วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 14/4 (2)


พระอาจารย์
14/4 (570407D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 เมษายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 14/4 ช่วง 1

โยม –  อันนี้โยมก็ยังไม่แน่ใจ เพราะอย่างพระพุทธเจ้าท่านบวชท่านก็ไม่ได้ต้องเป็นอะไรเลยนี่คะ

พระอาจารย์ –  ทศบารมี ทศชาติ สิบชาติสุดท้าย...ไปดู ทุกข์หรือไม่ทุกข์น่ะ ไปดูเอาแล้วกัน ...แล้วก็มารวมเอาทุกขเวทนาขั้นทุกรกิริยา ๔๙ วัน ...ทุกข์มั้ยนั่น 

ทุกข์เกินกว่ามนุษย์จะทนได้นะ ไม่มีใครในสามโลกนี่จะทนได้เท่าพระพุทธเจ้าตรงนั้นเลยนะ เกินกว่ามนุษย์จะทานทน ...นั่นแหละ ไปหมดตรงนั้นแหละ อกุศลกรรม

แล้วก็ไปเจอทุกข์ขั้นสุดท้ายจริงๆ ตอนนั่งอยู่ใต้ร่มไม้โพธิ์ ...เห็นพระปางสะดุ้งมารมั้ย  ทำไมท่านถึงเรียกว่าสะดุ้งมาร เห็นมั้ย ที่ว่านางตัณหา นางราคะ นางอรดี มาร่ายรำล่อหลอก 

นั่นแหละจิตกระหวัด หวน ถึงลูกเมียทรัพย์สมบัติ ความเป็นมหาจักรพรรดิ ...ในระหว่างนั้นน่ะ จะคลายออกจากความเพียร ยกมือออกจากท่านั่งสมาธิแล้ว วางมือจะลุกขึ้นนะนั่นน่ะ

แต่ด้วยอำนาจของสติสมาธิ และโพธิญาณนี่ แล้วก็สัจจาธิษฐานอันสูง...จะนั่งจนเลือดเนื้อเหือดแห้งหายไป ก็จะไม่ลุกไม่ถอนจากบัลลังก์นี้ ...ตรงนั้นน่ะทุกข์ขั้นสุดท้าย มันตีแบบสุดๆ

พอกลับมาอยู่ตรงนี้ปุ๊บ จิตรวมเป็นหนึ่งขึ้นมาตั้งมั่นเลย ...ท่านเปรียบเทียบเหมือนแม่พระธรณีมาบีบมวยผม ล้มล้าง ทุกอย่างกระจัดกระจายหมด 

ทำไมเป็นแม่พระธรณีให้น้ำมาท่วมเหมือนกับท่วมแผ่นดินเลยน่ะ ...นั่นน่ะคือพลังของศีล ลบหมดเลย ลบล้างหมดเลย ด้วยอำนาจความตั้งมั่นอยู่กับศีล...อยู่กับกายปัจจุบัน

เพราะนั้นเวลาที่ท่านทำการเขียนมานี่ ท่านเขียนเป็นธัมมาธิษฐาน แต่งมาเป็นธัมมาธิษฐาน เป็นบุคคลาธิษฐานในจิต ...ในจิตจะเป็นลักษณะคล้ายอย่างนั้น 

ท่านก็เปรียบเปรยเป็นอุปมาอุปไมย ว่ามีพญามารขี่ช้างนำทัพมา ว่าอย่างนั้นใช่มั้ย ...พญามารคืออะไร  สังขารมาร เทวบุตร ปุญญาภิสังขารมาร อภิปุญญาภิสังขารมาร ขันธมาร ...เนี่ย คือพญามาร


โยม –  แต่มารจริงๆ ก็มีใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  (หัวเราะ) ไม่มีหรอก

โยม –  ไม่มีเหรอคะ ที่เป็นมารจากข้างนอก

พระอาจารย์ –  ไม่มีหรอก ...เข้าใจคำว่าเทวบุตรมารมั้ย นิมิตน่ะ

เพราะนั้นผู้ที่จะทำลายศาสนาได้ก็มีอยู่ ๔ เหล่านั่นแหละ คือ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี  นั่นแหละมาร (หัวเราะ) ...ไม่มีใครทำลายศาสนา มรรคผลนิพพานได้ นอกจากคนกันเองนี่แหละ

ปฏิบัติแบบคลาดเคลื่อน ...คลาดเคลื่อนแล้วยังไม่พอ ยังไปสอนให้คนอื่นคลาดเคลื่อนกันเยอะๆ อีก  

มรรคก็กระจายออก ศีลก็คลาดเคลื่อน สมาธิก็คลาดเคลื่อน นิพพานก็คลาดเคลื่อน ผลแห่งการปฏิบัติก็คลาดเคลื่อนหมดน่ะ


โยม –  มันก็ต้องมีเหตุปัจจัยของคนที่มารับเหล่านั้นด้วยไม่ใช่หรือคะ เพียงแต่ว่ามันก็คล้ายๆ เชื้อไวรัสที่มันจะใช้ต่อได้ ...แต่คนที่มารับผิดๆ ได้ เขาก็ต้องมีเชื้อแบบนี้มาก่อน

พระอาจารย์ –  เคยทำกรรมร่วมกันมา แล้วก็โง่ ...คนนี่ยิ่งเกิดมามากขึ้น ยิ่งเกิดนานขึ้นในโลกนี่ ยิ่งโง่มากขึ้น นี่แหละคือจุดที่เรียกว่าเป็นความเสื่อมของศาสนา 

ที่ท่านว่า...หลังกึ่งพุทธกาลไป จะมีผู้กล่าวตู่พระธรรมนี่มาก ...เข้าใจคำว่ากล่าวตู่พระธรรมมั้ย ก็คือกล่าวโดยอ้างธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ ว่าเป็นมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วจริงๆ 

เหล่านี้คือการล่อหลอกให้คนเชื่อ โดยที่ไม่เข้าใจถึงว่าเป็นแค่คำกล่าวอ้างตู่ธรรม ...แต่โดยอรรถโดยความเป็นจริงไม่ใช่ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ อย่างนั้น...ในความหมายที่แท้จริงของท่าน 

ท่านจึงเรียกว่าเป็นการกล่าวตู่พระธรรม ...แล้วพวกเราน่ะ เป็นผู้ไม่มีปัญญาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว มันก็เหมือนกับกระโถนน่ะไว้รองรับ อะไรกูก็เอาหมดน่ะ เลือกไม่ได้ ...ก็เชื่อ

แต่บอกแล้ว ทุกอย่างมันก็เป็นเหตุปัจจัย ...ถ้ามีความมุ่งหวังต่อนิพพานเป็นหลักแล้วนี่ ไม่ต้องกลัว ทำไปเถอะ มันคัดกรองเองแหละ


โยม –  แล้วทำไมเวลามีคนมากราบพระอาจารย์ พระอาจารย์ไม่บอกตรงๆ ว่าเขาภาวนาผิด

พระอาจารย์ –  ก็บอกอย่างนี้ มันไม่รู้ มันก็เอาหัวไปมุดโถส้วมตายซะ


โยม –  เขายังเข้าใจว่าพระอาจารย์สอนเหมือนกันอยู่เลย

พระอาจารย์ –  ก็แล้วแต่เขาจะเข้าใจกัน ...จริงๆ ก็เหมือน ไม่ใช่ไม่เหมือนใคร ก็หลักของสติปัฏฐานเหมือนกันน่ะแหละ


โยม – โอ้ยไม่เหมือน ไม่เหมือนน่ะ ...ฐานไม่เหมือน จุดสตาร์ทมันไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์ – (หัวเราะ) คัดกรองเอาเอง ให้คัดกรอง  ครูบาอาจารย์ท่านจะสอนยังไง จะอธิบายยังไง พิจารณาให้ถี่ถ้วน เอาไปทำ แล้วมันก็จะรู้เอง นะ ... อย่าไปเอาว่าถูกว่าผิด 

เอาตัวเข้าไปพิสูจน์ทราบ แล้วมันก็จะค่อยๆ คัดกรองธรรม เฟ้นธรรมอยู่ภายใน ...แล้วก็จะเข้าใจว่า จริงๆ ท่านก็ไม่ได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการสอน 

แต่ว่าคนฟังหรือว่าคนปฏิบัติ บางทีก็ไปจับเนื้อถ้อยกระทงความ หรือโดยอุปนิสัยอุปวาสนาขององค์ท่าน อาจจะเน้นอาจจะพูดแต่ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งอย่างเดียวโดยมองข้ามไป


โยม –  บางทีโยมก็ฟังท่าน ว่าคือท่านก็มีส่วนที่ฟังแล้วถูก แต่ว่าก็เป็นที่พื้นฐานนั่นแหละค่ะ ที่ไม่เหมือน ...ก็โอ เค ถ้าพื้นฐานได้แล้วมันก็จะไปเห็นอย่างที่ท่านสอนนั่นแหละ แต่ว่าไอ้จุดเริ่มต้นน่ะที่มันไม่เหมือน

พระอาจารย์ –  อือ ก็ถึงบอกว่าฟังให้ดีแล้วเกิดปัญญา...ฟังด้วยดีจึงจะเกิดปัญญา...สุสฺสูสัง ลภเต ปัญญัง แค่นั้นเอง ...เพราะนั้นเมื่อมันเฉลียวใจ ฉุกใจได้ มันก็ไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก 

ก็ให้เห็นว่ามันขาดตรงไหน บกพร่องตรงไหน แล้วมันไม่ตรงกับสภาพจิตสภาพธรรมของเราตรงไหน ...ก็ปรับตรงนั้นเอา แล้วมันก็จะเกิดความน้อมในธรรมเดียวกัน ถึงธรรมเดียวกันไป

อย่าออกนอกศีลสมาธิปัญญา นั่นน่ะคือกรอบของมรรค แค่นั้นเอง...เป็นหัวใจของการปฏิบัติ อย่าออกนอก 

จะต้องถามตัวเองให้ได้ตั้งแต่ปัจจุบันทุกปัจจุบันเลยว่า... เดี๋ยวนี้ศีลอยู่ไหน มีศีลไหม  เดี๋ยวนี้ยังมีสมาธิอยู่มั้ย เดี๋ยวนี้ยังมีปัญญาอยู่มั้ย

ถ้ามันไม่มีสักตัวใดตัวหนึ่ง...ให้รู้ว่าผิด  ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่ง ยังไม่มีอีกสองตัว...แปลว่ายังไม่สมบูรณ์ แค่นั้นเอง ...แล้วไอ้ตัวที่จะต้องยืนพื้นที่ต้องมีตลอดเวลาเลยคือตัวศีล


โยม – นั่นแหละ ไอ้ตัวนั้นเป็นส่วนที่คนไม่เห็น เห็นไม่ได้ เพราะว่าดำเนินจิตมาด้วยการออกนอกมาตลอด ก็ไม่รู้ตัว ซึ่งพอภาวนาแบบท่านพระอาจารย์ที่ท่านสอน ก็เลยทำให้ไม่เห็น

พระอาจารย์ –  เมื่อละเลยความสำคัญขององค์ศีลไป มันก็เลยทำให้ออกนอกมรรคโดยไม่รู้ตัว ...ออกนอกกาย  จิตส่งออก...ซึ่งเป็นสมุทัยล้วนๆ ...แล้วก็ไปดำเนินอยู่ในเหตุแห่งสมุทัย 

คือไปอาศัยจิตเป็นรากฐาน ทั้งๆ ที่ว่าตัวจิตน่ะคือตัวสมุทัย เข้าใจมั้ย  เพราะนั้นมันจึงไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สมุทัยท่านให้ละ ไม่ใช่ให้ดู เข้าใจมั้ย 

มันก็เลยเกิดความคลาดเคลื่อนตรงนี้ ...เห็นมั้ย เพราะรากฐานของศีลไม่มี ไม่เกิด ...มันจะไม่เห็นเลยว่าอะไรเป็นสมุทัย

แต่ถ้าเรารู้เราเข้าใจ ก็เอาแต่ส่วนของเราเข้าใจน่ะ ...ไม่ต้องไปพูด ไม่ต้องไปเถียงกับใคร ทำตัวเองให้หลุดพ้นก่อน ทำตัวเองให้แจ้งในศีลสมาธิปัญญาจริงๆ ให้ได้ก่อน ...อย่าไปเยิ่นเย้อ อย่าไปเสียเวลากับบุคคลภายนอก


โยม –  โยมพูดไปเขาก็ไม่เชื่อโยม

พระอาจารย์ –  ก็ดีแล้ว ก็ไม่ต้องไปพูด ... เราถึงบอกว่า ถ้าต่ำกว่าพระอรหันต์ลงมานี่ อย่าสอน อย่าสอนคน ฟังอย่างเดียว เหมือนโง่ เหมือนไม่รู้อะไร 

เพราะมันไม่ใช่ว่าธรรมนี่ การอธิบายธรรม หรือการสั่งสอนธรรมผู้อื่นนี่ จะเป็นสิ่งที่เป็นสาธารณะนะ 

ธรรมนี่เป็นสาธารณะ มรรคนี่เป็นสาธารณะ ...แต่ผู้สอนนี่ไม่สามารถเอาเป็นสาธารณะได้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งธรรมจริงๆ บอกให้เลย

เพราะนั้นโอกาสผิดพลาดคลาดเคลื่อนนี่สูงมาก สูงมากที่จะทำให้เกิดคนได้ยิน ตีความเข้าใจนี่ผิด ไม่ตรง ...ขนาดออกจากปากเราเองแท้ๆ บอกให้เลย ยังเข้าใจไม่ตรงได้เลย


โยม –  มันขึ้นอยู่กับจิตเขา

พระอาจารย์ –  เออ ...เราถึงบอกว่ามันเป็นสิ่งที่อันตรายน่ะ สำหรับคนที่ไม่เข้าใจจริงๆ ...แล้วยิ่งไปพูด หรือไปตีความกัน แล้วสอนต่อๆ กันนี่ ...มันเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณนะ 

เว้นเสียแต่ว่ามันเป็นคนที่สนิทชิดเชื้อจริงๆ หรือว่าเป็นคนที่มีสานสัมพันธ์ในอดีตในความแนบแน่นกัน อะไรอย่างนี้ ก็พอแนะนำตักเตือน ชี้แนะ ให้เข้าหลักเข้าฐานพอ เท่านั้นเอง


โยม –  อย่างโยมน่ะเจ้าค่ะพระอาจารย์ โยมทำเพจธรรมะ มีคนตามอยู่เป็นแสน ก็คือโยมก็พยายามพูดหลักน่ะเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  พูดให้น้อย


โยม – แต่จริงๆ โยมรู้สึกเหมือนสอนโยมมากกว่านะ คือใครไปได้ โยมรู้สึกว่ามันก็ขึ้นอยู่กับจิตของเขา แต่ว่าโยมก็เหมือน เออ สอนตัวเองไปด้วย คือโยมรู้สึกว่าคนอื่นอ่านอย่างอื่นน่ะ มันก็ไม่มีสาระ อย่างน้อยอ่านธรรมเขาก็ยังน้อมกลับเข้าไป แล้วก็ระลึก เห็นแล้วก็เป็นสติเตือนเขา

พระอาจารย์ –  (ตอบในส่วนที่โยมขอธรรมไปแชร์ในเฟสบุ๊คด้วย)

...ไม่จำเป็นต้องเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อ มีแต่ธรรม ไม่ต้องเอาบุคคลมาเป็นที่ตั้ง ...เอาเนื้อธรรมเป็นที่ตั้ง เอาความหมายในธรรม เอาความชัดเจนในธรรมเป็นที่ตั้ง นั่นแหละ ดีกว่ามั้ย

เพราะนั้นน่ะ การเป็นบุคคลนี่มันเป็นแค่สมมุติขึ้นมาเท่านั้น สมมุติเอา พอให้เป็นสมมุติได้ว่าเป็นคน เป็นพระ ชื่อนั้นชื่อนี้ ...แต่ไม่ใช่หลัก 

หลักใหญ่ใจความคือเนื้อธรรม ภาษาธรรม การแจกแจงธรรม การสาธยายธรรม...ที่มันเป็นธรรมที่เรียกว่าองค์มรรคโดยตรง แค่นั้นเองคือหลัก

เพราะนั้นชื่อเสียงเรียงนามก็เก็บไว้ใต้หีบใต้พรมซะ แค่นั้นเอง ... นั่นมันก็เป็นตัวคัดกรอง คัดกรองผู้คนที่มุ่งต่อธรรมโดยตรง ไม่พุ่งเอาบุคคลในธรรม

เพราะนั้นเราจึงมีแต่ว่ามาฟังกัน สอนหลัก ให้หลัก แล้วไปปฏิบัติให้อยู่ในหลัก แค่นั้นเอง คือหัวใจของการปฏิบัติ ...ไม่ขึ้นกับรูปแบบ ไม่เลือกรูปแบบ

เพราะว่า กายมันจะปรากฏยังไง นั่นน่ะคือรูปแบบของกายตรงนั้นน่ะ ไม่เลือกรูปแบบ ...มันจะปรากฏอย่างไร รู้สึกอย่างไร ไม่เลือกรูปแบบของกายที่ปรากฏ คือทุกลักษณะอาการของกาย 

นี่ ต้องไม่เลือกรูปแบบ ต้องไม่ฟิกซ์ว่ารูปแบบไหนรูปแบบหนึ่ง ...เพราะกายมันไม่มีรูปแบบตายตัว ใช่มั้ย มันดิ้นได้ มันปรากฏตรงไหนชัด...ตรงนั้น มันมีอาการอย่างไรในขณะปัจจุบันนั้น...ก็ตรงนั้น 

มันไม่ต้องไปเอาตรงนู้น หรือว่าเอาที่ผ่านมา...ไม่ใช่  เอาที่เป็นปัจจุบัน...ไม่เลือกรูปแบบในปัจจุบันกาย

เพราะนั้นจดจำหลักให้แม่น...หลักศีลสมาธิปัญญา  แล้วก็คอยทบทวนตัวเองอยู่ตลอดด้วยสติ ว่าเดี๋ยวนี้มันห่างจากศีล หรือมันตั้งอยู่กับศีล


โยม –  ของโยมไม่มีอะไรฝากพิเศษใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ไม่มี ก็เท่าเนี้ย ...ให้ต่อเนื่องที่สุด


โยม –  โยมก็รู้ว่ามันมีเท่านี้ โยมชอบอยากมีพิเศษ

พระอาจารย์ –  ไม่มี ไม่มี something right ไม่มี something wrong มีเท่านี้ แล้วก็ทำเท่านี้ ...ให้อยู่ในความเป็นเท่านี้ให้ได้ด้วยความต่อเนื่อง เท่านี้เอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ไม่มีอะไรน้อยกว่านี้ ...มันพอดีแค่นี้ 

แต่ด้วยจิต เข้าใจมั้ย มันอยาก...เกินตรงนี้


โยม –  น้อยลงแล้วนะคะ เมื่อก่อนความอยากรู้ยิ่งกว่านี้อีก

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ คอยตบหัวมันไว้ ...เนี่ย เขาเรียกว่าคลาย ไม่ให้กำลังกับมัน


(ต่อแทร็ก 14/5)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น