกข์ซ้ำขึ้นมาอีก ถ้ามันมีการดิ้นการหนีขึ้น แล้วมันไปคาดหมาย คาดหวังกับขันธ์ข้างหน้า กายข้างหน้านี่ ที่ดีกว่า ที่สุขกว่า ...มันจะยิ่งทุกข์


โยม –  โยมเห็นว่า หัวขโมย มันไม่ใช่กายไม่ใช่เวทนา แต่มันคือจิต

พระอาจารย์ –  จิต ...ก็ใช่น่ะสิ


โยม –  ก็เลยทำอย่างที่พระอาจารย์บอก คือทิ้งมัน

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ จิตนั่นน่ะเป็นตัวที่ล่วงละเมิดศีล เป็นตัวที่ทำลายศีล  นักวิ่งตีนต้นก็จิตนั่นแหละ มันขโมย...ไปขโมยรูปนามข้างหน้ามาเป็นเจ้าของ เข้าใจมั้ย ...ทั้งๆ ที่ว่าไม่ใช่ของมัน 

แล้วมันก็มาเหมาเอาว่า ไอ้กองนี้ ไอ้กองปัจจุบันกาย ปัจจุบันเวทนานี่ มันก็ติ๊งต่าง หรือว่าเหมาว่าเป็นของมัน ...นี่ ไอ้จิตน่ะมันเป็นตัวล่วงละเมิดศีลโดยตรงเลย


โยม –  ถ้าเช่นนั้นนักดูจิตที่เขาส่งออกไป เขาก็ไม่ได้ดูจิต

พระอาจารย์ –  ไม่ได้ดู  แล้วเหมือนกับ...ถือหางให้มันด้วยซ้ำ เข้าใจมั้ย  ...เราเคยดูจิตมาก่อน ใช่ป่าว แล้วพอมาดูกายแล้วเห็นว่ามันต่างกันมั้ย ผลมันก็ต่างกันใช่มั้ย


โยม –  ค่ะ... ต่างกัน

พระอาจารย์ –  ความรู้ความเข้าใจก็ต่างกัน ปัจจยาการต่างๆ มันก็เห็น มันก็เข้าใจ ...การละ การวาง การคลายออก มันก็เห็นว่ามีความจางคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น

แม้จะไม่หมดโดยสิ้นเชิงก็ตาม แต่มันรู้สึกว่าไม่เข้มข้นเท่าเดิม  การกระจัดกระจายของจิต การฟุ้งซ่านก็น้อยลง ...มันรู้ได้ด้วยตัวเองเลยแหละ

แต่คราวนี้ว่าเราจะไปบอกคนอื่นเขาไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวใครตัวมัน ...หมายความว่า จนกว่าเขาจะมาลอง ...พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ธรรมนี่เป็นเครื่องที่ท้าพิสูจน์  ศีลสมาธิปัญญา...ท่านให้ท้าพิสูจน์

ถ้าเขาไม่น้อม ถ้าเขาไม่นำ ถ้าเขาไม่ทำ ...มันจะไม่เข้าใจเลยว่า ศีลจริงคืออะไร ศีลมันเป็นเหตุให้เกิดสมาธิอย่างไร แล้วสมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญาได้อย่างไร

ไม่ใช่มาเชื่อกันตามๆ กัน แล้วคนเขาบอกว่าดีก็ว่าดี คนสมัยใหม่ยุคนี้เป็นนักเรียนนักศึกษาจบปริญญา มีความรู้มากนี่ ใช้ปัญญาเลย ดูจิตเลย นี่ ว่ากันไป ...มันไม่ใช่ ...เขาเรียกว่าข้ามขั้นตอน...มันข้ามขั้นตอน 

ในขันธ์ทั้งห้านี่ ...อะไรหยาบที่สุด


โยม –  กาย

พระอาจารย์ –  เออ แล้วเรารู้กายรึยัง ...ถ้ายังรู้กายไม่ได้ ถามไอ้พวกที่ชอบดูจิตเป็นอาจิณนี่ รู้กายรึยัง ที่ว่ากายนี่หยาบๆ นี่ รู้กายได้ตลอดรึยัง รู้กายได้โดยทั่วรึยัง

ถ้าตอบ มันก็จะตอบได้ว่ายังรู้ไม่ทั่วหรอก ยังรู้ไม่ตลอดเลย ยังรู้ไม่ต่อเนื่องเลย ...แสดงว่าอะไร แสดงว่าปัญญาขั้นหยาบๆ นี่มันยังไม่เกิดเลย...กับขันธ์ที่หยาบที่สุดเนี่ย

ถ้าปัญญาขั้นหยาบที่สุดกับขันธ์ที่หยาบที่สุด ยังไม่เกิด ยังไม่ได้ แล้วยังไม่ฝึกเลย ...จะกระโดดไปเอาปัญญาขั้นละเอียดที่ว่าขันธ์ละเอียดนี่อ่ะนะ

จิตนี่เป็นขันธ์ส่วนละเอียดนะ เวทนาในขันธ์เป็นส่วนละเอียดนะ สัญญาเป็นขันธ์ส่วนละเอียด สังขารเป็นขันธ์ส่วนละเอียด เป็นนามขันธ์ ...มันก็ต้องใช้สมาธิละเอียด มันก็ต้องใช้ปัญญาละเอียด

แต่ถามว่า...สมาธิหยาบ สติหยาบ ปัญญาหยาบๆ กับกายกับขันธ์หยาบๆ มันยังไม่เกิด ยังไม่ได้ ยังไม่ทำเลย เนี่ย เหมือนกับอยู่ระดับเตรียมอนุบาลน่ะ เป็นแค่เนอร์สเซอรี่ แล้วจะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างนี้ 

มันเป็นไปไม่ได้ ...มันคนละภูมิธรรม มันคนละภูมิความรู้ มันคนละปัญญาเลย ...ขันธ์หยาบ ขันธ์ต้นนี่ ขันธ์ที่จับต้องได้อย่างชัดเจนนี่ กลับละเลย กลับไม่สร้างภูมิปัญญาขั้นหยาบๆ สมาธิหยาบๆ

พอพูดว่าหยาบๆ นี่ก็ดูถูกแล้ว สมาธิหยาบๆ ปัญญาหยาบๆ "โอ้ย ไม่เอา" ...ดูถูก ดูถูกศีลนะ ดูถูกสมาธิขั้นต้นนะ ... แต่ทุกอย่างนี่มันจะต้องปูพื้นมาหมด ตาม step ...มันเป็น step ไปเลย 

เพราะนั้นสัมมาสมาธินี่ จะเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้เลย ถ้าไปดูที่ฐานอื่น


โยม –  เราก็ต้องเข้าใจเวทนาก่อนค่อยไปจิตหรือ ...หมายถึงเวทนากาย

พระอาจารย์ –  ใช่ เพราะเวทนากายนี่ เป็นเวทนาตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ล่วงเกินไม่ได้ ละไม่ได้ ดับไม่ได้ ...แต่เวทนาจิตน่ะเป็นสิ่งที่ไม่จริง เพราะมันเป็นเวทนาใน "เรา"


โยม –  พอมันถอนกาย ถอนเวทนากายแล้ว มันก็จะ

พระอาจารย์ –  มันไม่มี "เรา" ก็จะไม่มีเวทนาในเรา ... แต่เวทนากายมี แล้วเวทนาในกายไม่มีคำว่าดับ ...หมายความว่ามันจะดับต่อเมื่อไม่มีกาย


โยม –  แต่มันจะดับความเป็นเราเท่านั้นเอง

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  ก็เลยไม่ไปยุ่งกับมัน

พระอาจารย์ –  มันจะเจ็บไปจนตายเลย บอกให้เลย แล้วมันจะหมดไปพร้อมกับกายนี่ที่แตก ...เพราะนั้นอย่าคิดอย่าฝันว่าจะดับเวทนากายได้นะ  อย่าคิดอย่าฝันว่าจะเหนือเวทนาโดยที่ว่าไม่เข้าไปข้องแวะ 

มันจะมีตลอดจนกว่าลมหายใจสุดท้ายขาดปุ๊บ นั่น เวทนาดับพั้บ...พร้อมกันเลย


โยม –  ตอนโยมเดินจงกรมเยอะๆ โยมก็คิดถึงที่พระอาจารย์สอนน่ะค่ะ  ว่าถ้าเราทำเหตุแห่งการปวด มันก็ต้องปวด มันก็เลยกลางขึ้น มันก็เลยดูกลางๆ ขึ้น

พระอาจารย์ –  อือ คือทุกข์ประจำขันธ์ เดินมากก็ปวดมาก ไม่เดินมันก็ไม่ปวด นี่คือการประกอบเหตุ 

แต่ในลักษณะที่หยุดประกอบเหตุแล้ว ...เหตุปัจจัยของกรรมและวิบากมันไม่หยุด มันก็ดำเนินของมัน ...จะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม มันก็ดำเนินของมันไป มันก็สะสมเวทนาไปทีละเล็กทีละน้อย เวทนาในกายน่ะ

คือธาตุไฟนี่ มันเป็นธาตุที่เผาผลาญ เผาขันธ์ เผากาย มันจะเผาอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีลมนี่เข้าไป เหมือนออกซิเจนนี่ ให้พลังงานความร้อนนี่กระจายไปทั่วอยู่ 

คือตัวความร้อนนี่คือตัวที่เผาผลาญ เผาผลาญขันธ์อยู่ภายในด้วยตัวของมันเอง ไม่หยุด ...เพราะนั้นระหว่างที่มันเผาผลาญขันธ์นี่ มันจะสะสมเวทนาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ 

เมื่อมันถึงวาระเกิดวิปริตผิดสำแดง เช่น กรรมหรือวิบาก หรือว่าการประกอบเหตุภายนอก การกิน การอยู่ มันทำให้สมดุลของดินน้ำไฟลมนี่ มันผิดสมดุล

ธาตุไฟธาตุอะไรมันแรงขึ้น เผาผลาญเร็วขึ้น เวทนาก็จะจู่โจมขึ้นมาแบบชัดเจนขึ้นมา แต่พอมันปรับสมดุลได้ มันก็ดูเหมือนไม่มีอะไร เป็นลักษณะที่เวทนาเฉยๆ ในกาย 

แต่จริงๆ มันก็มีเวทนาที่สะสมอยู่ สะสมๆ ไป ...จนกว่าวาระสุดท้ายนี่ ธาตุทั้งหลายนี่มันจะไม่สมดุลเลย


โยม –  จวนจะแตก

พระอาจารย์ –  เตรียม ...เพราะเวลามันไม่สมดุลอย่างมากปุ๊บนี่ มันผิดส่วน...มันผิดส่วนไปหมดเลย 

คือมันหมดกำลัง หมดกำลังของวิบากที่มันส่งกำลังให้เกิดความสมดุลในการต่ออายุขันธ์ ...มันก็จะเริ่มมีเวทนาสำแดงขึ้นอย่างมากมาย


โยม –  แล้วอย่างคนที่อยู่โรงพยาบาล แล้วนอนให้น้ำเกลือน็อคอยู่อย่างนั้น เขาก็ทรมาน

พระอาจารย์ –  ก็ทรมาน


โยม –  แล้วเขาไม่ร้องไม่อะไร

พระอาจารย์ –  ก็ด้วยฤทธิ์ยาบ้าง มันไปข่มด้วย มึน ซึม พวกนี้ สิ้นสติสมประดี หรือโคม่าอะไรพวกนี้ มันก็เรียกว่าไม่รับรู้กับระบบประสาท ที่ว่าตายแบบครึ่งผีครึ่งคนน่ะ ตายหลง เรียกว่าเป็นกรรมอย่างนึง

หรือบางคนก็ไม่อยากทนกับเวทนาก็ฉีดมอร์ฟีน สบาย ...หนี เรียกว่าหนีเวทนา แต่ว่าถ้าไม่แก้ไม่หนี มันก็จะมีเวทนารุกเร้าโหมรุมอยู่อย่างนี้ ...ก็อดทนดูมันไป

พอถึงวาระสุดท้ายนี่ วาระสุดท้ายที่ทุกอย่างจะดับพร้อมกัน ...ถึงตรงนั้นน่ะจะรู้ การออกจากขันธ์ การดับขันธ์โดยสมบูรณ์  

ถ้ามันเห็น ถ้ามันเข้าถึงตรงจุดนั้นน่ะ เขาเรียกว่า จากที่มันเคยหนักเท่าขุนเขา ก็จะเบาเท่าขนนก จริงๆ


โยม –  โยมเห็นอยู่ตอนที่มันแยกออกมา รู้สึกว่า...เมื่อก่อนคือให้รู้สึกชัดๆ นี่ กายมันจะหนัก แต่ถ้าถอนออกมานี่ มันจะอยู่ห่างๆ แล้วก็ตอนนี้รู้สึกไม่แบกขันธ์อยู่ค่ะ

พระอาจารย์ –  เรียนรู้ไป ฝึกไปเรื่อยๆ กับเวทนาเหล่านี้ เล็กๆ น้อยๆ ...แล้วถึงวาระสุดท้ายนี่ มันก็จะคล้ายๆ อย่างนั้น  ถ้าอย่างนั้นน่ะ ก็ไม่ไปในทางที่มันต่ำ

หลุดพ้นได้ก็หลุดพ้นได้เลย ...ถ้าสมบูรณ์แล้วถ้ามันมีความเห็นพ้องต้องกัน โดยที่ไม่ติดขัดค้างคาในความที่...แม้แต่แว้บนึงที่ยังเสียดายอาลัยขันธ์น่ะ

มันจะไม่เสียดายอาลัยขันธ์เลยนะ ...ถ้ามันเกิดความเห็นโดยพอดีๆ แล้วก็อดทนไปเรื่อยๆ แม้จะเป็นเราๆ ...แต่พอถึงจุดที่มันจะขาดจากกัน แล้วมันเห็นสภาพที่เหมือนขนนก 

แล้วไม่เอะอะ ไม่ลังเลสงสัย ไม่กังวล ไม่อาวรณ์ ไม่คิดว่าข้างหน้าจะไปไหนดี พวกนี้ มันจะไปสู่ความไม่มี ไม่มีอะไร ...ถ้าได้พอดีในระดับตรงนั้น ก็เรียกว่าความบังเกิดสืบเนื่องก็ขาด ...ปัจจยาการแห่งการเกิด

แต่ถ้าจะทำได้ถึงขนาดนั้น ... ระหว่างนี้...ระหว่างมีชีวิตนี่ ต้องอยู่ในฐานนี้ตลอด...ฝึก ไม่ว่ากายมันจะรุนแรง ทรมาน อย่างไรก็ตาม อยู่ในฐานนี้เป็นหลักๆ


(ต่อแทร็ก 14/2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น